จงถามเด็กไทยให้น้อยลงว่า “อยากได้อะไร?” แต่จงถามเด็กไทยให้มากขึ้นว่า “อยากทำอะไร?”
จาก “อยากทำอะไร” ก็ก้าวต่อไปว่า “อยากรู้ว่าจะทำอย่างไร” และ “จะต้องรู้อะไร?” แล้วพ่อแม่ก็คอยหนุนและให้เพื่อสนองความใฝ่รู้และใฝ่สร้างสรรค์นี้ โดยช่วยโยงการรู้และการสร้างสรรค์นั้นไปเชื่อมต่อกับกุศลให้ได้ต่อไป…
เมื่อเปรียบเทียบระหว่างประเทศหรือสังคมต่างๆ ในโลก เราเป็นประเทศผู้บริโภคเทคโนโลยี ในขณะที่บางประเทศเขาเป็นผู้ผลิตเทคโนโลยี นี่เราก็เสียเปรียบขั้นหนึ่งแล้ว ทีนี้พอเราบริโภคเทคโนโลยี คือนำเทคโนโลยีมาใช้ ก็มีปัญหาในการใช้อีกว่าใช้เพื่ออะไร การใช้แบบไหนมากในสังคมไทย
การใช้มี ๒ แบบ คือการใช้เพื่อเสพ กับการใช้เพื่อศึกษาและสร้างสรรค์ เราดูตั้งแต่ประชาชนทั่วไป ดูผู้ใหญ่ ดูเด็กนักเรียนในโรงเรียน จนกระทั่งถึงในบ้าน ในครอบครัว ว่าใช้เทคโนโลยีกันแบบไหน แต่ต้องรู้จักแยกก่อนว่า การใช้เพื่อเสพ กับการใช้เพื่อศึกษาและสร้างสรรค์ต่างกันอย่างไร พอแยกได้ปั๊บ เราจะเห็นคนไทยทันทีเลยว่า
กิจกรรมดูหนังหาแก่นธรรม สวนโมกข์กรุงเทพ
ในการใช้เพื่อเสพ กับใช้เพื่อศึกษาและสร้างสรรค์นั้น เปอร์เซ็นต์ในการใช้ 2 แบบนี้ จะต้องสมดุล ขณะนี้เราเสียดุลอย่างหนัก เราใช้เพื่อเสพแทบจะ 90% คือหมดดุลเลย การใช้เพื่อศึกษาและสร้างสรรค์แทบไม่มี
แม้แต่เด็กๆ เล็กๆ มาที่วัด เมื่อคุยกับเด็ก ลองถามดูว่าหนูดูทีวีวันละกี่ชั่วโมง ก็ได้คำตอบว่า ดูวันธรรมดาเท่านี้ ชั่วโมง เสาร์-อาทิตย์เท่านี้ชั่วโมง ทีวีเป็นอุปกรณ์เทคโนโลยี หนูใช้มัน หนูดูมันเพื่อเสพกี่เปอร์เซ็นต์ เพื่อศึกษากี่เปอร์เซ็นต์
เด็กคนหนึ่งอยู่ ป. 5 อาตมาถามแกว่า หนูดูทีวีนี้ดูเพื่อเสพกี่เปอร์เซ็นต์ เพื่อศึกษากี่เปอร์เซ็นต์ แกบอกอาตมาว่า หนูดูเพื่อเสพ 99% อาตมาก็ถามแกต่อไปว่า แล้วการดูทีวี เพื่อเสพกับเพื่อศึกษา อย่างไหนถูกต้องกว่ากัน แกก็บอกว่าดูเพื่อศึกษาถูกต้อง แล้วทำไมหนูดูเพื่อเสพตั้ง 99% จะถูกหรือ เด็กบอกว่าไม่ถูก ก็ถามว่าแล้วจะทำอย่างไร ถ้าไม่ถูก เรามาแก้ไขปรับปรุงกันเอาไหม เด็กบอกว่า เอา
ถ้าอย่างนั้นเราลองมาช่วยกันคิดซิว่า เราจะค่อยๆ พัฒนาขึ้นไป ลองเริ่มว่า ตอนนี้จะเอาเสพกี่เปอร์เซ็นต์ ศึกษากี่เปอร์เซ็นต์ เด็กตอบว่า เอา 50/50 เราก็รู้ว่าเด็กตอบเอาใจพระ ก็บอกว่า หนู พระไม่เรียกร้องจากเด็กมากอย่างนั้นหรอก เห็นใจ สังคมของเรามันก็เป็นอย่างนี้ ผู้ใหญ่ทำมาเป็นตัวอย่าง เรามาตกลงกัน ลองวางดูซิ เอาแค่ให้ข้างศึกษามันเพิ่มขึ้นหน่อย
ในที่สุดก็ตกลงกันได้ว่า ให้ดูเพื่อเสพ 70% ดูเพื่อศึกษา 30% จากขั้นนี้เราค่อยๆ ก้าวต่อ แต่มันจะเป็นไปเอง ถ้าเด็กเริ่มใช้เทคโนโลยี เช่น ดูทีวีเพื่อศึกษามากขึ้น เขาจะพัฒนาความใฝ่รู้ แล้วเขาจะมีความสุขจากการเรียนรู้ แล้วเขาจะเพิ่มเปอร์เซ็นต์ในการใช้เพื่อศึกษา แล้วจากการใช้เพื่อศึกษาก็จะก้าวอีกขั้นหนึ่ง ไปสู่การใช้เพื่อสร้างสรรค์ เชื่อไหม มันจะต่อกัน แต่ถ้าใช้เพื่อเสพก็จะตันอยู่ที่นั่นเอง วนเวียนอยู่ในสังสารวัฏแห่งความยินดียินร้ายชอบชัง แต่ถ้าใช้เพื่อศึกษาเขาจะก้าวต่อไปสู่การสร้างสรรค์
