เราตื่นตั้งแต่เช้ามืดเพื่อมาทำวัดสวดมนต์ ในขณะที่ผู้คนจำนวนมากยังหลับใหลอยู่ ในหนึ่งวันมียี่สิบสี่ชั่วโมง แต่มนุษย์ใช้ประโยชน์จากเวลาไม่เท่ากัน การที่เราตื่นเช้าแบบนี้ทำให้เราได้ประโยชน์จากเวลามากว่าคนอื่น ถึงแม้ว่าเราจะมีเวลาเท่ากัน เรียกว่าเราเพิ่มเวลาให้กับตัวเอง เป็นกำไรของชีวิต
หลายคนอยากมีชีวิตยืนยาว แต่ความยืนยาวของอายุจะไม่มีประโยชน์เลย ถ้าเราใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการหลับใหล เรียกว่าปล่อยเวลาให้สูญเปล่าอย่างไม่จำเป็น การนอนเป็นสิ่งสำคัญต่อชีวิตก็จริง แต่ถ้าเรามัวแต่หลับใหล ก็เท่ากับปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ และทำให้มีเวลาเหลือน้อยลงที่จะใช้อย่างมีคุณค่า เราควรเพิ่มเวลาให้กับชีวิตเราด้วยการตื่นให้เช้าขึ้น เพื่อทำสิ่งดีงาม เช่น ทำวัตรสวดมนต์หรือทำสมาธิ การตื่นแต่เช้ายังเป็นการสร้างโอกาสดีๆ ให้แก่ชีวิต เพราะว่าเป็นช่วงที่จิตใจของเราพร้อมที่จะรับธรรมะหรืออาหารใจ
ใจของเราตอนนี้พร้อมที่จะรับธรรมะที่เกิดจากการฟัง การพิจารณาธรรม หรือการทำสมาธิภาวนา เช้ามืดอย่างนี้ยังเหมาะสำหรับการดูใจของตัว ถ้าปล่อยให้ล่วงเลยไปถึงตอนเช้าหรือตอนสาย ๆ ใจของเราก็จะเริ่มฟุ้งซ่าน คิดโน่นคิดนี่ จนใจไม่ว่าง เพราะโดนความคิดครอบงำ จิตใจจะเต็มไปด้วยความคิดนึกต่างๆ ยิ่งคนกรุงเทพฯ ด้วยแล้ว ต้องกระวีกระวาดไปทำงานตั้งแต่เช้า ทำอะไรช้า ๆ ไม่ได้ อีกทั้งยังมีอะไรต่ออะไรให้ทำหลายอย่างจนอยู่นิ่งไม่เป็น ดูใจลำบากมาก มีหลายคนตื่นขึ้นมาอย่างแรกที่ทำคือ คว้าโทรศัพท์มือถือ เปิดคอมพิวเตอร์ เพื่อเช็คอีเมล์หรือเล่นเฟสบุ๊ค
มีเพื่อนคนหนึ่ง ตื่นมาก็เปิดคอมพิวเตอร์ทันที เพื่ออ่านเมล์ และเปิดเฟสบุ๊ค ช่วงหลังก็พยายามแก้นิสัยนี้ โดยตั้งกติกากับตัวเองว่าจะยังไม่เปิดคอมพิวเตอร์ จนกว่าจะสวดมนต์และนั่งสมาธิ ถ้าหากไม่ได้สวดมนต์ไม่ได้นั่งสมาธิก็จะไม่แตะคอมพิวเตอร์ การตั้งวินัยให้แก่ตัวเองแบบนี้ทำให้เธอมีโอกาสเปิดใจรับสิ่งดีๆ ตั้งแต่เช้า เดี๋ยวนี้เราตื่นขึ้นมาแทนที่เราจะรับเอาสิ่งดีๆ มาให้แก่จิตใจ บางคนกลับเปิดโทรทัศน์ดูข่าว พอรับรู้ข่าวนั้นข่าวนี้จิตใจก็ฟุ้งซ่าน วิตกกังวล หรือขุ่นเคืองใจ ข่าวสารส่วนใหญ่ ถ้าเรารับรู้ตั้งแต่เช้าโดยไม่ทันตั้งสติ จิตใจก็เศร้าหมองหรือเครียดง่าย ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ทำงานหรือยังไม่ทันทำอะไรเลยด้วยซ้ำ
การรับอะไรต่ออะไรมากมายตั้งแต่เช้า ทำให้ใจไม่ว่างที่จะรับสิ่งดีๆ เช่น ธรรมะ หรือความสุขที่มีอยู่รอบตัว เช่น ดอกไม้ในสวนหน้าบ้าน หรือแสงเงินแสงทอง แต่ถ้าตื่นขึ้นมาตั้งแต่เช้ามืด ใจเรายังไม่ฟุ้งซ่านมากนัก ความคิดยังไม่แล่นปรู๊ดปร๊าด เป็นโอกาสดีที่ช่วยให้ใจเราเปิดรับธรรมะไปพิจารณา
