ไม่ว่าพระพุทธเจ้าในอดีต ในปัจจุบัน และในอนาคต ล้วนอุบัติขึ้นได้เพราะการปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิปัสสนากรรมฐาน จะเรียกว่าเป็นงานที่ศักดิ์สิทธิ์ก็ได้ แต่พอพูดว่าเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ หรือเป็นเรื่องจริงจัง บางคนก็จะรู้สึกเกร็งขึ้นมา หรือว่ามีความมุ่งมั่นปรารถนาจนจิตอาจจะไม่เป็นปกติ เรียกว่าวางใจไม่ถูกต้องก็ได้
อยากให้มองว่าเรากำลังทำสิ่งธรรมดาสามัญ คือทำใจสบายๆ อาจจะยิ้มในใจ ไม่รู้สึกว่ามันเป็นภาระ เพราะสิ่งที่จะทำนี้เราไม่ต้องรับผิดชอบกับใคร เวลาเราทำงานทำการ บางครั้งเราต้องรับผิดชอบกับผู้อื่น ต้องห่วงว่าสิ่งที่เราทำจะมีผลต่อคนอื่นหรือส่วนรวมหรือไม่ และยังต้องคำนึงถึงความคาดหวังของผู้อื่นด้วย แต่การปฏิบัติธรรมนั้นเราไม่ต้องคำนึงถึงความคาดหวังของใคร และไม่ต้องรับผิดชอบใครทั้งสิ้น สิ่งที่เราจะทำก็มีเพียงแต่การดูกายและใจของเราเท่านั้นเอง
ฉะนั้นอาตมาจึงอยากให้เราทำด้วยความรู้สึกสบายๆ ให้วางสิ่งต่างๆ ที่เป็นภาระของใจลงชั่วคราว ที่เป็นงานการต่างๆ ก็ให้วาง ความกังวลก็วางเช่นเดียวกัน รวมทั้งวางความอยากด้วย แน่นอน เรามาไกลถึงขนาดนี้ก็เพราะความอยาก เช่น อยากจะได้รับความสงบ อยากจะฝึกตน อยากจะพัฒนาจิตใจของเรา แต่ทันทีที่เรามานั่งตรงนี้ ก็ให้วางความอยากเหล่านี้ลงเสีย ไม่อย่างนั้นความอยากก็จะเป็นอุปสรรคทำให้เราไม่สามารถที่จะปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง เพราะเมื่อมีความอยากแล้ว สิ่งที่คู่กับความอยากก็คือความกลัว เช่น กลัวว่าจะไม่สมอยาก กลัวว่าจะไม่ได้อย่างที่อยาก ถ้าอยากได้ความสงบก็กลัวว่าจะไม่ได้รับความสงบ เพราะฉะนั้นจึงมีความเกร็ง หรือพยายามปฏิเสธอะไรก็ตามที่ทำให้ใจไม่สงบ รวมทั้งการไม่ยอมรับอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับใจ เวลาใจฟุ้งซ่านปรุงแต่งขึ้นมาก็จะพยายามบังคับจิตให้หยุดฟุ้งซ่าน หยุดปรุงแต่ง การทำเช่นนั้นกลับจะทำให้การปฏิบัติเนิ่นช้า หรือเป็นอุปสรรคต่อความสงบด้วยซ้ำ
ในทางตรงข้ามถ้าเราวางความอยาก อะไรเกิดขึ้นก็รับรู้เฉยๆ ไม่ผลักไส ไม่ปฏิเสธ วางใจเป็นกลาง ความฟุ้งซ่านนั้นก็จะค่อยๆ เลือนหายไป ความคิดที่เข้ามารบกวนจิตใจก็จะเลือนหายไปตามธรรมชาติของมัน แม้แต่อารมณ์ ความเครียด ความหงุดหงิด ความกังวลก็จะคลี่คลายหายไป เมื่อเราเพียงแต่ดูมันเฉยๆ แต่ถ้าเราพยายามผลักไส กดข่ม หรือปฏิเสธมัน เพราะอยากให้ใจสงบ หรือเพราะไม่ชอบ เพราะเห็นว่ามันเป็นอุปสรรคขัดขวางความสงบ ใจก็จะยิ่งขัดขืนต่อต้าน ยิ่งอยากผลักไสมันก็ยิ่งคงอยู่