เด็กอีกคนหนึ่งอยู่ ป.4 คุณพ่อเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย มีคอมพิวเตอร์ให้ใช้ ก็ถามแกว่า ที่หนูใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีคือคอมพิวเตอร์นี้ หนูใช้เพื่อเสพหรือเพื่อศึกษา เด็กบอกว่าหนูก็ใช้เพื่อเสพซิ ใช้เพื่อเสพอย่างไรล่ะ ก็เล่นเกมส์ซิ ก็ถามว่าทำไมไม่ใช้เพื่อศึกษาล่ะ เช่น หัดพิมพ์ดีด เด็กก็ว่ามันไม่สนุก อย่างนี้เป็นต้น
แน่นอนว่า การเล่นเกมส์เป็นประโยชน์แก่เด็กไม่น้อย (เป็นธรรมดาอยู่แล้วว่า การเล่นโดยทั่วไป เป็นกิจกรรมที่ช่วยการพัฒนาของเด็ก) โดยเฉพาะเกมส์บางอย่างช่วยฝึกสมองได้มาก แต่พร้อมกับประโยชน์มันก็มีโทษด้วย และการที่จะมีประโยชน์มากหรือน้อย มีโทษมากหรือน้อย และมีประโยชน์หรือโทษมากกว่ากันนั้น ย่อมขึ้นต่อเงื่อนไขหลายอย่าง เช่น เกมส์ที่เล่นเป็นเกมส์อะไร ผู้ออกแบบทำขึ้นมาจากสภาพจิตและเจตจำนงที่มุ่งอะไร เด็กเล่นอย่างไร เด็กมีความรู้คิดแค่ไหน อยู่ในความดูแลชี้แนะนำทางหรือไม่อย่างไร เล่นภายในขอบเขตหรือโดยสมดุลกับกิจกรรมการศึกษาและสร้างสรรค์อย่างอื่นหรือไม่ อิทธิพลและผลสะท้อนในทางชักจูงหรือก่อพฤติกรรม ความคิด จิตนิสัยหรือสภาพจิต แต่ละด้านๆ เป็นอย่างไร คุ้มหรือไม่ เด็กใฝ่หรือยอมรับกิจกรรมทางเลือกอื่นที่ดีกว่าได้แค่ไหน มีการคุมให้ได้ผลที่พึงประสงค์ เช่นใช้เป็นสื่อนำสู่สิ่งที่เป็นสาระแท้ได้เพียงใด และที่สำคัญยิ่ง ซึ่งมักมองข้ามกันไป ก็คือความหมกมุ่นกับเทคโนโลยีเกินพอดี ที่ทำให้เด็กห่างเหินหรือถึงกับแปลกแยกจากธรรมชาติ และแม้แต่จากเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
เวลานี้ คนชอบอ้างรายงานผลการวิจัยในเรื่องต่างๆ เช่นในด้านเทคโนโลยี ซึ่งก็มีประโยชน์ แต่ก็ต้องระวัง ไม่เฉพาะผลการวิจัยที่รับใช้ธุรกิจอุตสาหกรรมเท่านั้น แม้แต่การวิจัยที่บริสุทธิ์ก็มักเจาะหาความจริงเฉพาะแง่เฉพาะด้าน หรือแม้แต่เฉพาะจุด ซึ่งจะต้องมองให้พอดีกับสถานะของมัน
หันกลับมาเรื่องเก่า เด็กชุดนี้ตกลงไปแล้ว ต่อมาอีกชุดหนึ่งๆ ก็ใกล้ๆ กัน เฉลี่ยใช้เทคโนโลยีเพื่อเสพอย่างน้อย 80% เราลองดูผู้ใหญ่ซิเป็นอย่างไร ผู้ใหญ่ไทย ใช้เพื่อเสพมาก หรือใช้เพื่อศึกษามากกว่า จะต้องเริ่มที่นี่ก่อน เช่นอย่างดูทีวี ปรากฏว่าใช้เพื่อดูการบันเทิง ใช้ดูมวยตู้ เสียมาก แม้แต่การใช้เราก็พลาดแล้ว ฉะนั้น จะต้องมีเปอร์เซ็นต์ของการใช้เพื่อศึกษาและสร้างสรรค์ให้เพิ่มขึ้น แล้วต่อไปการมีความสุขก็จะสัมพันธ์กับการใช้นี้ด้วย เพราะเมื่อเราพัฒนาการใช้ ก็จะนำไปสู่การมีความสุขที่ต่างกันตามวิธีใช้นั้นด้วย คือ ความสุขจากการเสพเทคโนโลยี กับความสุขจากการศึกษาและสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยี
