ถ้าเขาถามว่า ปฏิบัติไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นนั้น ปฏิบัติอย่างไร ?
ตอบว่า ปฏิบัติในลักษณะเหมือนกับว่า เมื่อตาเห็นรูป ก็สักว่าได้ดู เมื่อหูได้ฟังเสียง ก็สักว่าได้ยิน เมื่อได้กลิ่น ทางจมูก ก็สักว่าได้ดม เมื่อได้ลิ้มรส ทางลิ้น ก็สักว่าได้ชิม เมื่อได้สัมผัส ทางผิวกายทั่วๆ ไป ก็สักว่าได้กระทบ เมื่ออารมณ์เกิดขึ้นรบกวนในใจ ก็ให้เป็น สักว่าความรู้สึก เพื่อจะเกิดสติสัมปชัญญะ ไม่เป็นไปในทางของกิเลสตัณหา แต่เป็นไปในทางของวิชาความรู้ ไม่ให้เกิดเป็นตัวตน - ของตน ตัวกู - ของกูขึ้นมา
ถ้าเขาถามว่า ให้เรียนที่ไหนกัน? ให้ปฏิบัติที่ไหนกัน?
ก็ว่าในร่างกายอันยาวประมาณวาหนึ่ง พร้อมทั้งสัญญาและใจ นี่แหละ ให้เรียนที่นี่ ให้ศึกษาที่นี่ ส่วนเรื่องสถานที่ภายนอก ครูบาอาจารย์นั้น เป็นเพียงเรื่องประกอบ สำหรับให้รู้เรื่องมาเรียนที่นี่
วิสาขบูชาเทศนา เล่ม ๑ (น.๓๑๓)
ธรรมโฆษณ์ : พุทธทาสภิกขุ