สปิริตหรือเจตนารมณ์ของสังคมนิยมนี้คือธรรมะของธรรมชาติ ธรรมะของธรรมชาติที่เป็นมาโดยธรรมชาติ ซึ่งเราจะมองเห็นว่า นี้มันเป็นความมุ่งหมายทางสังคมนิยม แต่ว่าโดยไม่รู้สึกตัว มีหลักปฏิบัติซึ่งไม่รู้สึกตัวมาแต่ทีแรก จนกว่าจะรู้สึกตัวคือการที่ไม่เอาส่วนเกิน
ขอให้นึกถึงว่า สิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายนี้ ที่เป็นไปตามธรรมชาติแล้ว มันไม่มีใครเอาส่วนเกิน ก่อนแต่ที่จะมีมนุษย์ขึ้นมามันก็มีสัตว์มีต้นไม้ กระทั่งว่าทีแรกมีสัตว์เซลล์เดียว อย่างหลักวิทยาศาสตร์ก็กล่าวว่า มีสิ่งที่มีชีวิตหลายๆ ระดับ ชีวิตหลายๆ ระดับไม่อาจจะเอาส่วนเกินตามธรรมชาติ หรือทีแรกที่สุด ถ้าว่ามันเป็นสัตว์เซลล์เดียวมันก็กินอาหารเท่าที่มันมีหนึ่งเซลล์ ถ้ามันเป็นหลายเซลล์ประกอบกันเข้า มันก็กินอาหารเท่าที่มีเนื้อที่ในเซลล์นั้นๆ จนกระทั่งมีพืช มีชีวิตที่เป็นพืชขึ้นมา มันก็กินอาหารเท่าที่มันมีเซลล์สำหรับบรรจุ กระทั่งมันเป็นสัตว์ขึ้นมา เป็นปลา เป็นนก เป็นอะไร มันก็กินอาหารเท่าที่กระเพาะมันมี มันไม่มียุ้งไม่มีฉาง ไม่มีที่เก็บ ไม่มีที่กักตุน เพราะฉะนั้นมันจึงเอาส่วนเกินไม่ได้ ดูนกตัวหนึ่งมันจะกินอาหารแค่เต็มกระเพาะ มันจะเอาส่วนเกินไม่ได้ โดยธรรมชาติก็เอาส่วนเกินไม่ได้
เมื่อเป็นคนป่าขึ้นมา มันก็ไม่รู้จักมียุ้งมีฉางสำหรับเก็บตุน มันก็กินเท่าที่กระเพาะอำนวย แล้ววันหนึ่งก็เสร็จไป รุ่งขึ้นก็ไปหาอีก ไม่มีการกักตุน นี้เรียกว่าไม่มีใครเอาส่วนเกิน ปัญหายังไม่เกิด
ทีนี้ถ้าถือตามเรื่องในคัมภีร์ ปัญหาเริ่มเกิดเมื่อมนุษย์อุตริคนหนึ่งมันคิดว่า เราไปเก็บเอาไว้มากๆ ไปเก็บข้าวสาลีในป่าหรืออะไรมาสะสมไว้มากๆ มันก็เกิดการไม่พอ พอตั้งต้นเอาส่วนเกินเท่านั้นแหละ ปัญหามันก็ตั้งต้น แล้วก็มีการเอาส่วนเกินมากขึ้นๆ จนมีหัวหน้าที่จะแสวงหากอบโกยส่วนเกิน จนต้องได้รบพุ่งกันแม้ในหมู่คนป่า ในสมัยที่ว่าเริ่มรู้จักเอาส่วนเกิน เพราะฉะนั้นจึงเกิดกฎหมายเกิดศีลธรรม เกิดอะไรขึ้นมาเพื่อกำจัดกิเลสข้อนี้ นี่ขอให้ไปอ่านดูเรื่องราวเก่าๆ อย่าเห็นว่ามันเป็นนิยายโง่เง่า มันเป็นนิยายที่แสดงข้อเท็จจริงไว้อย่างถูกต้องว่า ปัญหาเริ่มเกิดเมื่อมนุษย์เริ่มรู้จักเอาส่วนเกิน
ธรรมชาติต้องการให้ทุกคนเอาแต่เท่าที่จำเป็น แต่ทีนี้มนุษย์ไม่เชื่อฟังธรรมชาติ ก็เริ่มแข่งกันกอบโกยส่วนเกิน ปัญหาก็เกิดเรื่อยมาจนกระทั่งบัดนี้ อะไรๆ มันก็เป็นเรื่องเกินไปหมด ถ้าเราเอาแต่พอดีปัญหาเหล่านี้ก็จะไม่เกิด การเบียดเบียนก็จะไม่เกิด การเอาเปรียบกันก็จะไม่มี
พุทธทาสภิกขุ
ธัมมิกสังคมนิยม (น.35)