ให้เราสังเกตดูอะไรก็ตามที่เราพยายามผลักออกไปมันก็จะยิ่งต่อต้าน คงเหมือนกับแมว เวลาดึงหางแมวให้ถอยหลังมันจะพยายามเดินไปข้างหน้า เวลาเราพยายามดึงมันมาข้างหน้ามันก็จะถอยหลัง จิตเราก็คล้ายๆ อย่างนั้น เคยมีการทดลองง่ายๆ ให้แต่ละคนนั่งในห้องคนเดียว อนุญาตให้คิดอะไรก็ได้ ยกเว้นห้ามคิดอย่างเดียวคือ ห้ามนึกถึงหมีขาว ถ้านึกถึงหมีขาวให้กดกริ่ง เขาให้โจทย์เสร็จไม่ทันไรเสียงกริ่งก็ดังระงม เพราะพอสั่งไม่ให้คิด หรือพอตั้งใจไม่คิดถึงหมีขาว ใจก็จะคิดถึงหมีขาวขึ้นมาทันที ราวกับว่ายิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ
ความคิดและอารมณ์ ก็เหมือนกัน ถ้าเราพยายามกดข่ม ปฏิเสธตั้งแต่แรกมันก็จะยิ่งโผล่ ยิ่งผุด หรือว่าคงอยู่นานขึ้น เมื่อรู้อย่างนี้แล้วเวลามันเกิดขึ้น เราก็ไม่ต้องทำอะไรมัน เพียงแต่ดูมันเฉยๆ เจออารมณ์ที่ปรารถนาก็ไม่ไปคลอเคลีย อยากครอบครอง เจออารมณ์ที่ไม่ปรารถนา หรือทุกขเวทนาก็ไม่ผลักไสมัน เพียงแต่ดูมัน หรือว่าตั้งจิตอยู่บนตัวรู้
ถ้าเราตั้งจิตอยู่บนตัวรู้ หรืออยู่บนฐานรู้ ก็สามารถกอบกู้ใจจากอารมณ์ได้ ตัวรู้นี้ก็คือรู้กาย รู้ลมหายใจ รู้อิริยาบถเคลื่อนไหว อันนี้เป็นเครื่องอยู่ เป็นเครื่องอาศัยของจิต ลมหายใจอิริยาบถที่เคลื่อนไหว เป็นเครื่องมือหรือเป็นหลังพิงก็ได้ ช่วยให้จิตเราไม่แส่ส่าย ไม่ซัดเซพเนจร หรือไม่ถูกอารมณ์ความคิดต่างๆ ดึงดูดพาไป ถ้าเราไม่มีฐานรู้ หรือไม่มีกายเป็นเครื่องอยู่ เป็นหลังพิง จิตก็จะไม่มีที่ตั้ง จะไปโน่นไปนี่ แล้วแต่อารมณ์หรือความคิดต่างๆ พาไปด้วยสองสาเหตุคือ อยากครอบครองเพราะหลงใหลเคลิบเคลิ้มกับมัน หรืออยากผลักไสไล่ส่งมัน เหมือนกับเราไม่ชอบหมาขี้ขโมย เราไม่อยากให้มันมา พอมันมาเราก็ไล่มัน ปรากฎว่าทันทีที่เราทำเช่นนั้น เราก็อยู่ในอำนาจของมัน เราอยู่บ้านไม่อยากให้มันมา แต่พอเราต้องการไล่ก็เลยต้องถูกมันล่อให้วิ่งออกไปไกลจากบ้านมากขึ้น อันนี้เป็นเพราะอยากผลักไสก็เลยออกไกลจากบ้าน ไกลจากเครื่องอยู่
ฉะนั้นขอให้เราเป็นเพียงแต่ผู้ดูเฉยๆ อะไรเกิดขึ้นกับใจก็ดูเฉยๆ ซึ่งจะทำได้ก็เพราะว่าเราวางใจไว้อย่างสบายๆ ไม่ได้ถูกครอบงำด้วยความอยาก ไม่ว่าอยากผลักไส หรืออยากครอบครอง