จะว่าไปแล้วเช้ามืดอย่างนี้เป็นช่วงเวลาที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ การตรัสรู้อย่างสมบูรณ์ของพระองค์เกิดขึ้นตอนยามสาม คือช่วงเวลานี้แหละ จากนั้นไม่นานพระอาทิตย์ก็ทอแสงเหนือขอบฟ้าสร้างความสว่างไสวให้แก่โลก ราวกับเป็นสัญญาณบอกว่า การตรัสรู้ของพระองค์ทำให้โลกสว่างไสว แต่ไม่ใช่ความสว่างไสวที่เห็นด้วยตาเนื้อ หากเป็นความสว่างไสวทางใจ คือเห็นทะลุปรุโปร่งว่าความทุกข์ของคนเราเกิดจากอะไร ไม่ใช่แค่เห็นหน้าค่าตาว่า คนนี้คือใคร คนนี้เป็นยังไงเท่านั้น อันนั้นเป็นการเห็นอย่างหยาบ เห็นด้วยตา แต่การเห็นที่ลึกกว่านั้น คือเห็นว่ามนุษย์เราเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ ที่จริงรวมถึงสรรพชีวิตด้วย ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ ต่างก็เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ และล้วนเป็นเป็นอนัตตา คือไม่ใช่ตัวตน หรือไม่มีตัวตนที่เที่ยงแท้ มิอาจควบคุมบังคับบัญชาให้เป็นไปตามใจอยากได้ ทั้งหมดมีลักษณะเดียวกัน คือไตรลักษณ์ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความจริงเช่นนี้ต้องเห็นด้วยปัญญา อันเกิดจากการบำเพ็ญทางจิต ขณะเดียวกันการตรัสรู้ยังหมายถึงการรู้ถึงเหตุแห่งทุกข์ และทางดับทุกข์ ทำให้จิตพ้นทุกข์ หลุดพ้นจากการครอบงำของอวิชชาที่ทำให้มืดมน การตรัสรู้ของพระองค์จึงทำให้เกิดความสว่างไสวแก่จิตใจ เพราะเห็นและเข้าใจความจริงจนหลุดพ้นจากความทุกข์ได้
เราควรเจริญรอยตามพระพุทธองค์ ด้วยการใช้ช่วงเวลาที่พระองค์ตรัสรู้ในการน้อมรับธรรม ใคร่ครวญพิจารณาธรรม หรืออย่างน้อยก็ปลุกใจเราให้สว่างในยามที่ผู้คนยังหลับใหล ใหม่ๆ เราอาจจะยังไม่คุ้น ยังรู้สึกง่วงและหนาว แต่ถ้าเราทำเป็นกิจวัตรใจก็เริ่มสว่างขึ้น โดยที่ความฟุ้งซ่านยังไม่รบกวน ใจจึงสงบและเบา ต่อไปใจก็จะวิเวก เกิดความพึงพอใจในความสงบสงัดนั้น เมื่อเราได้เห็นอรุณรุ่ง ได้เห็นแสงเงินแสงทองจับขอบฟ้า เห็นโลกเริ่มสว่างไสว ก็จะพบว่านี้เป็นบรรยากาศที่สวยงามมาก เห็นเสน่ห์ของการตื่นแต่เช้ามืด แม้ในกรุงเทพฯ บรรยากาศอาจไม่งดงามเท่าชนบท แต่อาตมาเชื่อว่าภาพที่ปรากฏแก่สายตาและใจของเราจะเป็นภาพที่งดงามที่เราควรซึมซับเพื่อเป็นกำลังใจในการทำงานตลอดทั้งวัน
