เมื่อมีความอยากที่ไหนก็มีความร้อนใจที่นั่น และเมื่อต้องการกระทำตามความอยาก ย่อมมีความทุกข์ยากตามส่วนของการกระทำ ได้ผลมาแล้ว ก็หยุดอยากไม่ได้ ยังอยากต่อไปอีก ก็ต้องมีความร้อนต่อไปอีก เพราะยังไม่เป็นอิสระจากความอยาก ยังต้องเป็นทาสของความอยากต่อไป
เพราะเหตุฉะนี้แหละ จึงได้กล่าวว่าคนชั่วทำชั่ว เพราะอยากทำชั่ว มันก็มีความทุกข์ไปตามประสาคนชั่ว แม้คนดีอยากทำความดี ก็ต้องมีความรู้อีกแบบหนึ่ง ไปตามประสาของคนดี
แต่ข้อนี้อย่าเพิ่งเข้าใจว่า เป็นการสั่งสอนให้เลิกละจากการทำความดี มีปัญหาหรือมีข้อซึ่งจะต้องทำความเข้าใจกันอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งจะกล่าวทีหลัง เฉพาะในที่นี้ ประสงค์จะชี้ให้เห็นกันว่า ความทุกข์นั้นมีอยู่หลายระดับหลายชั้น ละเอียดจนคนธรรมดาเข้าใจไม่ได้ ต้องพึ่งพาอาศัยสติปัญญาของบุคคลประเภทพระพุทธเจ้า ซึ่งชี้ให้เห็นว่า เราจะพ้นจากความทุกข์โดยสิ้นเชิง ด้วยลำพังเพียงการกระทำความดีอย่างเดียวเท่านั้นยังไม่พอ ยังจะต้องทำอะไรบางสิ่งบางอย่าง ที่ยิ่งหรือเหนือไปกว่าการกระทำความดีอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งได้แก่การทำจิตให้หลุดพ้น ไปจากการเป็นบ่าวเป็นทาส ของความอยากทุกชนิดนั่นเอง นี้ เป็นใจความสําคัญของพระพุทธศาสนา
พุทธทาสภิกขุ
คู่มือมนุษย์ฉบับสมบูรณ์ (น.39)