"จงบังคับตัวเองให้ถึงขนาดมาตรฐานเดียวกัน
กับที่ควาญช้างฉลาดบังคับช้างที่ตกน้ำมัน“
คำว่าจิตใจ คำว่าตัวเองนี่แทนกันได้ บังคับจิตก็คือบังคับตัวเอง บังคับตัวเองก็คือบังคับที่จิต คำว่าบังคับตัวเองคือบังคับจิตของตัวเอง ไม่ให้ทำอะไรไปตามการบังคับนั้น ข้อนี้ก็ต้องการการกระทำที่ถึงที่สุดอีกเหมือนกัน
พระพุทธภาษิตก็มีอยู่ชัดว่า "จงบังคับตัวเองให้ถึงขนาดมาตรฐานเดียวกันกับที่ควาญช้างฉลาดบังคับช้างที่ตกน้ำมัน"
คุณต้องฟังคำว่า "ควาญช้างที่ฉลาด" และก็ "ช้างที่ตกน้ำมัน" มันมีความหมายอย่างไร ไม่ใช่ควาญช้างธรรมดา ไม่ใช่ช้างธรรมดา แล้วมันจึงเป็นไอ้ศิลปะหรือว่าเป็นไอ้การกระทำที่มันรุนแรงมาก ก็เปรียบจิตเหมือนช้างตกน้ำมัน ไม่ใช่ช้างธรรมดา เพราะว่าจิตนี้มันเหมือนกับสัตว์ป่า
สัตว์ที่จับมาจากป่าใหม่ๆ เอามาขังไว้เฉยๆ ก็ดูไม่มีพิษสงอะไร แต่พอไปแตะต้อง ไปบังคับ ไปผูก ไปมัด ไปฝึก แล้วก็มันต่อต้านทันที มันก็เลยตึงตังขึ้นมา เป็นอันตรายขึ้นมา จิตจึงถูกเปรียบด้วยช้างที่ตกน้ำมัน ก็มันบ้า มันจะเอาแต่เรื่องของมัน ไม่ฟังเสียงใคร
ฉะนั้นการบังคับนั้นก็ต้องโดยบุคคลที่ฉลาด เมื่อเป็นควาญช้างที่ถึงขนาดมีความรู้ ความสามารถ มีอาวุธ มีเครื่องมืออะไรดี ก็บังคับช้างที่ตกน้ำมันได้
ธรรมะใกล้มือ เรื่องฆราวาสธรรม (น.23)