ความสุขจากการศึกษาและสร้างสรรค์ คือความสุขจากการสนองความต้องการในการใฝ่รู้ และความสุขจากการสนองความต้องการในการทำสิ่งทั้งหลายให้มันดี ถ้ามีความสุขแบบนี้ การพัฒนาจะเกิดขึ้นเอง เพราะเราพัฒนาคนอย่างถูกต้อง
เอาละ ตอนนี้เห็นได้แล้วว่าสังคมไทยจะต้องแก้ไขเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยี เริ่มต้นตั้งแต่การใช้เพื่อเสพกับการใช้เพื่อศึกษาและสร้างสรรค์
เวลานี้ เด็กหาความสุขจากการเสพเทคโนโลยีมาก ต่อไปการศึกษาตั้งแต่ในบ้าน จะต้องมุ่งเน้นที่จะช่วยให้เขามีความสุขจากการใช้เทคโนโลยีทำการสร้างสรรค์ เด็กที่พัฒนาจะมีความสุขแบบนี้ คือความสุขจากการใช้เทคโนโลยีทำการสร้างสรรค์ หรือความสุขจากการสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยี เขาจะมีความสุขจากการใช้คอมพิวเตอร์สร้างงาน ไม่ติดอยู่กับการหาความสุขจากการใช้คอมพิวเตอร์เล่นเกมส์ เขาจะใช้เทคโนโลยีทำการสร้างสรรค์ต่างๆ ขึ้นมา
ถ้าเด็กมาถึงขั้นนี้ พ่อแม่อุ่นใจสบายใจได้ และสังคมของเราก็มีหวังที่จะพัฒนา แต่ถ้าเด็กยังหาความสุขจากการเสพเทคโนโลยีแล้ว ให้ระวังเถิด มันจะไปจบที่ยาบ้า เพราะเป็นพวกเดียวกัน
การหาความสุขจากการเสพเทคโนโลยี ก็คือการหาความสุขจากการเสพชนิดหนึ่ง ซึ่งอยู่ในเครือเดียวกันกับการเสพยาเสพติด เพราะจะต้องเพิ่มแรงกระตุ้น โดยปริมาณและดีกรีของสิ่งเร้าให้มากขึ้น เพื่อให้ได้ความสุขเท่าเดิม ซึ่งจะนำไปสู่การพึ่งพาหรือขึ้นต่อเทคโนโลยี
ถ้าเพิ่มแรงกระตุ้นเร้าไม่ทันหรือไม่พอ เกิดเบื่อหน่ายขึ้นมา เมื่อชีวิตและความสุขขึ้นอยู่กับการเสพเทคโนโลยีและวัตถุบำรุงบำเรอแล้ว พอเบื่อเทคโนโลยีและวัตถุเสพ ก็พลอยเบื่อหน่ายอยากหนีชีวิตด้วย แล้วก็เลยเปิดช่องที่จะพาต่อไปหายาเสพติด และชีวิตก็อาจจะจบที่นั่น หรืออาจจะไปจบที่สิ่งเสพติดทางจิต ที่มาในรูปของลัทธิความเชื่อและวิธีปฏิบัติลี้โลกหลบชีวิตแบบต่างๆ ย้ายจากปลายสุดข้างหลงโลก กลายเป็นหล่นจากโลกไปเลย
ในทางตรงข้าม ถ้าคนมีความสุขจากการศึกษาและสร้างสรรค์แล้ว เขาจะพ้นจากวิถีทางที่ผิดนั้น นี่คือเนื้อแท้สำคัญส่วนหนึ่งของการศึกษา เป็นการแก้ปัญหาที่ได้ทั้งการพัฒนาคน และพัฒนาประเทศชาติ ทั้งพัฒนาจิตใจและพัฒนาเศรษฐกิจ ครบหมด ความเป็นนักศึกษาและสร้างสรรค์ทำให้ก้าวพ้นไปได้จากความสุขที่ขึ้นต่อสิ่งเสพ สู่อิสรภาพและความสุขที่สูงขึ้นไป
อย่างน้อยควรระลึกไว้ว่า คุณค่าของเทคโนโลยีมิใช่อยู่แค่การได้มีสิ่งเสพบริโภคอำนวยความสะดวกสบาย แต่เทคโนโลยีมีคุณค่าอยู่ที่การพัฒนาคน คือเป็นเครื่องช่วยเกื้อหนุนอำนวยโอกาสให้คนสามารถพัฒนาศักยภาพที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีงาม นำชีวิตและสังคมเข้าถึงความสุขและอิสรภาพที่ลึกและกว้างยิ่งขึ้นไป
