พอใจที่ไหน จะเป็นสุขที่นั่น เมื่อนั้น
ที่ว่า ความสุขแท้จริงไม่ต้องเสียสตางค์ คือความพอใจในการปฏิบัติธรรม แม้ทำหน้าที่การงาน ทำไร่ไถนา ทำสวน ค้าขายอะไรอยู่โดยสุจริต นี่เรียกว่าทำหน้าที่ของมนุษย์อยู่โดยสุจริต เรียกว่าปฏิบัติธรรมะ หน้าที่ของมนุษย์เขาเรียกว่า ธรรมะ ธรรมะ คือหน้าที่ของมนุษย์
ฉะนั้นเมื่อทำหน้าที่ของมนุษย์ ก็คือปฏิบัติธรรมะ ก็พอใจว่าโอ้ได้ปฏิบัติธรรมะ พอใจๆ นี่เป็นธรรมะ ไถนาอยู่ก็ดี ทำสวนอยู่ก็ดี อะไรอยู่ก็ดี เหงื่อไหลอยู่กลางแดดก็ดี นี่คือธรรมะ แล้วก็พอใจ พอพอใจก็เป็นสุข นี้มันเป็นกฎธรรมชาติ
คุณไปดูเอาเอง พอใจที่ไหน จะเป็นสุขที่นั่น เมื่อนั้น ถ้าพอใจในของหลอก ความสุขก็หลอก ถ้าพอใจในของจริง ความสุขนั้นก็จริง. เดี๋ยวนี้มันเป็นความพอใจในของจริง คือหน้าที่ของมนุษย์ตามกฎของธรรมชาติที่ว่า มนุษย์ทุกคน จะต้องพยายามดำรงชีวิตอยู่ให้รอดในขั้นต้น คือไม่ตาย
ครั้นชีวิตรอดไม่ตายอยู่แล้ว ทำให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป บรรลุมรรคผลนิพพาน นั้นเป็นหน้าที่อันดับปลาย หน้าที่อันดับต้น ก็คือให้รอดชีวิตอยู่ได้ หน้าที่อันดับปลาย คือบรรลุมรรคผลนิพพาน นี่เรียกว่าหน้าที่ของมนุษย์ ใครทำหน้าที่ของมนุษย์ คนนั้นเรียกว่าปฏิบัติธรรมะ
ฟ้าสางระหว่าง ๕๐ ที่สวนโมกข์ ตอน ๑
ธรรมโฆษณ์ : พุทธทาสภิกขุ (น.๑๓๔)