เรื่องการบวชนี่มันเคยเปลี่ยนแปลงความมุ่งหมายมาเรื่อยๆ ตามยุคตามสมัย ถ้าเอาอย่างพุทธกาลเป็นหลักแล้วก็เป็นเรื่องของคนที่เบื่อชีวิตฆราวาส หรือว่าผ่านชีวิตฆราวาส มาอย่างถูกต้องและสมบูรณ์แล้วรู้สึกว่ายังไม่ประเสริฐ ยังไม่ถึงที่สุด จึงออกแสวงหาสิ่งที่ประเสริฐไปกว่านั้น เพราะฉะนั้นจึงได้บวช ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ใช้ไม่ได้กับพวกคุณที่ว่าบวชตามประเพณี ซึ่งยังไม่รู้จักโลก ไม่รู้จักชีวิตฆราวาสที่ถูกต้อง และสมบูรณ์ด้วยซ้ำไป
ทีนี้ ต่อมาความหมายนี้มันก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปตามความรู้สึกของคนที่มีความต้องการอย่างอื่น แต่อาจจะถือเอาประโยชน์นั้นได้จากการบวชในพุทธศาสนานี้เหมือนกัน
ดังนั้นจึงเกิดธรรมเนียมที่ว่าบวชชั่วคราว บวชตั้งแต่หนุ่ม บวชตั้งแต่เด็กกันขึ้นมา เพื่อที่จะได้ศึกษาให้รู้จักแนวทางทั้งหมดของมนุษย์ ของการที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้รับคำสั่งสอนทุกอย่างทุกประการสำหรับการที่จะเป็นมนุษย์ แล้วจึงเอาความรู้นั้นไปใช้ในเมื่อลาสิกขาบทออกไปเป็นฆราวาสอีกครั้งหนึ่ง เป็นฆราวาสที่ดีที่สุด สมบูรณ์แล้วจึงค่อยมานึกถึงการบวชในอันดับสูงสุดกันอีกครั้งหนึ่ง นี่จึงเกิดมีประเพณีอย่างนี้ขึ้นในประเทศไทย โดยเอาระเบียบธรรมเนียมประเพณีในอินเดียมาใช้
โดยเฉพาะก็คือว่า คนหนุ่มนี่ควรจะไปศึกษาในสำนักครูบาอาจารย์ให้จบหลักสูตรครูบาอาจารย์ แล้วก็ได้นามว่า บัณฑิต กลับออกมามีลูกมีเมีย มีบ้านมีเรือน ทำถูกทุกอย่างทุกประการในการที่จะเป็นมนุษย์ เขาก็เรียกว่าบัณฑิต ในประเทศอินเดียก็ยังมีใช้อยู่สำหรับคำคำนี้ คือผู้ที่ผ่านการศึกษาเรื่องชีวิตชีวามาจากสำนักอาศรมที่สมบูรณ์แบบ แล้วก็มาเป็นบัณฑิต ไม่ใช่เรียนในมหาวิทยาลัย เรียนในสำนักทางศาสนา
บัณฑิตคำนี้แปลว่าผู้ที่มีปัญญาที่จะเอาตัวรอดได้ บันดา แปลว่า ปัญญาเอาตัวรอดได้, ฑิต มันแปลว่า ถึงหรือมีปัญญาที่เอาตัวรอดได้ เป็นบัณฑิตกลับออกไปต่อสู้ในโลกนี้ จนกว่าจะได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้
พุทธทาสภิกขุ
ธรรมะใกล้มือ : เราจะอยู่ในโลกอันแสนยุ่งยากขึ้นทุกทีได้อย่างไร (น.10)