การมีเทคโนโลยีต้องหมายถึงการมีเครื่องช่วยพัฒนาปัญญา อย่างน้อยการพัฒนาเทคโนโลยี จะต้องคู่เคียงกันไปกับการพัฒนาอินทรีย์ มิใช่กลายเป็นว่า เทคโนโลยียิ่งก้าวหน้า อินทรีย์คือตา หู มือ สมองของคน ยิ่งหมดความละเอียดไวเฉียบคม ความขัดเกลา และความอ่อนโยนนุ่มนวล กลายเป็นอินทรีย์ที่ทื่อหยาบด้านกระด้างหื่นกระหายก้าวร้าวรุนแรง ที่จะถูกชักพาไปด้วยแรงความอยากความปรารถนาของความใฝ่เสพบริโภค และการทำลายล้างเพื่อแย่งชิงผลประโยชน์กัน
เมื่อการพัฒนาคนถูกต้อง ก็แก้ปัญหาทีเดียวครบตลอดกระบวนการ แต่ถ้าพัฒนาผิดแล้วก็วุ่นอยู่ในวังวนนั่นเอง เวลานี้น่ากลัวว่า การศึกษาและการพัฒนาคนจะกลายเป็นการพัฒนาความใฝ่เสพไปเสีย โดยนึกว่าถ้าคนมีความใฝ่เสพแล้ว เขาจะแข่งขันเก่ง จะตั้งใจทำงานทำการ แต่เปล่า ผิดเต็มประตูเลย เพราะจับปัจจัยที่แท้ไม่ได้
เมื่อคนมีความใฝ่เสพสูง สังคมก็มีแต่คนที่ส่วนใหญ่เป็นนักบริโภค กลายเป็นสังคมบริโภค โดยเฉพาะเมื่อเป็นเรื่องของสิ่งของเครื่องใช้ทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นของที่ต้องผลิต สังคมผู้บริโภคเทคโนโลยีก็กลายเป็นสังคมผู้ซื้อโภคภัณฑ์เทคโนโลยี และเมื่อเป็นประเทศกำลังพัฒนา ก็มักกลายเป็นผู้ซื้อและเป็นผู้บริโภคหางแถว ที่นอกจากตามเขาล้าหลังท้ายสุดแล้ว ก็จะใช้ของที่แพงที่สุดด้วย เพราะผ่านเบี้ยบ้ายรายทางมากที่สุด
เมื่อความเป็นผู้บริโภคหางแถว มาบวกเข้ากับความเป็นประเทศหรือสังคมที่กำลังพัฒนา ความด้อยหรือความเสียเปรียบก็ยิ่งหนักหนา จนกระทั่งว่า ถ้าไม่มีหลักและวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง ก็จะกลายเป็นเครื่องผูกรัดมัดตัวให้จมอยู่ภายใต้ความล้าหลังและความด้อยพัฒนานั้นอย่างยั่งยืนหรือยิ่งต่ำลงไป
ความด้อยหรือความเสียเปรียบมีหลายด้าน แต่ที่เห็นชัดเห็นง่ายก็คือด้านเศรษฐกิจ เช่นอย่างคนไทยที่ซื้อผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีมาใช้ เมื่อเทียบกับคนในประเทศพัฒนาแล้วเช่นอย่างอเมริกา จะมีฐานะเป็นผู้มีรายได้ต่ำ แต่ซื้อของแพง หรือได้น้อยแต่จ่ายมาก
ยกตัวอย่าง คนไทย เมื่อเติบโตขึ้นและจะเริ่มต้นชีวิตของตนเอง เช่น จบการศึกษาแล้วจะเริ่มทำการงาน โดยเฉพาะผู้ที่จะเริ่มทำธุรกิจ ก็มักจะคิดถึงการมีรถยนต์ส่วนตัว ทั้งนี้ด้วยเหตุผลทางค่านิยม (ไม่ว่าจะโดยถูกบีบ หรือถูกกลืน หรือโดยหลงใหลเองก็ตาม) ผสมกับปัญหาการจราจร
ถ้าเป็นคนที่มีรสนิยมพอจะสูงสักหน่อย (ไม่ถึงกับสูงทีเดียว) ก็จะซื้อรถยี่ห้อที่นิยมกันว่าเป็นชั้นดี เอาแค่ราคาไม่ถึงล้าน สัก 9 แสน 6 หมื่นบาท ซึ่งถ้าซื้อในอเมริกา รถคันเดียวกันนี้ มีราคาประมาณ 25,000 ดอลลาร์ คือ 6 แสนบาทเศษ ถ้าคนไทยวัยหนุ่มสาวผู้นั้นจบการศึกษาปริญญาโท ทำงานเอกชน มีรายได้ดีพอควร ได้เงินเดือนสูงถึงหมื่นห้าพันบาท เก็บเงินเดือนไว้ทั้งหมด ไม่ใช้กินอยู่อย่างอื่นเลย (คงจะเป็นไปไม่ได้) และไม่นับเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นตามเวลา จะต้องรอถึงเกือบ 5 ปีครึ่ง จึงจะซื้อรถคันนั้นด้วยเงินสดได้
