หลายท่านที่คุ้นเคยกับท่านอาจารย์พุทธทาสจะทราบดีว่า ท่านซาบซึ้งในพระคุณแม่มาก และย้ำเสมอว่า อาตมาเป็นเนื้อเป็นตัวทำอะไรได้อย่างนี้ ... ก็เพราะแม่ทั้งนั้น แม่ได้สั่งสอนอบรมมาอย่างนี้ ซึ่งคุณเมตตา พานิช หลานท่านเล่าว่า ในส่วนลึกท่านรู้สึกว่า กว่าท่านจะรู้ธรรมะที่เป็นประโยชน์ แม่ก็ตายเสียแล้ว ไม่สามารถทำให้แม่ได้รู้ธรรมะที่เป็นประโยชน์เหล่านี้ จึงอยากตอบแทนเพศแม่ด้วยการสร้างสถานที่ให้ผู้หญิงฝึกปฏิบัติจนสามารถบรรลุธรรมขั้นสูงสุดเหมือนผู้ชาย นอกจากนี้ ในช่วงท้ายชีวิตท่านคิดว่า ถ้าผู้หญิงมีธรรมะแล้วก็จะอบรมลูกให้เป็นยุวชนที่ดี ซึ่งท่านกล่าวอยู่บ่อยๆ แม้กระทั่งใกล้วาระสุดท้ายแห่งชีวิตว่า “ศีลธรรมของยุวชนคือสันติภาพของโลก" [2] และเป็นหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของผู้ใหญ่ที่จะต้องกระทำ
ท่านจึงให้ความสำคัญมากกับโครงการ “ธรรมมาตา” เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้มาปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ สามารถพัฒนาตัวเอง จนพร้อมจะช่วยผู้อื่นได้ ท่านเห็นว่า ผู้หญิงสอนผู้หญิงด้วยกันได้ดีและปลอดภัยที่สุด แม้ในวาระจิตสุดท้าย ผู้หญิงสามารถเข้าไปช่วยให้จิตสุดท้ายของผู้หญิงด้วยกันได้รับความสงบง่ายที่สุด นอกจากนี้ โครงการนี้ยังส่งเสริมให้มี “ธรรมทูตหญิง” ช่วยเผยแผ่ธรรมะเสริมแทน “ภิกษุณี” ที่ขาดสูญไปด้วย แต่เสียดายที่ท่านมรณภาพก่อนที่จะเริ่มต้นโครงการนี้ หลังจากนั้น “อาจารย์รัญจวน อินทรกำแหง” ซึ่งเป็นลูกศิษย์คนสำคัญมาช่วยสานต่อปณิธานท่านและเป็นผู้วางหลักสูตรธรรมมาตา
ในโอกาสครบรอบ 100 ปี อาจารย์รัญจวน อินทรกำแหง เป็นโอกาสให้ทีมงานสวนโมกข์กรุงเทพขอย้อนรอยเส้นทางชีวิตอาจารย์รัญจวน จนถึงแก่นธรรมที่ท่านนำมาวางหลักสูตร “ธรรมมาตา” ที่พวกเราเชื่อว่า บางอย่างอาจตอบโจทย์ชีวิตของผู้อ่านขณะนี้ได้
ก้าวแรกบนสมรภูมิของใจที่อึกทึกกับการตัดสินใจครั้งสำคัญของชีวิต
อาจารย์รัญจวนเป็นอดีตข้าราชการกระทรวงศึกษา เป็นครู นักเขียน นักวิจารณ์วรรณกรรมและสังคม ที่มีลูกศิษย์ลูกหาและผู้ติดตามผลงานเป็นจำนวนมาก เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ อาทิ นายกสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ประธานศูนย์ความเข้าใจอันดีระหว่างชาติ และประธานสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยรามคำแหง นอกจากนี้ ท่านยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตติยจุลจอมเกล้า และได้รับพระราชทานปริญญาบัตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ... ซึ่งดูเหมือนอาจารย์จะประสบความสำเร็จในชีวิต แต่วิถีปุถุชนย่อมหนีไม่พ้นความทุกข์
อาจารย์เล่าว่า ข้าพเจ้าเคยรู้สึกว่า ชีวิตเป็นของหนัก หนักจนดูเหลือกำลังที่จะแบก ... อันที่จริงกายนั้นก็ยังตั้งตรงดีอยู่ แต่เพราะใจที่เปลี้ยเพลียนั้นต่างหากที่ทำให้รู้สึกไปว่า กายนั้นอ่อนเปลี้ยเพลียลงจนสุดที่จะพยุงไว้ได้ และหัวใจก็อ่อนแรงเต็มที่ ... แต่จนแล้วจนรอดก็หารู้ไม่ว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้รู้สึกว่า ชีวิตนี้เป็นของหนัก คงดิ้นรนต่อสู้เพื่อจะเอาชนะมันให้จงได้ แต่ยิ่งดิ้น มันก็ยิ่งร้อยรัด ยิ่งเหมือนถูกผูกมัดด้วยเส้นลวดคมที่ทิ่มแทงให้เจ็บปวดแหลมลึก
จนต่อเมื่อย้อนมาคิดดู จึงได้เห็นว่า เพราะการดิ้นรนต่อสู้ด้วยความมัวเมาตามใจอยากนั้นเอง ... เมื่อเริ่มต้นด้วยความอยาก แล้วก็ต่อไปด้วยความอยากเช่นนี้ แล้วสักเมื่อไหร่ สักเท่าไหร่จึงจะรู้จักพอ รู้จักอิ่ม ... ทั้งๆ ที่มิได้อดมื้อกินมื้อ ... งานการก็พอมีพอทำ ชื่อเสียงความสำเร็จก็พอมีพอได้ แต่เพราะไม่รู้จักอิ่มรู้จักพอ ชีวิตจึงกลายเป็นความหนัก ... หนักเพราะสนองใจที่อยากได้นั้นไม่หนำใจ
ความทุกข์มันสอน ... ที่หนักที่เหนื่อยนั้นอยู่ที่ใจ ถ้าจะแก้ความหนักให้เป็นความเบาก็ต้องแก้ที่ใจ ... แต่จะแก้ด้วยวิธีใด อย่างไร ยังไม่สู้จะเข้าใจนัก แต่รู้ชัดอยู่ว่า ต้องแก้ที่ใจ ถ้าหากปล่อยให้ใจตกจมอยู่ในความทุกข์ดูจะไม่คุ้มกับที่ได้เกิดมา
ดังนั้น ... ตัดสินใจหันชีวิตเข้าสู่หนทางธรรมอย่างแน่นอน!
