การพ้นทุกข์อันเด็ดขาด ก็คือการทำลายตน
ผู้ต้องการพ้นทุกข์นั้นเสียเอง
ถ้ายังมีตัวตนอยู่เพียงใด ก็ยังต้องการความพ้นทุกข์อยู่เพียงนั้น อันทำให้มีความปรารถนา และความพยายามต่างๆ ความมีตัวตนจึงเป็นเสมือนหนึ่งเปลือกที่หุ้มห่อสัตว์ไว้ภายใน อาการที่เป็นความทรมานชั้นประณีตสุขุมที่สุด โดยที่มันไม่ส่อให้รู้สึกได้ง่ายๆ ว่านั่นแหละคือตัวความทุกข์ละ
ความสำคัญว่ามีตัวมีตน เป็นลักษณะอันหนึ่งของอวิชชา เพราะอวิชชาครอบงำเอา ตัวตนจึงเกิดมีขึ้นทันที เมื่อมีตัวตนของตนอยู่ ก็ต้องทรง หรือแบกตนของตนนั้นไว้ ตามที่ตนเข้าใจว่าได้แก่อะไร เมื่ออวิชชายังครอบงำอยู่ แสงแห่งพุทธธรรมก็ส่องเข้าถึงไม่ได้
อวิชชาในขั้นละเอียด ที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือตัวตน จึงเป็นเสมือนเปลือกขั้นลึกลับที่หุ้มห่อไว้ โดยไม่แสดงอาการหุ้มห่อให้ปรากฏ ซ้ำกลับแสดงการหลอกลวง ให้เห็นเป็นสิ่งที่ดีที่สบายไปเสีย ดังที่เรารู้สึกในคราวที่เรามีตัวชนิดที่ตรงกับความใคร่อันผิดๆ นั้นที่สุด
แม้ว่าเราจะสามารถปอกเปลือกชั้นนอกๆ ที่หุ้มห่อได้สองขั้นมาแล้ว คือขั้นเหยื่อโลก กับขั้นความติดยึด ในลัทธิในทางความเชื่อถือก็ตาม ความทุกข์ก็ยังหาได้หมดไปอย่างเด็ดขาดไม่ จึงจำเป็นที่จะต้องปอกเปลือกขั้นสุดท้ายนี้อีกขั้นหนึ่ง
พุทธทาสภิกขุ
วิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม (น.๕๒)