ยิ่งถ้าเข้ารับราชการ ได้เงินเดือน 8 พันบาท จะต้องเก็บเงินไม่ใช้เลย นานถึง 10 ปี จึงจะซื้อได้ แต่คนในประเทศอเมริกา จบปริญญาโท ทำงานได้เงินเดือนระดับทั่วไปเดือนละ 2,500 ดอลลาร์ เขาเก็บเงินเพียง 10 เดือน ก็ซื้อรถยนต์ค่อนข้างดีคันเดียวกันนั้นได้แล้ว
แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าเรื่องของถูกรายได้สูงของแพงรายได้ต่ำ ก็คือ เรื่องค่านิยมที่อยู่ในจิตใจภายใต้กระแสหล่อหลอมหรือผลักดันของสังคม กล่าวคือในสังคมไทยเรานี้ คนซื้อหารถยนต์มิใช่เพียงในความหมายว่าเป็นยานพาหนะ เครื่องใช้ในการเดินทาง แต่หมายถึงความมีหน้ามีตา ความเด่น ความโก้ และความนิยมเชื่อถือเป็นสำคัญ (คนไทยจึงถูกพวกนักต้มตุ๋น นั่งรถโก้มาหลอกเอาได้บ่อยๆ) ซึ่งทำให้รู้สึกจำเป็นที่จะต้องมีรถยนต์ดีๆ ใช้ เกินความจำเป็นในการใช้งานจริง ต่างจากคนในสังคมอเมริกัน ที่โดยทั่วไปมองรถยนต์เป็นเพียงยานพาหนะเครื่องใช้ในการเป็นอยู่ เมื่อมีใช้อยู่แล้ว ก็ใช้ต่อไป ไม่ต้องทุรนทุรายเที่ยวซื้อหามาแสดงหน้าแก่ใคร ก็เลยมีเวลาและความคิดที่จะไปใส่ใจกับเรื่องอื่นที่เป็นสาระมากกว่า
เมื่อมองในแง่ของการแข่นขันตามสภาพของยุคสมัยปัจจุบัน แล้วลองเปรียบเทียบกัน ก็จะเห็นว่า สังคมอเมริกัน ถึงแม้เวลานี้เขาจะตกอยู่ในภาวะที่โทรมหนัก แต่เขาก็ยังมีการแข่งขันในเชิงปัญญาสูงกว่า ในขณะที่สังคมไทยของเราจะเด่นไปข้างการแข่งขันในทางโมหะ ซึ่งไม่เป็นเรื่องดีที่น่าสบายใจเลย
ที่ว่ามานี้ ไม่เฉพาะในด้านสินค้าที่เรียกกันว่าฟุ่มเฟือย แม้แต่สิ่งของเครื่องใช้หรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการพัฒนาคนพัฒนาสังคม โดยเฉพาะทางด้านการศึกษา คนไทยก็ตกอยู่ในภาวะเสียเปรียบ ที่ต้องซื้อของราคาสูงด้วยทุนของผู้มีรายได้ต่ำ เช่นเดียวกัน
ขอยกเรื่องเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นตัวอย่าง ปัจจุบันราคาเครื่องคอมพิวเตอร์ในประเทศไทยได้ลดต่ำลงมาก นอกจากเป็นภาวการณ์ทั่วไปในโลกแล้ว ยังเป็นเพราะการลดภาษีด้วย เมื่อ 10 ปีก่อน เครื่องคอมพิวเตอร์ถูกเก็บภาษี 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ ต่อมาทางการได้ลดภาษีคอมพิวเตอร์ลงเหลือประมาณ ๕ เปอร์เซ็นต์ เวลานี้ คนไทยทั่วไปพอจะซื้อหาคอมพิวเตอร์มาใช้ได้ในราคาไม่สูงนัก
อย่างไรก็ตาม ถ้าจะซื้อเครื่องที่ติดตัวไปไหนๆ ได้สะดวก และมีประสิทธิภาพสูง ก็ยังต้องซื้อหาในราคาที่นับว่าแพง เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คยี่ห้อดี ชั้นค่อนข้างดี มีเครื่องอ่าน CD-ROM ในตัว เครื่องหนึ่ง ราคายังไม่คิดภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อกลางปี 2539 ในเมืองไทยขาย 109,000 บาท ในอเมริกาขาย $3,299 คิดเป็นเงินไทยประมาณ 82,500 บาท
