"เรื่องประหยัด ใช้น้ำอย่างประหยัด ใช้ฟืนอย่างประหยัด ใช้อะไรอย่างประหยัด... นิสัยนี้มันมี ไม่หายไป ก็เป็นเหตุให้คนหลายคนเดี๋ยวนี้ (หมายถึงหลายคนที่มาฟังปาฐกถาธรรมในเวลานี้ เมื่อสมัยที่ยังเป็นเด็กด้วยกัน) หาว่า ไอ้หมอนี่ขี้เหนียว แทนที่ว่าประหยัด มันว่าอาตมาเป็นคนขี้เหนียว นิสัยประหยัด แม่จะพูดว่า
ถ้าไม่รู้จักใช้ฟืน ก็จะเป็นทาสฟืน
ไม่รู้จักใช้น้ำ ก็จะเป็นทาสน้ำ
คือต้องหามามากเกินไป รวมกระทั่งว่า
ถ้าไม่รู้จักใช้เงิน ก็ต้องเป็นทาสเงิน
ต้องหาเงินมากเกินจำเป็น
ไม่รู้จะใช้อะไรก็จะเป็นทาสของสิ่งนั้น...
ทำอะไรต้องพอดี...
แม้แต่ขูดมะพร้าวก็ต้องใช้แรงที่พอดี มะพร้าวที่ขูดมาจึงจะเป็นมะพร้าวที่สำเร็จประโยชน์ เด็กชายธรรมทาสขูดมะพร้าวเป็นที่พอใจแม่ กว่าเด็กชายพุทธทาส เด็กชายพุทธทาสขูดหยาบๆ ขูดเต็มแรง ออกมาหยาบ แล้วแม่ก็บอกว่า มันปั้นไม่สบายมือ และน้ำกะทิก็ไม่ออกมา มันอยู่ในชิ้นมะพร้าวที่ใหญ่เกินไป มันไม่ออกมา ได้น้ำกะทิน้อยไป เด็กชายธรรมทาสเขาขูดละเอียด นิ่ม ปั้นก็นิ่ม แล้วน้ำกะทิก็ออกมาหมด อย่างนี้เป็นต้น
นี่ก็เรียกว่า ทำอะไรอย่าสักว่ามีแรงแล้วทำเต็มแรง นี้ จะถูกเสมอไป มันต้องพอดี เช่น ขูดมะพร้าวก็ขูดพอดี ละเอียดที่สุด น้ำกะทิก็ไม่เหลือในกากมะพร้าว แต่ลองขูดเต็มแรงสิ มันออกมาชิ้นใหญ่ๆ หนาๆ ในนั้นมีน้ำกะทิเหลืออยู่ ไม่ออกมา บางทีต้องใช้ให้เอาไปตำอีกทีหนึ่ง สมน้ำหน้าที่ทำอย่างนั้น เอาไปตำให้ละเอียดอีกทีหนึ่ง จึงจะคั้นกะทิออกหมด นี่แม่สอนอย่างไร?
แม่สอนว่า ขูดมะพร้าวต้องขูดชนิดที่มีเหตุผล ขูดตามเรี่ยวตามแรงมันไม่ได้
จากหนังสือ : เส้นทางสู่สวนโมกข์
อิทัปปัจจยตาแห่งพุทธทาส (หน้า 39)
(อ้างอิง : เล่าไว้เมื่อวัยสนธยาหน้า 20)