เราท่านทั้งหลาย ที่เคยชินต่อการมองเฉพาะด้านนอก หรือวัตถุธรรม มีความยึดติดอย่างโลกๆ ครอบงำอยู่เป็นธรรมดาเสียแล้ว ย่อมยากที่จะมองทะลุถึงด้านใน อันเป็นความจริงหรือความลับของมัน
เช่นเรารักกุหลาบสีแดง ก็มองดูด้วยสายตา และใจที่รักความงามในสีของมัน (ตามที่เราถูกแวดล้อมอบรมให้เห็นว่างามมาแต่เล็ก) เราไม่ได้มองด้วยการตั้งข้อรังเกียจ และจะค้นให้พบว่าสีแดงนั้นหามีอยู่ไม่ และเป็นเพียงมายาเท่านั้น ใจของเราถูกความอยาก หรือความรักของเรา ซึ่งเป็นเหมือนด้าย เย็บมันให้ติดอยู่กับความงามของสีแดง ไม่หลุดออกจากกันได้ จึงไม่มีอิสระออกไปตั้งข้อรังเกียจ จับความลับ หรือความเป็นมายาหลอกลวงมันได้เลย
ความยึดติดอันนี้เป็นเครื่องกักกัน หุ้มห่อ มิให้ใจของเราพบกันเข้าได้กับสิ่งที่เรียกว่า "พุทธธรรม" หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็ว่า ครอบงำเราไว้ มิให้แสงแห่งพุทธธรรมส่องสาดลงมายังใจของเราได้
เมื่อใดเราเพิกถอนสิ่งที่ปิดบังอันนี้เสียได้ พุทธธรรม ซึ่งมีอยู่เองในที่ทั้งปวง ก็จะสัมผัสกับใจเราทันที อุปมาง่ายๆ ในด้านวัตถุเช่นถ้ามีสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถูกซ่อนอยู่ภายในวัตถุ ที่ปกปิดอย่างหนึ่ง เช่นมีตัวแมลงอยู่ภายใต้กะลาครอบมิดชิด มันก็ไม่มีโอกาสที่จะสัมผัสกับอากาศหรือแสงสว่างข้างนอก ซึ่งมีพร้อมอยู่ทุกเมื่อ นั้นเลย เมื่อใดได้ทำลายวัตถุที่ครอบนั้นเสีย เมื่อนั้นอากาศหรือแสงสว่าง ย่อมสัมผัสกับตัวแมลงนั้นเอง โดยไม่ต้องมีการขอร้อง หรือพยายาม
โดยทำนองเดียวกันนี้ พุทธธรรม หรือ "สิ่ง" สิ่งหนึ่ง ซึ่งพระพุทธองค์ทรงค้นพบ ก็เป็นสิ่งที่มีพร้อมอยู่ในที่ทั่วไป พร้อมที่จะเข้าสัมผัสกับจิตต์ ซึ่งปราศจากโลกิยธรรมอันหุ้มห่อ เช่นเดียวกับที่ว่า เมื่อลอกเปลือกออกเสียแล้ว อากาศข้างนอกย่อมสัมผัสกับสิ่งที่เป็นภายในได้นั่นเอง
การเข้าถึงพุทธธรรมจึงมีใจความสำคัญอยู่ที่ว่า
จงทำลายเปลือกหุ้มหรือกรง
หรือบ่วงอันรึงรัดนั้นๆ เสียให้แหลกลาญ
พุทธทาสภิกขุ
วิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม (น.๑๕)