เกมอิทัปปัจจยตา
ท่านพุทธทาสได้เล่าว่า ระหว่างที่ท่านเป็นเด็กวัดพุมเรียงนั้น มีการเล่นอยู่อย่างหนึ่ง ที่เล่นกันในหมู่เด็กวัด ชื่อว่า "เล่นชี้โพธิ์" เป็นการเล่นที่ฝึกให้ผู้เล่นมีความฉลาดรอบคอบ ท่านเล่าว่า "มันมีอีกธรรมเนียมหนึ่งที่มีกันทุกวัดทุกวา เป็นการฝึกเด็กวัดให้เป็นคนเฉลียวฉลาด หรือถ้าพูดอย่างภาษาทางนี้ จะเรียกว่าฝึกให้เป็นคนหัวหมอก็ได้ เล่นกันในหมู่เด็กวัด รวมทั้งเณรด้วย โดยไม่ต้องให้มีใครจัดให้ มันจัดกันเอง เฮ่อๆๆ มันน่าหัว คือพอมานั่งรวมกลุ่มกัน ไอ้เด็กคนที่เป็นหัวโจกหน่อย มันก็ตั้งประเด็นขึ้น เช่น เอ้าวันนี้ เรามาพูดเรื่องหุงข้าว ใครจะเล่าก่อน ส่วนมากพวกที่อาสาก่อนมันก็จะเป็นพวกที่ฉลาดน้อยกว่าคนอื่น มันก็ต้องเล่าวิธีที่หุงข้าวว่าทำอย่างไร เด็กทั้งหลายก็คอยฟัง ถ้าคนเริ่มต้นมันเป็นคนโง่ๆ หน่อย มันอาจจะเริ่มต้นว่า "กูก็เอาข้าวสารใส่หม้อ ตั้งบนไฟ" เด็กนอกนั้นมันก็จะชวนกันค้านว่า "มึงยังไม่ได้เข้าไปในครัวสักที จะทำได้ยังไงล่ะ" อย่างนี้เป็นต้น หรืออาจจะมีสอดว่า "มึงยังไม่ได้ก่อไฟสักที" ถ้ามีช่องให้ซักค้านได้มากๆ มันก็ต้องให้คนอื่นเป็นคนเล่า เวลาถูกค้านได้ทีก็จะเฮกันที มันอาจจะละเอียดถึงขั้นว่า ยังไม่ได้เปิดประตู แล้วจะเข้าไปในครัวได้อย่างไร หรือยังไม่ได้หยิบขันมันจะตักน้ำได้อย่างไร อย่างนี้เป็นต้น
ในที่สุดมันจะต้องได้เล่าถึงขั้นตอนทุกขั้นตอน จนไม่มีอะไรบกพร่อง เหมือนกับการบรรยายของนักประพันธ์ ละเอียดถี่ยิบไปหมด เพราะคนค้านมันมีมาก มันก็ค้านได้มาก มันเป็นการฝึกความละเอียดลออถี่ถ้วน ฝึกการใช้ลอจิก (logic) คนฉลาดมันมักจะเป็นคนเล่าคนหลังๆ ที่สามารถเล่าได้ละเอียดโดยไม่มีใครค้านได้
ชื่อการเล่น ชี้โพธิ์ ชวนให้คิดว่า คำว่า โพธิ์ อาจมาจากคำว่าโพธิญาณ คือปัญญาแห่งการตรัสรู้ คือมี สติ ที่จะค่อยๆ คิดไปตามลำดับไม่ตกหล่น และมี ปัญญา ที่จะต้องสังเกตจนรู้จริงในเรื่องนั้นๆ ซึ่งท่านพุทธทาสมักเอาการเล่นชี้โพธิ์มาอธิบายธรรมะข้อ อิทัปปัจจยตา อยู่เสมอ เช่น "แม่ครัวเข้าไปในครัว แล้วก็หยิบไม้ฟืนมาติดไฟที่เตาไฟ แล้วไฟมันก็ลุกขึ้น แล้วนำเอาหม้อข้าว ที่ใส่ข้าวสาร ที่ล้างแล้วมีน้ำ ตั้งบนไฟแล้ว เมื่อรออยู่ครู่หนึ่งน้ำก็เดือด เม็ดข้าวก็อ่อนพอที่จะเช็ดน้ำ หรือจะไม่เช็ดน้ำ แล้วในที่สุด ก็เป็นข้าวที่สุก แล้วก็ตักเอามากินได้ นี่ขอให้ศึกษาดูว่า มันเป็นอิทัปปัจจยตาทางรูปธรรมอย่างไร... ว่า "ความที่เมื่อมีสิ่งนี้ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆ ก็เกิดขึ้น"
จากหนังสือ : #เส้นทางสู่สวนโมกข์
อิทัปปัจจยตาแห่งพุทธทาส (หน้า 57)
(อ้างอิง : เล่าไว้เมื่อวัยสนธยาหน้า 29)