พระตถาคตเจ้าเกิดขึ้นแล้ว ในโลกนี้
เป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง
และพระธรรมที่ทรงแสดง เป็นธรรมเครื่องออกจากทุกข์
เป็นเครื่องสงบกิเลส เป็นไปเพื่อปรินิพพาน
เป็นไปเพื่อความรู้พร้อม เป็นธรรมที่พระสุคตประกาศ
พวกเราเมื่อได้ฟังธรรมนั้นแล้ว จึงได้รู้อย่างนี้ว่า
แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์
แม้ความแก่ก็เป็นทุกข์
แม้ความตายก็เป็นทุกข์
แม้ความโศก ความร่ำไรรำพัน
ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ
ความคับแค้นใจ ก็เป็นทุกข์
ความประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจ ก็เป็นทุกข์
ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักที่พอใจ ก็เป็นทุกข์
มีความปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์
ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นตัวทุกข์ ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ
ขันธ์ อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น คือรูป
ขันธ์ อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น คือเวทนา
ขันธ์ อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น คือสัญญา
ขันธ์ อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น คือสังขาร
ขันธ์ อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น คือวิญญาณ
เพื่อให้สาวกกำหนดรอบรู้อุปาทานขันธ์ เหล่านี้เอง
จึงพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เมื่อยังทรงพระชนม์อยู่
ย่อมทรงแนะนำสาวกทั้งหลาย เช่นนี้เป็นส่วนมาก
อนึ่ง คำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น
ย่อมเป็นไปในสาวกทั้งหลาย ส่วนมาก
มีส่วนคือการจำแนกอย่างนี้ว่า
รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง
สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง
รูปไม่ใช่ตัวตน เวทนาไม่ใช่ตัวตน สัญญาไม่ใช่ตัวตน
สังขารไม่ใช่ตัวตน วิญญาณไม่ใช่ตัวตน
สังขารทั้งหลายทั้งปวง ไม่เที่ยง
ธรรมทั้งหลายทั้งปวง ไม่ใช่ตัวตน ดังนี้
พวกเราทั้งหลาย เป็นผู้ถูกครอบงำแล้ว
โดยความเกิด โดยความแก่ และความตาย
ด้วยความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย
ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ทั้งหลาย
เป็นผู้ถูกความทุก หยั่งเอาแล้ว
เป็นผู้มีความทุกข์ เป็นเบื้องหน้าแล้ว
ทำไฉน การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้
จึงพึงปรากฏชัด แก่เราได้
เราทั้งหลายพูดถึงแล้วซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า
แม้ปรินิพพานนานแล้ว พระองค์นั้น เป็นสรณะ
ถึงพระธรรมด้วย ถึงพระสงฆ์ด้วย
จักทำในใจอยู่ ปฏิบัติตามอยู่
ซึ่งคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ตามปกติกำลัง
ขอให้ความปฏิบัตินั้นๆ ของเราทั้งหลาย
จงเป็นไปเพื่อการทำที่สุดแห่งกองทุกข์ ทั้งสิ้นนี้ เทอญ
สังเวคปริกิตตนปาฐะ
ธรรมะใกล้มือ คู่มืออุบาสก อุบาสิกา (น.๒๑)