ตอนที่อาตมาเป็นฆราวาส เวลาที่รู้สึกเหนื่อย ท้อแท้จากทำงาน แล้วตื่นขึ้นมาเห็นท้องฟ้ายามรุ่งอรุณ จะรู้สึกว่าจิตใจมีกำลังขึ้นมา มีกำลังใจที่จะทำงาน กล้าฟันฝ่าอุปสรรคที่รออยู่ข้างหน้า อาตมาจึงอยากให้พวกเราได้สัมผัสกับบรรยากาศแบบนี้บ้าง เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่พวกเรา ยิ่งกว่านั้นกำลังปัญญาก็อาจจะเพิ่มขึ้นด้วย กำลังใจกับกำลังปัญญานั้นไม่เหมือนกัน กำลังใจคือจิตใจที่มีพลัง แน่วแน่ มั่นคง ไม่ท้อถอยส่วนกำลังปัญญาคือความเข้าในความจริงของชีวิตและโลก ทำให้แกล้วกล้า ไม่หวาดกลัว เพราะรู้ว่าจะวางใจหรือปฏิบัติอย่างไรต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ยิ่งถ้ามีความเข้าใจอย่างแจ่มชัดในเรื่องทุกข์ รู้จักทุกข์ดี ก็จะไม่กลัวทุกข์เลย การสวดมนต์ทำวัตรเช้า นอกจากทำให้เกิดกำลังสมาธิแล้ว ยังสามารถเพิ่มพูนปัญญาให้แก่เรา ถ้าเราพิจารณาตามไปด้วย มีหลายตอนที่หากพิจารณาตาม เราก็จะรู้ความจริงเกี่ยวกับชีวิต และมีหลักในการดำเนินชีวิตโดยไม่ทุกข์
บทสวดมนต์ตอนเช้าได้สาธยายเรื่องความทุกข์ว่าได้แก่อะไรบ้าง ที่สำคัญคือทำให้เรารู้ว่าทุกข์เกิดจากอะไร ดังที่เราสวดมนต์ตอนหนึ่งว่า “ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือตัวทุกข์” ขันธ์ที่ว่านี้ก็คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รูปได้แก่ร่างกายและสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับร่างกาย ร่างกายนี้เป็นทุกข์อยู่แล้ว ทำให้เราต้องกินอาหาร ถ้าไม่กินก็หิว เราต้องหาเสื้อผ้ามาห่ม ไม่ห่มก็หนาวหรือไม่ก็ร้อน ร่างกายนี้ไม่ยั่งยืน มันต้องแปรสภาพไป ที่จริงทุกอย่างทั้งรูปธรรมและนามธรรม ล้วนไม่ยั่งยืน แปรเปลี่ยนเป็นนิจ เพราะถูกบีบคั้นด้วยความทุกข์ ความสุขก็เป็นทุกข์เหมือนกัน เป็นทุกข์ในความหมายที่ว่า มันไม่อาจคงอยู่ในสภาพเดิมได้เพราะถูกบีบคั้นให้ต้องเสื่อมสภาพไป ทั้งหมดนี้ถ้าเรายึดติดถือมั่นก็ทำให้เป็นทุกข์ได้ เพราะเป็นสิ่งไม่เที่ยง เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำให้เป็นสุขได้อย่างแท้จริง ถ้าไปหมกมุ่นจมปลักอยู่กับมัน ก็ย่อมเป็นทุกข์
เหตุการณ์ร้ายๆ ที่ผ่านไปแล้ว ถ้าเราไม่นึกถึงเราก็ไม่ทุกข์ แต่พอนึกถึงเราก็ทุกข์ทันที นั่นก็เพราะหมกมุ่นกับมัน หรือแม้แต่สิ่งดีๆ เช่น วันคืนอันชื่นบานที่ได้อยู่กับคนรัก พ่อแม่ เพื่อน นึกถึงวัยเด็กอันสดใส พอนึกถึงก็อาลัยอาวรณ์ขึ้นมา นั่นก็เป็นทุกข์อีกแบบหนึ่ง รวมถึงเงินทอง ทรัพย์สมบัติที่เคยให้ความสุขแก่เรา แต่ตอนนี้สูญหายไปแล้ว นึกถึงมันก็ทุกข์ทันที อันนี้เป็นเพราะยึดมั่นมัน มันกลายเป็นอดีตไปแล้ว แต่เราไม่ยอมปล่อยวาง ก็เลยเป็นทุกข์ มีคนทุกข์เพราะเหตุนี้มากมาย
