การทำงานคือการปฏิบัติธรรม
ถ้ามองให้ลึกลงไปสักนิดหนึ่งว่า การทำงานนั้นคือการปฏิบัติธรรม ไม่ว่าจะเป็นการทำงานอะไร, ระดับไหน, ถ้าเป็นการงานที่บริสุทธิ์แล้ว เป็นการปฏิบัติธรรมอยู่ในตัวการงานนั้น : ไม่ต้องมาทำที่วัดก็ได้ ทำการงานอยู่ที่ไหน โดยบริสุทธิ์ใจ เบ็นการงานตามความหมายที่ถูกต้อง อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างตันแล้วก็เรียกว่าการปฏิบัติธรรม.
เพราะว่าคนที่จะทำการงานนั้นต้องประกอบอยู่ด้วยธรรม อยู่ด้วยบทของพระธรรม เช่นว่าจะมี ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ที่เรียกว่า อิทธิบาท นี้ มันต้องมี และมีได้แม้โดยไม่รู้สึกตัว :
คนที่มีเขาย่อมทำงานด้วยความพอใจ ความขยันขันแข็ง ความเอาใจใส่ ใคร่ครวญอยู่เสมอ นี้เรียกว่าเขาก็มีอิทธิบาททั้งสี่ประการนั้นอยู่โดยไม่รู้สึกตัว เรียกว่ามีธรรมะหรือปฏิบัติธรรมะอยู่โดยไม่รู้สึกตัว แม้คุณธรรมอย่างอื่นก็ยังมีอีก :
ต้องมี สัจจะ -ความจริงใจ
มีทมะ - การบังคับตัวเอง
ต้องมี สติสัมปชัญญะ - ความสุขุมรอบคอบไม่สะเพร่า
ต้องมี อธิษฐาน คือความตั้งใจแน่วแน่ว่า ไม่ประสบความสำเร็จแล้วก็ไม่เลิกจากการงาน
มีธรรมะซึ่งเป็นบารมีของพระพุทธเจ้าทุกๆ ประการ ในการทำงานของตนๆ จึงถือว่าการปฏิบัติธรรม ก็คือการทำงาน
พังแล้วก็ไม่น่าเชื่อ สำหรับคนที่ยึดถือในคำพูดเกินไป ก็จะไม่เชื่อว่าการทำงานคือการปฏิบัติธรรม แต่อาตมาก็ไม่ได้พูดไปในทำนองว่าจะให้เชื่อ หรือไม่ให้เชื่อ แต่พูดไปในทำนองว่าให้มองดู ให้มองดูเอาเองว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงหรือหาไม่ ? ให้การงานเป็นการปฏิบัติธรรม แล้วให้มีความสุขอยู่ในตัวการงาน ความหมายเหล่านี้ สรุปได้เป็นคำท่องจำง่ายๆ ว่า
อันการงาน คือคุณค่า ของมนุษย์
ของมีเกียรติ สูงสุด อย่าสงสัย
ถ้าสนุกด้วย การงาน เบิกบานใจ
ไม่เท่าไร ได้รู้ธรรม ฉ่ำซึ้งจริง
เพราะการงาน เป็นตัวการ ประพฤติธรรม
กุศลกรรม กล้ำปนมา มีค่ายิ่ง
ถ้าจะเปรียบ ก็เปรียบคน ฉลาดยิง
นัดเดียววิ่ง เก็บนก หลายพกมา
คือการงาน นั้นต้องทำ ด้วยสติ
มีสมาธิ ขันตี มีอุตสาห์
มีสัจจะ มีทมะ มีปัญญา
มีสัทธา และกล้าหาญ รักงานจริง
นี่ สรุปความหมายของคำว่า การงาน คือการประพฤติธรรม เพราะว่าไม่มีใครที่จะทำงานใดๆ ได้โดยไม่ให้มีธรรมะรวมอยู่ในการทำงาน แต่แล้วคนก็ไม่มองเห็นว่าการงานคือการปฏิบัติธรรม แล้วก็ไม่ชอบการงาน อย่าว่าแต่จะบูชาการงานเลย
อะไรคืออะไร ? (น.67)
ธรรมโฆษณ์ : พุทธทาสภิกขุ