อนิจจังที่แปลว่าไม่เที่ยงคือเปลี่ยนแปลงเสมอ ข้อนี้พอจะเข้าใจได้ไม่ยากนัก ยิ่งมีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์สมัยปัจจุบัน อันกล่าวด้วยสภาพที่แท้จริงของสสาร และกำลังงานด้วยแล้ว ยิ่งช่วยได้มาก คือช่วยให้เข้าใจได้ ช่วยให้เห็นชัดแจ้งได้ ว่าสิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จริงๆ คำสอนข้อนี้ เป็นคำสอนที่สอนกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าด้วยซ้ำ เป็นแต่ไม่ได้ขยายความ ของความไม่เที่ยงให้ลึกซึ้ง เหมือนพระพุทธองค์เท่านั้น
ทุกขังซึ่งแปลว่าดูแล้วสังเวชใจ นี้ก็เหมือนกัน มีการสอนมาแล้วแต่ก่อนพระพุทธเจ้า แต่ไม่ลึกซึ้งถึงที่สุด ไม่ประกอบด้วยเหตุ ด้วยสมุฏฐาน และไม่ชี้วิธีดับที่สมบูรณ์จริงๆ ให้ได้ เพราะยังไม่รู้จักตัวความทุกข์อย่างเพียงพอ เท่ากับการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
ส่วนคำสั่งสอนเรื่อง อนัตตาซึ่งมีความหมายว่าไร้ตัวตนอันแท้จริง นั้น มีสอนแต่ในพุทธศาสนา คือจะสอนเรื่องอนัตตาแต่เฉพาะพระพุทธเจ้า หรือบุคคลประเภทพระพุทธเจ้าเท่านั้น ข้อนี้เป็นเครื่องรับรอง หรือเป็นเครื่องบ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรถึงที่สุดเท่านั้น ที่จะรู้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา เหตุนั้นจึงมีสอนแต่โดยพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นบุคคลที่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ได้ถึงที่สุดเท่านั้น
คำสั่งสอนเรื่องลักษณะ ๓ ประการนี้ มีวิธีที่จะประพฤติปฏิบัติ เพื่อให้เห็นแจ้งมากมาย หลายอย่างหลายวิธีด้วยกัน แต่ถ้าเอาผลของการปฏิบัติจนเห็นแจ้งในสิ่งเหล่านี้เป็นหลักแล้ว เราจะพบว่า มีข้อที่สังเกตได้ง่ายๆ ข้อหนึ่ง คือ การเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น ต้องเป็นการเห็นจนรู้สึกว่า ไม่มีอะไรที่น่ายึดถือ ไม่มีอะไรที่น่าอยาก น่าปรารถนา ในทางที่จะเอา จะได้ จะมี จะเป็น ซึ่งอาตมาจะขอสรุปสั้นๆ ว่าไม่มีอะไรที่น่าเอาไม่มีอะไรที่น่าเป็น
พุทธทาสภิกขุ
คู่มือมนุษย์ฉบับสมบูรณ์ (น.32)