“สุญญตา” “โลกว่าง” “จิตว่าง”
.
…. “ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “โลกนี้ว่าง เพราะไม่มีสิ่งใดที่ควรถือว่าเป็น “ตัวตน” หรือ “ของตน” เป็น“ตัวเรา” หรือ“ของเรา”...
.
…. จิตที่ไม่ยึดถืออะไร ว่าเป็นตัวตน ของตน หรือกำลังไม่ยึดถืออะไร ว่าเป็นตัวตน ของตน นี้ ขอเรียกว่า “จิตว่าง” เพราะไม่มีคำอื่นที่ดีกว่านี้
.
…. มีคำอธิบายใน “ธัมมัปปโชติกา ภาค ๑” ว่า
…. “ ราคโทสโมเหหิ สุญฺญตตฺตา สุญฺญโต” (แปลว่า) ชื่อว่า สุญญตา เพราะว่าว่างจาก ราคะ โทสะ โมหะ เพราะจิตในขณะนั้นประกอบด้วยปัญญาเห็นว่าโลกว่าง
.
…. ด้วยเหตุนี้แหละ พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสสอนว่า “จงมองดูโลกนี้โดยความเป็นของว่างอยู่เสมอ” เหมือนอย่างทรงสอน โมฆราช ใน #โสฬสปัญหา ว่า …
… “ สุญฺญโต โลกํ อเวกฺขสฺสุ โมฆราช สทา สโต “
(ดูก่อน โมฆราช เธอจงเป็นผู้มีสติ มองเห็นโลกโดยความเป็นของว่างอยู่เสมอไป)
… เมื่อเห็นโลกโดยความเป็นของว่าง จิตก็ไม่มีความยึดถืออะไรด้วยอุปาทาน ความว่างอย่างนี้ของจิตเราเรียกว่า “สุญฺญตา”
.
…. ฉะนั้น เราได้ใจความครั้งแรกว่า “โลกนี้ว่าง” เพราะว่างจาก ตัวตน ของตน ได้ใจความถัดมาว่า “จิตว่าง” เพราะว่างจาก ราคะ โทสะ โมหะ โดยเหตุที่จิตนี้ได้มองเห็นว่า..โลกนี้ว่าง ไม่มีอะไรที่ควรยึดถือ ว่าตัวตน-ของตน
… นี่คือความหมายของคำว่า “สุญญตา”
.
ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : ธรรมบรรยายเรื่อง “สุญฺญตา หัวใจของพุทธศาสนา”