อตัมมยตา ก็คือธรรมะที่เป็นตัวความรู้ ที่ทำให้อยากจะออกไปจากกองทุกข์ แล้วก็รู้จนออกไปจากกองทุกข์ กิริยาที่ออกไปจากกองทุกข์ก็เป็นอตัมมยตา ออกไปได้แล้วก็ยังมีความรู้สึกของอตัมมยตา เพราะฉะนั้นจึงขอยืนยันว่า อตัมมยตามีความงามทั้งในเบื้องต้น มีความงามทั้งในท่ามกลาง มีความงามทั้งเบื้องปลาย
คือก่อนแต่รู้ ยังไม่รู้ก็ทำให้รู้ พอรู้ก็กระโดดออกไปได้ นี่ท่ามกลาง พอออกไปได้แล้วเป็นเบื้องปลาย แล้วก็ยังเห็นอตัมมยตา ว่าอยู่กับมันไม่ได้ หลุดพันออกไปจากกองทุกข์แล้ว ก็ยังเห็นอยู่ว่า ความทุกข์นี้ไม่ไหวอยู่กับมันไม่ได้ ถึงจะไม่อิดหนาระอาใจเกลียดชังอีกต่อไป ก็เรียกว่าอยู่กับมันไม่ได้ รู้สึกว่าอยู่กับมันไม่ได้ พ้นจากความทุกข์ ไม่มีปัญหาเรื่องความทุกข์แล้ว ก็ยังเห็นว่าความทุกข์นี้เป็นสิ่งที่อยู่กับมันไม่ได้ อาศัยมันไม่ได้ เกี่ยวข้องผูกพันกับมันไม่ได้ อตัมมยตามีความงามในขั้นสุดยอดอย่างนี้
เห็นไหมมีความงามทั้งเบื้องต้นที่จะผลักให้ออกไป, มีความงามตรงกลางคือกระโดดออกไป มีความงามอันสุดท้าย คือกระโดดแล้วก็ยังมองเห็นอยู่ นี่มันเป็นความงาม อาทิกัลยาณัง มัชเฌกัลยาณัง ปริโยสานกัลยาณัง ถึงที่สุด นี่อตัมมยตามีความหมายอย่างนี้
อตัมมยตาประยุกต์ (น.๑๙)
ธรรมโฆษณ์ : พุทธทาสภิกขุ