จะได้กล่าวถึงคำว่า "สายกลาง" เมื่อพูดว่า "ทางสายกลาง" ท่านทั้งหลายคงรู้สึกว่าเป็นคำที่ชินหูกันอยู่ไม่น้อย เพราะในประเทศอย่างประเทศไทยเรานี้ มีวัฒนธรรมที่เนื่องมาด้วยพระพุทธศาสนา ความหมายของคำๆ นี้ย่อมคุ้นเคยกันมาก อยากจะพูดอะไรก็ว่า "ทำโดยสายกลางนะ อย่าให้ตึงเกินไป หย่อนเกินไป" ก็เอาอย่างมาจากเรื่องของพระพุทธเจ้าที่ว่า แม้ในการทำความเพียรเพื่อตรัสรู้ ท่านก็ถือหลักสายกลาง แต่ด้วยเหตุที่เรามักจะนึกอะไรๆ เร็วเกินไปว่า "เข้าใจๆ" แล้วก็ไม่สนใจ เพราะฉะนั้นคำว่า "สายกลาง" ของเรา มันจึงเป็นไปแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ มันก็ถูกเหมือนกัน ไม่ใช่ผิด มันก็ตั้งต้นไปตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงเรื่องที่ลึกซึ้งที่สุด
อาตมาอยากจะบอกไว้ล่วงหน้าว่า ถ้าจะพูดว่า "เดินทางสายกลาง" อย่างนี้ละก็ ในชั้นลึกสุดนั้นมันหมายถึงกับว่าการที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งปวงหรือโลกทั้งโลกนี้ด้วยจิตที่ไม่ยึดถือ จึงจะชื่อว่าผู้นั้นเดินทางสายกลาง การศึกษาชนิดที่ไม่เลื่อนชั้นตัวเองเป็นของตน ไม่ตกเป็นทาสของสิ่งใดนั่นแหละ เรียกว่าผู้นั้นรู้จักเดินอยู่ในทางสายกลาง ไม่เข้าไปติดนั่น ไม่เข้าไปติดนี่ ทั้งทางซ้ายหรือทางขวา นี่ดูความหมายของคำว่าทางสายกลางในอันดับสูง อันดับสุดท้าย
ธรรมนอกสวนโมกข์ l พุทธทาสภิกขุ (น.65)