ที่ท่านตรัสว่า " ใบไม้กำมือเดียว " คือใบไม้หมดทั้งป่า แต่ว่าทรงนำมาสอนเท่ากับใบไม้กำมือเดียว ก็คือเรื่องนี้ คือเรื่องทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางถึงความดับทุกข์
ในที่อื่นพระพุทธเจ้าท่านสรุปเหลือเพียงสองว่า " เมื่อก่อนก็ดี เวลานี้ก็ดี ตถาคตพูดแต่เรื่องทุกข์ กับความดับทุกข์ " มีสองเรื่องเท่านั้น ในเวลาอื่นอีก เมื่อมีผู้ถามว่า เรื่องทั้งหมดนี้สรุปให้เหลือประโยคเดียวที ก็ทรงสรุปว่า " ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น "
เมื่อธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นแล้ว ควรจะเห็นอยู่ว่า ไปยึดมั่นถือมั่นนี้ใช้ไม่ได้ มันไม่ไหว มันจะทำให้เกิดความโง่ คือ อวิชชาขึ้นมาได้ ถ้าไม่ยึดมั่นถือมั่น มันจะไม่เกิดปฏิจจสมุปบาท คือเป็นทุกข์ขึ้นมาได้
ตัวการของความทุกข์มันอยู่ที่มีอุปทานนั้น ไม่มี อวิชชา ก็ไม่มีอุปาทาน ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ก็ไม่มีทุกข์
เพราะฉะนั้นคำสอนประโยคที่สั้นที่สุดก็คือ " ทุกสิ่ง ไม่ควร ยึดมั่น ถือมั่น " เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าขยายเป็น ๒ ก็มีเรื่องทุกข์ กับเรื่องความดับทุกข์
ถ้าขยายเป็น ๔ ก็คือ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางให้เกิดความดับทุกข์
พุทธทาสภิกขุ
ธรรมโฆษณ์ l บรมธรรม ภาคต้น
เรื่องเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า (น.32)