ยิ่งโลภมาก ก็ยิ่งมีความทุกข์มาก
ยิ่งยึดถือมาก มันก็ยิ่งมีความทุกข์มาก
เดี๋ยวนี้มันแสวงหามา เก็บรักษาไว้ บริโภคอยู่ด้วยความยึดถือทั้งนั้น ดังนั้นจึงเป็นความทุกข์ นี้ก็ เป็นปัญหาส่วนตัว แล้วมันก็ ขยายออกไป เป็นปัญหาส่วนของสังคม คือระหว่างบุคคลกับบุคคลเรื่อยออกไป อย่างที่ทะเลาะวิวาทกันอยู่ในระหว่างสังคม หรือว่ารวมกันเป็นหมู่ใหญ่ๆ เป็นประเทศชาติ เป็นค่ายประชาธิปไตย หรือค่ายคอมมูนิสต์ อะไรก็สุดแท้ ก็ล้วนแต่ยื้อแย่ง สิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น เพราะว่าเขาไม่รู้จัก สิ่งที่เรียกว่า "ธรรม" ในที่นี้ ซึ่งเราจะเรียกว่าไกวัลยธรรม คือ ธรรมที่จะเป็นทั้งหมดของทุกสิ่ง ที่จะแก้ปัญหาได้สำหรับมนุษย์
พระศาสดาทรงทราบเรื่องนี้ทั้งหมด แต่ทรงเอามาสอนเฉพาะที่จำเป็น อย่างที่ทรงเปรียบเทียบไว้ด้วยอุปมา ว่ามาสอนนี้เท่ากับใบไม้กำมือเดียว ที่รู้แล้วไม่ได้สอน ไม่ได้เอามาบอกนั้น เท่ากับใบไม้ทั้งหมดที่มีอยู่ทั่วไปในป่า
ธรรมโฆษณ์ l ไกวัลยธรรม l พุทธทาสภิกขุ (น.15)