ปัญญาประเสริฐกว่าธรรมทั้งหลายอื่น เพราะว่าสามารถจะดึงเอามาซึ่งธรรมทั้งหลายที่ต้องการนั้น อยากจะมีศีลก็เอามาให้ได้ อยากจะมีสมาธิก็เอามาให้ได้ อยากจะมีปัญญาก็เอามาให้ได้ เพราะเป็นตัวปัญญาอยู่แล้ว อยากจะมี มรรค ผล นิพพานก็เอามาให้ได้ เพราะฉะนั้น จึงถือว่า ปัญญานี้ประเสริฐกว่าธรรมทั้งหลาย เราก็เลย เอาปัญญานี้มาเป็นเครื่องมือรักษาศีล เป็นเครื่องดึงเอามาซึ่งศีล รวบรวมเอามาซึ่งศีล ก็มีศีลได้โดยปัญญานั้น โดยที่ไม่ต้องรักษาศีลก็มีศีลได้ เพราะอำนาจของปัญญานั้น จะเรียกว่าศีลปัญญาก็ได้
ถ้าว่า ศีลใดเป็นไปเพื่อความต้องการของกิเลส หรือว่าอยู่ในโลก หรือเวียนว่ายไปในวัฏฏะ อย่างนี้ไม่ใช่ปัญญา ถ้ามีปัญญามันไม่ต้องการอย่างนั้น ถ้าต้องการอย่างนั้นก็ไม่ใช่ศีลที่บริสุทธิ์ เบ็นศีลของกิเลสอยู่เรื่อยไป เขาเรียกว่า โลกียศีล ศีลเพื่อให้ได้สวรรค์ ศีลเพื่อให้ได้ชื่อเสียง ศีลเพื่อให้ได้ความเคารพนับถือ อย่างนี้เป็นโลกียศีลหมด เพราะเวียนอยู่ในโลก วนเวียนอยู่ในโลก แล้วมีเจตนานั่นแหละเป็นหลัก
โลกียศีลนั้นต้องพึ่งเจตนาเบ็นหลัก ส่วนโลกุตตรศีล ก็พึ่ง ปัญญาเป็นหลัก ทิ้งเจตนาเสียเลยก็ได้ เอาปัญญาหรือเอาความว่างมาเป็นหลัก จึงเรียกว่าศีลนี้อยู่เหนือเจตนา ศีลธรรมดา อยู่ได้ด้วยเจตนา อยู่ใต้อำนาจของเจตนาเรียกว่า โลกียศีล ส่วนศีลสูงสุดเป็นไปตามอำนาจของปัญญา ไม่เพ่งเล็งถึงเจตนา เพราะว่าอยู่เหนือเจตนา ถ้ามีสุญญตาคือความว่างจากความยึดมั่นถือมันแล้วก็เป็นศีลสมบูรณ์อยู่ในตัว มีทุกข้อของทุกศีลเลย
โอสาเรตัพพธรรม (น.๙๕)
ธรรมโฆษณ์ : พุทธทาสภิกขุ