การละอวิชชาเสียได้ ทำให้รู้ความเป็นจริงในข้อที่ว่า โดยแท้จริงแล้วไม่มีอะไรเป็นตัวตน มีแต่สิ่งซึ่งสักแต่ว่าธรรมชาติอย่างหนึ่งๆ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรูปธรรม หรือฝ่ายนามธรรม หรือว่ารวมกันทั้งสองฝ่ายก็ตาม เมื่อรู้แจ้งดังนี้ ความยึดถือในสิ่งต่างๆ สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เคยยึดถือว่าเป็น "ตัวตน-ของตน" ก็ไม่อาจจะเกิดขึ้นได้ แม้ในขณะที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น เป็นต้น
นี้คือความดับไปแห่ง "ตัวกู-ของกู" อันเป็นอุปทาน ซึ่งเกิดมาจากตัณหาในอารมณ์นั้นๆ เมื่อความรู้สึกว่า "ตัวกู-ของกู" ไม่อาจจะเกิดขึ้นได้แล้ว ก็ถือว่าเป็น ภาวะที่ว่างจาก "ตัวกู-ของกู" เรียกว่า ภาวะแห่งสุญญตา ตามหลักแห่งพุทธศาสนา ซึ่งอาจจะไม่เหมือนกับภาวะแห่งสุญญตาของลัทธิอื่น ทั้งที่อาจจะมีชื่อเรียกอย่างเดียวกัน ความว่างจากความยึดมั่นด้วยอุปาทานว่า "ตัวกู-ของกู" เท่านั้น ที่เป็นความว่าง ตามความหมายแห่งคำว่า นิพพาน ซึ่งถือว่าเป็นความว่างอย่างยิ่ง เพราะเป็นความดับไปแห่ง "ตัวกู-ของกู" โดยสิ้นเชิง สมตามคำที่ว่า นิพพานแปลว่าดับไม่เหลือ ซึ่งหมายถึงความดับไม่เหลือ ทั้งของกิเลสที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ และความดับไม่เหลือของความทุกข์ที่เป็นผลจากกิเลส
ซึ่งในการบรรยายตลอดมาในที่นี้ ใช้รวมเรียกเข้าเป็นคำๆ เดียวว่า "ตัวกู-ของกู" ฉะนั้น ควรจะสรุปความให้สั้นที่สุดได้อีกครั้งหนึ่งว่า ความดับไปแห่ง "ตัวกู-ของกู" นั่นแหละ คือ ความว่างตามความหมายแห่งคำว่า นิพพาน
พุทธทาสภิกขุ
ตัวกูของกูฉบับสมบูรณ์ (น.193)