คนอเมริกันทำงานค่าแรงอย่างต่ำวันละ 950 บาท (คิดจากอัตราค่าแรงอย่างต่ำ ชม.ละ $4.75 x 8 ชม.ต่อวัน; วันที่ 1 ก.ย. 2540 นี้ อัตราค่าแรงอย่างต่ำในอเมริกา จะขึ้นเป็น ชม.ละ $5.15 คือวันละประมาณ 1,030 บาท) เก็บรายได้ไว้ 20 เปอร์เซ็นต์ ใช้เวลา 1 ปีครึ่ง (คิดวันทำงานเดือนละ 24 วัน) ก็ซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องนั้นได้
แต่คนไทยที่ทำงานอยู่ในต่างจังหวัด ได้ค่าแรงอย่างต่ำวันละ 150 บาท เก็บรายได้ไว้ 20 เปอร์เซ็นต์ จะต้องรอไปถึง 12 ปีครึ่ง จึงจะซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวกันนั้นได้ กว่าจะได้ใช้ก็จะแก่เสียแล้ว
แต่คอมพิวเตอร์ถ้าเพื่อปัญญาคงไม่เป็นปัญหาสักเท่าไร ปมปัญหาสำหรับคนไทยอยู่ที่สินค้าของใช้ฟุ่มเฟือย ที่จะบำรุงความสุข อำนวยความสะดวกสบาย และมีความหมายในเชิงอวดโก้แข่งกัน ทั้งรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ เครื่องเสียงดีๆ ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า ฯลฯ ทั้งจำเป็นและไม่จำเป็น ทั้งจำเป็นแท้และจำเป็นเทียม ซึ่งมีราคาแพง และประดังเข้ามาหลายๆ อย่าง คนไทยไม่มีทางอื่น จึงต้องหันไปพึ่งระบบเงินผ่อน ซึ่งหมายถึงการเป็นหนี้อย่างหนึ่ง แต่เป็นหนี้ที่พอจะมีหน้า
สำหรับหลายกรณี การผ่อนส่งเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ และเป็นทางออกที่ดีอย่างหนึ่งในการผ่อนเบาปัญหาการเงิน แต่จะมีโทษมากเมื่อเพลิดเพลินชะล่าใจ ทำให้ตกอยู่ในความประมาท อะไรๆ ก็ผ่อนส่ง เมื่อส่งไม่ทันก็ต้องไปกู้หนี้มาส่งผ่อน ทำให้ชีวิตตกอยู่ใต้ความผูกรัด ห่วงกังวล สูญสิ้นอิสรภาพความสงบใจและความรู้สึกมั่นคง ขาดสมาธิ ไม่มีความแน่วแน่มั่นใจในการดำเนินชีวิตและทำการงาน
คนอเมริกันอยากซื้อเครื่องใช้หรืออุปกรณ์เทคโนโลยีทันสมัย คำนวณเวลาแล้ว ก็เห็นความหวังชัดเจนว่าตนทำงานในเวลาเท่านั้นเท่านี้ก็จะซื้อได้ แล้วก็ตั้งใจทำงานด้วยความมั่นใจ มุ่งมั่นทำงานไป โดยไม่ต้องคิดถึงเรื่องอะไรอื่น แต่คนไทย ถ้าเป็นคนมีรายได้น้อย ก็แทบมองไม่เห็นความหวังที่จะซื้อเครื่องใช้หรืออุปกรณ์นั้นได้ด้วยเงินที่ได้จากการทำงาน ทำให้ไม่มีความมั่นใจในการทำงาน ถ้าไม่เข้มแข็งจริง จิตใจก็จะฟุ้งซ่าน ไม่มีสมาธิในการปฏิบัติหน้าที่ แล้วก็มองหาทางที่จะได้เงินด้วยวิธีอื่น เช่น กู้หนี้ยืมสิน ถ้าเผลอตัวก็อาจจะเลยออกไปทางทุจริต
แม้แต่เมื่อพอจะมีเงินมีทองขึ้นมา และแม้จะระมัดระวังในเรื่องการเงินว่าต้องให้ได้มากกว่าเสีย ก็มักระวังแต่การใช้จ่ายด้านอื่น พอถึงเรื่องผลิตภัณฑ์ทางเทคโนโลยีที่ฟุ่มเฟือย ใจที่มัวแต่คิดตามให้ทันยุคสมัย หรือความเด่นนำทางหน้าตา ทำให้ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย เสียมากกว่าได้
