สิ่งที่เรียกว่า "ตน" หรือตัวของเรา ตามที่รู้สึกประจำอยู่ในสันดานนั้น เกิดมาจากสัญชาตญาณตามธรรมดา ของสัตว์ที่ ยังประกอบด้วยอวิชชา ตามลักษณะของสัญชาตญาณ จะต้องมีความรู้สึกว่ามีตัวของตัวเสมอ จึงจะมีความรู้สึกรักตัว รักชีวิต และความรู้สึกหนีภัย เป็นต้น ขึ้นมาได้
และชีวิตคงอยู่ได้เพราะความรู้สึกนั้น อันเป็นมูลเหตุแห่งการป้องชีวิต ตลอดเวลาที่สัตว์ยังประกอบด้วยอวิชชาอยู่ในสันดาน ย่อมไม่รู้ถูกต้องตามที่เป็นจริง ว่าตัวเองคืออะไร จึงรู้ไปตามที่อวิชชาจะอำนวยให้รู้ คือรู้ชนิดที่ให้เกิดสัญชาตญาณดังกล่าวมา
โดยฉะเพาะก็คือความรู้ว่า มีตัวตนของตน และความเห็นแก่ตนตลอดเวลา เหล่านี้ยังไม่อาจรู้สึกว่า ตัวตนหรือสิ่งที่ควรเรียกว่า ตัวตน นั้นไม่มี มีแต่ #ส่วนแห่งธรรมชาติ ล้วนๆ ที่กำลังหมุนไปตามกฎของธรรมชาติเท่านั้น
ตามธรรมดาคนเราก็ชี้ตัวตนของเราเองให้ดูไม่ได้ ว่ามันอยู่ที่ตรงไหนแน่ ส่วนมากที่สุด ก็ชี้หรือส่งไปยังจิตต์ หรือใจ ที่รู้คิดรู้นึกว่าผู้มีผู้เป็น มีหรือเป็นเจ้าของสิ่งนั้นสิ่งนี้ เมื่อถูกบาดเจ็บ ก็พูดว่าเราเจ็บ แทนที่จะพูดว่า มือของเราเจ็บ หรือเท้าของเราเจ็บ เป็นต้น
เมื่อรัก ก็พูดว่าตัวรัก ทั้งที่แท้ๆ ความรักเป็นเพียงความโง่ชนิดหนึ่ง ที่กำลังครอบงำใจอยู่เท่านั้น หาใช่เป็นกิริยาโดยตรงของ "ตัวตน" ไม่ เมื่อตาเห็นรูป หรือหูได้ยินเสียงเป็นต้น ก็เข้าใจเอาว่า "ตัวตน" เป็นผู้เห็น
ซึ่งที่แท้เป็นเพียงการประจวบกันเข้า ระหว่างจักษุวิญญาณ กับรูปภายนอก โดยมีลูกตาเป็นสื่อ และให้เกิดผลกระท้อนเป็นความรู้สึกอย่างอื่นๆ ขึ้นอีกต่อไป ในภายในตามกฎธรรมชาติฝ่ายนามธรรม คือฝ่ายใจเท่านั้น เมื่อยังไม่ปราศจากอวิชชาก็ยังรู้สึกว่า มีตัวมีตนจริงๆ อยู่ตลอดเวลา ครั้นอวิชชาเบาบางไป ก็ย่อมรู้สึกได้เองว่า "ตัวตน" เป็นเพียงคำสมมติ
พุทธทาสภิกขุ
วิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม (น.48)