อดีตผ่านไปแล้ว ก็ปล่อยให้มันผ่านเลยไปเหมือนสายลม แต่หากไม่ยอมปล่อยวาง มัวแต่หมกมุ่นครุ่นคิดถึงมัน ก็ไม่ต่างจากการเอามีดทิ่มแทงใจตัวเอง เหตุการณ์ในอนาคตก็เช่นเดียวกัน ถ้าคิดถึงมัน ก็อาจทำให้วิตกกังวล เช่น กังวลว่าจะตกงาน เกิดภัยพิบัติ บางคนกังวลว่าลูกจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ ทั้งที่ลูกยังไม่ทันสอบเลย แม่ก็ทุกข์แล้วเพราะมัวแต่กลัวว่าลูกจะสอบไม่ได้ บางคนไปตรวจสุขภาพ อีกตั้งหลายวันกว่าจะรู้ผล แต่ก็เป็นทุกข์เสียแล้วจนกินไม่ได้นอนไม่หลับเพราะกลัวว่าตัวเองจะเป็นมะเร็ง นี่เรียกว่าทุกข์เพราะไปยึดติดกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง คนที่กลัวกลัวผีหรือความตายก็เช่นกัน ล้วนแต่กลัวสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น
วันๆ หนึ่งเราทุกข์เพราะยึดติดกับอดีตและอนาคตไม่รู้กี่ครั้ง ถ้าเราปล่อยวางมันได้ เช่น อนาคตยังมาไม่ถึงอย่าเพิ่งไปคิดถึงมัน เราก็จะสบายใจ ยังไม่ถึงวันชำระหนี้ จะไปคิดถึงมันให้เป็นทุกข์ทำไม ถ้าไม่หวนคิดถึงอดีต ไม่เก็บเอาคำพูดของคนบางคนมาคิด เราก็สบายใจ พระพุทธเจ้าทรงสอนให้อยู่กับปัจจุบัน แต่ก็อย่าไปยึดติดกับปัจจุบัน อย่างตอนนี้อากาศหนาวเย็น แต่ให้รู้เฉยๆ ว่ามันหนาว ถ้าใจเราไปอยู่กับความหนาวก็จะยิ่งทุกข์ ขณะที่ฟังพระเทศน์อยู่ ถ้ามีใครพูดคุยกัน หรือมีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น ถ้าใจเราไปยึดติดกับเสียงนั้น เราก็จะทุกข์ เพราะถูกความหงุดหงิดขุ่นเคืองใจเล่นงาน ฟังเทศน์ไม่รู้เรื่องเพราะใจมัวคิดว่าเมื่อไหร่จะเขาหยุดพูดหรือปิดเสียงโทรศัพท์สักที
ถ้าเราไม่รู้จักปล่อยวางเราก็จะทุกข์ ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าอย่าไปยึดติดนั้นไม่ได้หมายความว่าปล่อยปละละเลย ไม่รู้ไม่ชี้ ปล่อยวางนั้นไม่ได้ตรงข้ามกับความรับผิดชอบ มีงานที่รับผิดชอบ ก็ต้องทำต่อไปให้เสร็จ แต่ก็ควรทำด้วยใจที่ปล่อยวาง ไม่มัวคิดถึงผลที่จะเกิดขึ้น ผลงานเป็นเรื่องอนาคต อย่าเพิ่งไปกังวลสนใจ เราควรทำปัจจุบันให้ดีที่สุด และเมื่อผลงานออกมา ก็อย่าไปยึดติดถือมั่นว่ามันเป็นของเรา ไม่เช่นนั้นจะเป็นทุกข์เวลางาน “ของกู” ถูกวิจารณ์ หรือไม่มีคนสนใจงาน “ของกู” คนเราทุกข์เพราะความยึดมั่นเยอะแล้ว ทุกข์เพราะใจที่แบกไว้ไม่ยอมปล่อย
บางเรื่องเราปรุงแต่งขึ้นมาเอง แล้วก็หลงเชื่อสิ่งที่เราปรุงแต่ง คิดว่าเป็นเรื่องจริง เสร็จแล้วแบกเอาไว้ ถ้าเป็นเรื่องดีก็แล้วไป แต่ถ้าเป็นเรื่องไม่ดี ก็จะเป็นทุกข์ เช่น เห็นแฟนของเราอยู่กับหญิงสาวคนหนึ่งในร้านอาหาร เราก็ปรุงแต่งไปทันทีว่าแฟนนอกใจ เราก็เลยโมโหหรือเสียใจ นี้เป็นทุกข์ก็เพราะยึดติดกับเรื่องปรุงแต่ง เดินกลางคืน เห็นเงาของรากต้นไม้ ก็ปรุงแต่งว่าเป็นงู ทันทีที่ปรุงแต่งเราก็ขนลุกขวัญผวาเลยใช่ไหม
