เมื่อขาดสติสัมปชัญญะตัวกูจะเข้ามา
นี้จะต้องระวังให้ดี ด้วยข้อปฏิบัติชื่อคำเดียว คือสติ คำนี้ก็อาภัพเหลือแสน ที่คนไม่ค่อยจะให้ความสนใจ หรือการยกย่อง ให้มากพอ พอพูดว่า สติ คำเดียวนี้ มันพอสำหรับบรรลุนิพพาน หรืออะไรทุกอย่าง แต่คนเขาไม่ได้ให้ความสำคัญมันมากถึงเท่านั้น ก็เลยไม่ค่อยได้ใช้กัน ก็ขาดสติอยู่เรื่อย
พอขาดสติ ตัวกูเข้ามา ธรรมะก็กระเด็นไป พอขาดสติทุกที ก็เป็นอย่างนั้นทุกที พอเผลอสติ ก็หมายความว่า ธรรมะฝ่ายที่จะทำอันตรายมนุษย์ ก็มีโอกาส เพราะว่าฝ่ายนั้นมันเป็นไปตามสัญชาตญาณที่เคยชิน และโดยง่ายกว่า เหมือนกับลุ่มไหลไปในทางต่ำ มันง่ายกว่า ส่วนที่มีสติหรือว่ามีธรรมะนี้มันเป็นฝ่ายสูง มันจึงกลิ้งขึ้นไม่ค่อยจะไหว มันจึงมีโอกาสน้อยกว่า ฉะนั้นสิ่งที่จะแก้มันได้ คือสิ่งที่เรียกว่า สติ มีความรู้ถูกต้องทันเวลาอยู่เสมอ
อย่าพูดอย่างที่เขาพูดกันโดยมาก ว่า สติ ความระลึกได้อย่างนี้ ยังไม่สมบูรณ์ คำว่า สติ ต้องเป็นความไม่ประมาท เป็นอัปประมาท หมายถึงมีความรู้ที่ถูกต้องอยู่อย่างสม่ำเสมอไม่ขาดระยะ ถ้าเราพูดว่า ความระลึกได้ มันก็เป็นเรื่องนิดๆ หน่อยๆประเดี๋ยวประด๋าวไป
คำว่า สติ เป็นคำแทนชื่อของคำว่า อัปปมาทะ คือความไม่ประมาท ไม่ประมาท ไม่ใช่เพียงแต่ไม่อวดดี นั้นมันภาษาไทยต่างหาก ประมาทคืออวดดี มทะ คำเดียวกัน มัวเมา ลืมตัว ต้องไม่มัวเมา ต้องไม่ลืมตัว จึงจะเรียกว่าอัปปมาท มัวเมาคือไม่รู้ ถ้ารู้ก็มัวเมาไม่ได้
ฉะนั้น ความจริงเป็นอย่างไร ความถูกต้องเป็นอย่างไร ต้องรู้ แล้วความรู้นั้นอยู่กับเนื้อกับตัวอยู่เสมอ ไม่ใช่ว่ารู้เฉยๆ อยู่ในหนังสือ อยู่ในความที่ต้องคิดต้องนึก ต้องรู้สึกพร้อมทันท่วงทีอยู่เสมอ ยิ่งเราไม่ได้ท่องข้อความเหล่านี้ไว้ แต่มันก็ประหลาดที่ว่า มันชัดเจนแจ่มแจ้ง พร้อมเสมอที่จะแสดงออกมา ฉะนั้นเราจะต้องศึกษาให้มันรู้ว่าอะไรเป็นอะไร เช่น ว่าตัวกู เป็นอะไร ธรรมะเป็นอะไร คนที่มีความรู้จริงๆ มีความรู้นี้อยู่เสมอ ก็เรียกว่ามีสติ
พุทธทาสภิกขุ
ธรรมโฆษณ์ l ธรรมปาฏิโมกข์ เล่ม 2 (น.80)
ธรรมะเข้ามา ตัวกูออกไป ตัวกูเข้ามา ธรรมะออกไป