โลกทั้งหมดไม่มีอะไรมากไปกว่าอารมณ์ทั้ง ๖ และตัณหาทุกชนิดนั้น ก็ไม่ได้อาศัยอะไรอื่นนอกจากอารมณ์ทั้ง ๖
จนกระทั่งกล่าวได้ว่า เมื่อตัณหาจะเกิด ก็เกิดในอารมณ์ทั้ง ๖ เมื่อดับ ก็ดับในอารมณ์ทั้ง ๖ อย่างใดอย่างหนึ่งเสมอไป
ที่นี้มีสิ่งจะต้องพิจารณาต่อไปอีกก็คือ อารมณ์ ๖ นี้ มิได้หมายความว่า หมายถึงแต่อารมณ์เฉพาะหน้า เพราะว่าแม้อารมณ์ในอดีตที่ล่วงไปแล้ว คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่ผ่านไปแล้วก็ยังเป็นอารมณ์ของตัณหาได้อยู่ดี ด้วยการเกี่ยวเนื่องกับอารมณ์ในปัจจุบันบ้าง ด้วยการย้อนระลึก นึกถอยหลังไปถึงบ้าง ซึ่งเราเรียกกันว่า ความกังวล หรือความห่วงใย อาลัยอาวรณ์
ทีนี้สำหรับอารมณ์ในอนาคตนั้นเล่า คือ รูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น ที่จะพึงได้ข้างหน้านั้น ก็เป็นอารมณ์ของตัณหาอย่างยิ่งด้วยเหมือนกัน
ข้อนี้ก็คือสิ่งที่เราเรียกกันว่า ความหวัง และดูจะเป็นสิ่งที่เป็นปัญหายุ่งยากกว่าอย่างอื่นด้วยซ้ำไป เพราะว่าเราอาจจะหวังกันได้มากๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด และมันก็เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงกำลังใจ จนกระทั่งพากันถือว่าชีวิตนี้อยู่ได้ด้วยความหวัง คนเราจึงปะทะเข้ากับปัญหา ทั้งข้างหน้า ข้างหลัง ทั้งตรงกลาง ถ้าความหวังดำเนินไป หรือพุ่งไปข้างหน้า ก็พบกับกามตัณหา และภวตัณหา ถ้าความหวังถอยหลังกลับ หรืออ่อนระโหยลง เราก็พบกันกับวิภวตัณหา
เพียงเท่านี้เราก็เห็นได้ว่า อารมณ์ในอนาคตนั่นแหละเป็นปัญหายุ่งยากที่สุดสำหรับมนุษย์เรา มันเป็นไปได้กว้างขวางที่สุด และทรมานใจที่สุด หรือแม้ที่สุดแต่ปัญหายุ่งยากของโลกในปัจจุบันนี้ ซึ่งจะเป็นวิกฤติการณ์ขนาดใหญ่เล็ก ชนิดไหนก็ตาม หรือถึงกับวินาศกันทีเดียวทั้งโลกก็ตาม ล้วนแต่มีมูลมาจากอารมณ์ในอนาคตของตัณหาทั้งนั้น
พุทธทาสภิกขุ
ตัวกูของกูฉบับสมบูรณ์ (น.105)