ความด้อย ความเสียเปรียบและความสูญเสียของคนไทยแต่ละคนนี้ ก็หมายถึงความด้อยความเสียเปรียบ และความสูญเสียของสังคมไทยและประเทศไทยด้วย นอกจากใจครุ่นคิดหารายได้พิเศษเพื่อซื้อสิ่งฟุ่มเฟือย ทำให้งานขาดประสิทธิภาพด้อยคุณภาพถ่วงความเจริญของประเทศชาติ พร้อมทั้งปัญหาสังคมที่เกิดจากการทุจริต และอาชญากรรมต่างๆ แล้ว คนพอจะมีพอจะได้เงินมา ก็นึกถึงแต่ผลิตภัณฑ์ทางเทคโนโลยีรุ่นใหม่แปลกหูแปลกตา ที่จะเอามาเสพบริโภค ไม่มีช่องให้เอาใจใส่หรือคิดถึงสุขทุกข์ของเพื่อนร่วมชาติร่วมสังคม
เงินที่ใช้จ่ายมากมาย แทนที่จะเป็นเครื่องช่วยเกื้อหนุนหรือแก้ปัญหาของคนไทยด้วยกัน ก็ถูกทุ่มเทไปกับสินค้าเครื่องใช้ทางเทคโนโลยีที่มีราคาสูง เป็นรายได้ส่งออกไปให้แก่ต่างประเทศที่รวยกว่า
ในขณะที่ประเทศของตนด้อยโอกาสและเสียเปรียบประเทศเหล่านั้นในทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว ยังจะต้องกู้หนี้ยืมสินจากประเทศเหล่านั้นเพื่อเอาไปซื้อสินค้าจากเขา เป็นลูกหนี้ที่เป็นลูกค้าคอยหากำไรมาเพิ่มรายได้ให้แก่เจ้าหนี้ของตนเอง ในขณะที่คนไทยจำนวนมากมีชีวิตที่หมกจมอยู่ใต้กองหนี้สิน ประเทศไทยก็ถูกพันธนาการด้วยหนี้สินระหว่างชาติจำนวนมหาศาล ที่ประชาชนไทยจะต้องแบกภาระต่อไปยืดเยื้อยาวนาน ถ้าไม่รีบกลับตัว ก็ต้องเกินกว่าชั่วอายุลูกหลาน
แต่ผลเสียที่ร้ายแรงยิ่งกว่านั้นก็คือ การที่คนไทยมัวเพลิดเพลินหลงใหลกับความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย จะยิ่งเสริมแรงความใฝ่เสพและความเป็นนักบริโภค ทำให้เห็นแก่ความสะดวกสบายเฉื่อยชาและยิ่งอ่อนแอเลื่อนไหลลงไปใต้กระแสของระบบผลประโยชน์ สวนทางกับการที่จะมีพลังพัฒนาตนให้เป็นคนที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพมากขึ้น
แม้แต่ไอที คือเทคโนโลยีด้านข่าวสารข้อมูล ที่น่าจะเป็นเจ้าบทบาทที่โดดเด่นในการพัฒนาเสริมสร้างปัญญา ก็เสียดุลให้แก่การใช้เชิงเสพบริโภค และธุรกิจโฆษณา มีบทบาทที่เบี่ยงเบนไปในทางเสริมโมหะ มากกว่าพัฒนาปัญญา
ถ้าเป็นอย่างนี้นานไป คนไทยจะหาอะไรซึ่งจะเป็นที่ภูมิใจและมั่นใจในตนเองและในสังคมของตนได้ยาก จะมีก็แต่ความตื่นเต้นฟู่ฟ่าฮือฮากันไปตามกระแสชักพาของค่านิยมที่ฉาบฉวยเลื่อนลอย แล้วก็พาตัวเองไปเป็นเหยื่อของผู้ผลิตภายใต้วัฒนธรรมบริโภค
เพราะฉะนั้น คนไทยจะต้องรู้ตัวตื่นขึ้นมา อย่าปล่อยตัวปล่อยใจหลงระเริงมัวกระหยิ่มในความรู้สึกโก้เก๋ทันสมัย และมองไปแต่ในทางที่จะหาเสพหาบริโภค แต่จะต้องซื้อต้องใช้ต้องปฏิบัติต่อผลิตภัณฑ์ทางเทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน ตั้งความรู้สึกรับผิดชอบต่อประเทศไทย ต่อสังคมและต่อเพื่อนร่วมชาติ เห็นตระหนักในผลดีผลเสีย ต่อชีวิต ต่อสังคม ต่อโลก และความเสียเปรียบของประเทศชาติ ที่จะเกิดขึ้นจากการใช้จ่ายเสพบริโภคแต่ละครั้งของตน มองถึงการสูญเสียผลประโยชน์ของประเทศชาติ และภาระที่สังคมจะต้องแบกรับสืบเนื่องต่อไปข้างหน้า