มีหลายคนที่ทะเลาะวิวาทกับเพื่อนหรือคนรักก็เพราะหลงยึดมั่นกับสิ่งปรุงแต่งจากใจเรา สองสามปีก่อน มีวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งเข้ามาทานอาหารในร้านแห่งหนึ่ง พวกเขานั่งอยู่ตรงชานนอกที่เปิดโล่ง ระหว่างที่ภรรยาเจ้าของร้านเดินผ่าน ปรากฏว่านกบินผ่านมาพอดีแล้วขี้ลงบนศีรษะคนหนึ่งในกลุ่ม วัยรุ่นคนนั้นคิดไปว่าภรรยาเจ้าของร้านถ่มน้ำลายรดเขา ก็เลยไม่พอใจ เกิดทะเลาะวิวาทเกือบจะลงไม้ลงมือกัน เจ้าของร้านเอามีดขู่ พวกวัยรุ่นจึงหนีไป สักพักก็แห่กันกลับมาใหม่ คราวนี้เอาปืนมาด้วย มีการยิงกัน ผลที่สุดภรรยาเจ้าของร้านตาย เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นเพียงเพราะขี้นก แต่เจ้าตัวกลับปรุงแต่งว่าภรรยาเจ้าของร้านถ่มน้ำลายรดหัว ถ้ารู้ว่ามันเป็นแค่เรื่องปรุงแต่งก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่พอไปยึดมั่นว่าเป็นเรื่องจริง ก็เป็นเรื่องขึ้นมาทันที
ขอให้เราลองพิจารณาชีวิตที่ผ่านมา ว่าเราทะเลาะเบาะแว้ง โดยมีสาเหตุมาจากการยึดติดถือมั่นกับความคิดปรุงแต่งของเราบ้างหรือเปล่า เท่าที่ยกตัวอย่างให้ฟังคงเห็นกันแล้วว่า ความทุกข์นั้นไม่ได้เกิดจากคนอื่นแต่เกิดจากความคิดของเรา เหตุการณ์เลวร้ายต่างๆ ที่ผ่านไปแล้ว ถ้าไม่คิดถึงมันเราก็ไม่ทุกข์ อะไรที่ยังไม่เกิด ถ้าไม่คิดถึงมัน ไม่กังวลถึงมันเราก็ไม่ทุกข์ แต่คนเราเผลอคิดไปโดยไม่รู้ตัว พอทุกข์ขึ้นมาก็มักจะโทษคนอื่นแทนที่จะโทษตนเอง
ถ้าไม่อยากทุกข์ก็ควรรู้จักปล่อยวาง เวลาใจฟุ้งปรุงแต่งเผลอไปอดีตหรืออนาคต ก็มีสติรู้ทัน สตินั้นสามารถทำให้เกิดปัญญาตามมา ช่วยทักท้วงใจเราได้ เช่น เวลาปรุงแต่งว่าแฟนนอกใจเรา ถ้าเรารู้ทันว่ามันเป็นแค่ความคิด ไม่ใช่ความจริง หรือมีการทักท้วงขึ้นมาว่า แน่ใจหรือว่ามันเป็นความจริง ก็จะทำให้เราไม่หลงเชื่อความคิด หรือถูกมันบงการจนเผลอทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง การทักท้วงแบบนี้ต้องอาศัยสติและปัญญา ปัญญาในที่นี้หมายถึงการรู้จักสรุปบทเรียนจากประสบการณ์ที่ผ่านมา เช่น ทำให้เรารู้ว่าเราก็เคยเข้าใจผิดไม่รู้กี่ครั้ง บทเรียนแบบนี้ช่วยให้เราเกิดปัญญาและรู้จักทักท้วงตัวเองเวลาคิดอะไรไปในทางร้ายได้
