"พระพุทธเจ้า ท่านสอนกำมือเดียว แล้วปฏิบัติให้ได้กำมือเดียว ก็เรียกว่าได้หมดทั้งป่า"
ใบไม้หมดทั้งป่า ไม่ต้องสนใจก็ได้ ให้สนใจเพียงใบไม้กำมือเดียว จะปฏิบัติอย่างไร ? ก็คือ ให้ควบคุม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่าได้ไปหลงอะไรเข้า เป็นน่ารัก น่าเกลียด เป็นตัวกู - เป็นของกูขึ้นมา ใบไม้กำมือเดียวมีเท่านั้น แล้วก็ปฏิบัติในขณะที่ทำงานกันอยู่นี่ เพราะขณะทำงานมีเรื่องยั่วมาก มีเรื่องยั่วให้โกรธได้มาก พอเหนื่อยขึ้นมา ก็ยั่วให้เกิดโมโหโทโสขึ้นก็ได้ หรือเพื่อนมากระทบกระทั่ง ทำให้เกิดโมโหโทโสขึ้นก็ได้ มีเรื่องที่มากระทบกระทั่ง ทำให้เกิดตัวกู - ของกูนั่นแหละมาก ก็เป็นบทเรียนที่ดี ถ้าไปนอนเสียก็ไม่มีเรื่อง ลองดูก็ได้ ถ้ามาทำอะไรเข้า เดี๋ยวมันก็ ฮื่อๆ แฮ่ๆ กันแล้ว แล้วก็มีอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมา พอเหนื่อยขึ้นมา อารมณ์ก็เป็นไม่ว่างแล้ว มีกูขึ้นมาก็เหมือนระฆังถูกตีแล้ว
ให้พิจารณาดู เสียให้ดีว่าที่เกิดความทุกข์ขึ้นมา ก็ว่าง ที่ดับไปก็คือว่าง เพราะฉะนั้น จึงพูดว่าไม่มีอะไรที่ไม่ว่าง ของที่คู่กัน ตรงกันข้ามกันเป็นสองอย่าง ทั้งสังขตะ อสังขตก็ว่าง เมื่อทั้งสองอย่างว่าง ไม่มีเหลืออะไรทั้งนั้น ความทุกข์ก็ว่าง ความสุขก็ว่าง ความทุกข์กับความสุขก็เป็นของหลอกๆ เหมือนเสียงระฆังเกิด เหมือนเสียงระฆังดับ ส่วนภาวะว่างอันแท้จริง ไม่มีที่สิ้นสุดนี้เป็นอีกอันหนึ่ง ไม่ใช่เสียงระฆังเกิดหรือเสียงระฆังดับ เสียงระฆังเกิดจากความว่าง แล้วก็ดับไปสู่ความว่าง ความว่างเป็นอีกอันหนึ่งจากการเกิดและการดับ
พุทธทาสภิกขุ
ธรรมปาฏิโมกข์เล่ม 1 (น.466 ทำงานด้วยจิตว่าง)