แม้จะต้องซื้อต้องใช้ของแพง ก็ทำด้วยปัญญาที่มีหลักคิด มองเห็นเหตุผลอย่างชัดเจน และมีจุดมุ่งหมาย พร้อมทั้งมีจิตสำนึกที่จะใช้สิ่งนั้นให้ได้ประโยชน์จากมันอย่างคุ้มค่าเกินราคาของมัน ให้ได้มากกว่าจ่าย หรือให้ได้มากกว่าที่เสียไป ทั้งแก่ชีวิตของเรา และแก่สังคม ไม่ซื้อมาเพียงเพื่อเสพบริโภคให้หมดเปลืองไป แต่ให้มันเกิดผลในทางสร้างสรรค์ที่จะทำให้ชีวิตและสังคมของเราเขยิบก้าวดีขึ้นไปให้จงได้ เช่น
ถ้าจะซื้อคอมพิวเตอร์มาใช้สักเครื่องหนึ่ง ก็ตั้งใจมั่นว่า “เราจะใช้คอมพิวเตอร์เครื่องนี้ให้ได้ประโยชน์ในทางสร้างสรรค์ มากกว่าที่คนในอเมริกาใช้มัน อย่างน้อยอีกหนึ่งเท่าตัว”
ถ้าใจเข้มแข็งมีแรงสู้ที่จะทำอย่างนี้ ก็เห็นทางสู้เขาได้ในระบบแข่งขัน และมั่นใจได้ว่าชีวิต สังคม และประเทศชาติของเรา จะฟื้นตัวขึ้นมาได้ในเวลาไม่นานเลย
ทั้งหมดนี้จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อคนไทยตื่นตัวขึ้นมา ด้วยความตื่นทางปัญญา มีจิตใจที่เข้มแข็ง และมีความปรารถนาดีใฝ่สร้างสรรค์ชีวิตและสังคมของตนอย่างแท้จริง ซึ่งจะสำเร็จได้ด้วยการพัฒนาคน ที่ชาวไทยทุกคนตั้งใจพัฒนาตนเองขึ้นไปโดยไม่ประมาท ถ้าคนไทยรุ่นผู้ใหญ่ไปไม่ไหว หมดหวังแล้ว ก็ต้องเริ่มกันจริงๆ ที่อนุชนคนรุ่นต่อไป โดยมุ่งมั่นเน้นหนักในการศึกษาที่ถูกต้อง
การศึกษาแท้เริ่มที่บ้าน โดยพ่อแม่เป็นครูอาจารย์คนแรก ดังที่พระสอนว่า มารดาบิดาเป็นบูรพาจารย์ คือครูต้น หรืออาจารย์คนแรก ถ้าจะนำเด็กเข้าสู่การพัฒนาที่ถูกทาง เพื่อให้ได้ผลในการเสริมสร้างความใฝ่รู้-สู้สิ่งยาก ความใฝ่ศึกษา-ใฝ่สร้างสรรค์ ความเป็นนักผลิต-นักสร้างสรรค์ และพร้อมกันนั้น ก็จะได้ผ่อนลดอิทธิพลของค่านิยมใฝ่เสพ วัฒนธรรมบริโภค ความอ่อนแอเห็นแก่สะดวกสบาย และวิถีชีวิตที่เปิดกว้างสู่ทางแห่งการเสพยาบ้า พ่อแม่ทุกบ้านนั่นเองจะต้องเริ่มต้น และสำหรับคนไทย จุดเริ่มอยู่ที่นี่
จงถามเด็กไทยให้น้อยลงว่า “อยากได้อะไร?”
แต่จงถามเด็กไทยให้มากขึ้นว่า “อยากทำอะไร?”
จาก “อยากทำอะไร?” ก็ก้าวต่อไปว่า “อยากรู้ว่าจะทำอย่างไร” และ “จะต้องรู้อะไร?” แล้วพ่อแม่ก็คอยหนุนและให้เพื่อสนองความใฝ่รู้และใฝ่สร้างสรรค์นี้ โดยช่วยโยงการรู้และการสร้างสรรค์นั้นไปเชื่อมต่อกับกุศลให้ได้ต่อไป
เอาละ ขอพูดถึงเรื่องคนไทยกับเทคโนโลยีไว้เท่านี้ก่อน ถ้าเราพัฒนาคนไทยในการสัมพันธ์และปฏิบัติต่อเทคโนโลยีได้ถูกต้อง เราจะได้ความใฝ่รู้-สู้สิ่งยาก หรือ ใฝ่ศึกษา-ใฝ่สร้างสรรค์ เป็นอย่างน้อย ซึ่งแม้แต่ยังไม่ได้คุณสมบัติอย่างอื่นมาอีก เพียงแค่นี้ก็พอที่จะพัฒนาสังคมไทยไปสู่ความมีชัยในระบบแข่งขันของโลก และพร้อมที่จะเดินหน้าพ้นเหนือการแข่งขันไปสู่การช่วยแก้ปัญหาของโลก และเป็นส่วนร่วมอย่างสำคัญในการนำโลกไปสู่สันติสุข
หมายเหตุ: ราคาสินค้าผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีในเมืองไทย ที่เทียบไว้ในข้อเขียนนี้ เป็นราคาก่อนเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจ ในเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๐ ยังไม่ได้ปรับตัวเลขตามราคาในปัจจุบัน ซึ่งจะแพงขึ้นอีกเป็นอันมาก