เวลาเราทักทายเพื่อน แต่เพื่อนกลับไม่สนใจเรา เมินเฉย เหมือนไม่รู้จักเรา ความรู้สึกอย่างแรกที่เกิดขึ้นก็คือโกรธ คิดว่าเพื่อนหยิ่งยโส หรือไม่พอใจเรา พอคิดแบบนี้เราก็รู้สึกไม่ดีกับเพื่อนขึ้นมาทันที ทำให้ความสัมพันธ์ของเรากับเพื่อนแย่ลง แต่ถ้าเรามีสติรู้ทันความคิด ก็จะทักท้วงใจตัวเองว่า เขาอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด เขาอาจจะมองไม่เห็นเรา หรืออาจจะกำลังกลุ้มอกกลุ้มใจอยู่ก็ได้ ถ้าเราทักท้วงแบบนี้บ้าง เราจะไม่หลงเชื่อความคิดทีเดียว กลับจะทำให้เราสนใจอยากรู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร อาจไปถามเขาว่า มีอะไรไม่สบายใจอยู่หรือเปล่า สุดท้ายอาจได้คำตอบว่าเพื่อนเรากำลังกลุ้มใจที่พ่อป่วยอยู่ แทนที่จะโกรธเรากลับเห็นใจเขา เราต้องรู้จักทักท้วงความคิดของเราบ้าง ไม่อย่างนั้นอาจเกิดความเข้าใจผิดกัน แล้วเกิดความเสียหายตามมา
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย เป็นครูบาอาจารย์ทางวิปัสสนากรรมฐานที่มีชื่อเสียงมาก ท่านเล่าว่าตอนที่ท่านยังหนุ่มวันหนึ่งขณะที่เดินบิณฑบาต เห็นผู้หญิงคนหนึ่งยืนรอใส่บาตรอยู่ มีลูกชายอายุประมาณห้าขวบอยู่ข้างๆ เมื่อท่านเดินเข้าไปใกล้ผู้หญิงคนนั้น ลูกของเธอก็พูดขึ้นมา “มึงไม่ใช่พระ มึงไม่ใช่พระ” ท่านโกรธขึ้นมาทันที แต่ท่านมีสติรู้ทันความโกรธ แล้วก็คิดขึ้นมาได้ “ใช่สินะ เราไม่ใช่พระ ถ้าเราเป็นพระเราต้องไม่โกรธ” พอท่านนึกอย่างนี้ขึ้นมาความโกรธก็หายไป แล้วท่านก็เดินไปรับบาตรกับแม่เขาตามปกติ อันที่จริงแล้ว เด็กจะพูดอะไรถ้าใจเราไม่ปรุงแต่งก็ไม่มีอะไร แต่ถ้าเราไม่มีสติ ไปยึดติดกับคำพูดของเด็กก็จะเกิดความโกรธจนกลายเป็นเรื่องเป็นราวได้
คนที่เป็นครูลองคิดแบบนี้ก็ดีนะ เวลาเจอเด็กพูดหยาบคาย ลองคิดแบนี้บ้างว่า ถ้าเราเป็นครู เราต้องไม่โกรธ เป็นพ่อแม่ เราต้องไม่โกรธ เป็นผู้ใหญ่ต้องหนักแน่น คิดแบบนี้ทำให้ใจสบาย หลวงพ่อพุธบอกว่า ท่านถือว่าเด็กคนนี้เป็นอาจารย์ของท่าน เพราะฝึกให้ท่านให้รู้ทันอารมณ์ มีสติ มีความสังวรในความเป็นพระ อาจารย์ของเราไม่จำเป็นต้องเป็นหลวงพ่อ เด็กๆ ก็เป็นอาจารย์ของเราได้ ลูกศิษย์ของเราก็เป็นอาจารย์ของเราได้ ลูกเราก็เป็นอาจารย์ของเราได้ คนฉลาดนั้นสามารถเรียนรู้ได้จากทุกคนและทุกสิ่ง แม้ว่าเขาจะมีการศึกษาน้อยกว่า หรือเป็นคนบ้า
อยากจะให้เราลองใคร่ครวญให้มาก เวลาที่มีความทุกข์ อย่าเผลอส่งจิตไปข้างนอก โทษคนโน้นคนนี้อย่างเดียว ให้ย้อนกลับมาดูใจของเรา แล้วก็จะพบว่า เป็นเพราะความยึดมั่นถือมั่นในอดีตหรืออนาคต รวมทั้งยึดติดถือมั่นในความคิดปรุงแต่งของเราเอง สิ่งเหล่านี้แหละเป็นตัวการสำคัญทำให้ทุกข์ ก็อย่างที่บอกไว้แล้วว่า ใจวิบัติน่ากลัวกว่าภัยพิบัติ จึงขอให้เรามีสติ ระแวดระวังใจของเราบ้าง