“ครูอาจารย์ สำคัญที่สุด”
เริ่มไปปฏิบัติธรรมกับท่านอาจารย์ชา สุภัทโท อาจารย์เล่าว่า หลวงพ่อท่านไม่พูดมาก ไม่สอนมาก แต่กระตุ้นส่งเสริมแนะนำให้ปฏิบัติให้มาก ปฏิบัติที่จิต ดูจิต ข่มขี่จิต อย่าตามใจความดิ้นรนทะยานอยากของมัน ดูให้รู้จักธรรมชาติสันดานของจิตที่หลุกหลิก เจ้าเล่ห์ เพราะตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสนี้ให้จงได้ ... แต่กำลังจะพอเริ่มรู้จักหนทางดำเนินในทางธรรม ในสิ้นพรรษานั้นเอง หลวงพ่อก็อาพาธสอนไม่ได้ อบรมไม่ได้ ... หลวงพ่อยังดูแข็งแรงอยู่แท้ๆ
อาจารย์เล่าถึงความคิดที่สะท้อนในใจขณะนั้นว่า... ดูเถิด! เพียงเริ่มต้นเท่านั้น อนิจจังก็แสดงธรรมชาติของมันให้เห็นชัดประจักษ์ใจ ... แล้วจากนี้จะไปไหน จะทำอย่างไร เพราะการแสวงหาที่ปฏิบัติธรรมสำหรับผู้หญิงนั้นมิใช่ง่าย
วันหนึ่งมิตรผู้อาวุโสในทางธรรมก็บอกว่า “ทำไมไม่ลองไปอยู่สวนโมกข์?”
ขณะนั้น ยังมองไม่เห็นที่ใดที่จะตัดสินใจไปอยู่เป็นการแน่นอน จึงคิดว่า น่าจะลองไปดูให้ประจักษ์ด้วยใจเอง
ท่านอาจารย์พุทธทาสกับเส้นทางปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์อย่างแท้จริง
อาจารย์บันทึกไว้ว่า เมื่อไปถึงสวนโมกข์ตอนเช้าตรู่ (ปลายเดือนกันยายน 2525) เจ้าประคุณท่านอาจารย์พุทธทาสนั่งอยู่ที่ม้าหินหน้ากุฏิท่าน จำได้ว่า กราบนมัสการท่านแล้วก็พูดเล่าอะไรต่างๆ ที่เป็นความรู้สึกอยู่ในใจขณะนั้น สิ่งที่พูดที่เล่าดูล้วนแต่แสดงความดี ความเสียสละของตัวเองที่หันชีวิตเข้าสู่ทางธรรม แล้วยังแสดงความอวดรู้ในทางธรรมอีกไม่น้อย
ท่านอาจารย์นั่งฟังด้วยความปกติ ไม่แสดงอาการว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ... เมื่อท่านปล่อยให้พูดจนสมใจอยากแล้ว ท่านก็บอกให้ไปพักผ่อนเสียก่อนแล้วจึงไปหาท่านอีก
ตอนเย็นไปกราบนมัสการท่านเพื่อกราบเรียนถามวิธีการปฏิบัติ เวลาไปก็มีรายชื่อหนังสือแผ่นยาวติดไปด้วย ... ก็เริ่มต้นด้วยการอ่านรายชื่อหนังสือให้ท่านฟัง ... แล้วจบด้วยคำถามว่า ท่านอาจารย์โปรดแนะนำให้อ่านอะไรก่อนหลัง เพื่อจะได้มีความรู้ความเข้าใจธรรมะไปตามลำดับจากเบื้องต้นไปเบื้องปลาย และสามารถนำมาปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่จิตได้
คำตอบของท่านอาจารย์คือ “ไม่ต้องอ่านสักเล่มเดียว! หยุดอ่านได้ เพราะอ่านมามากพอแล้ว เดี๋ยวนี้ให้อ่านแต่หนังสือเล่มใน” ... การเฝ้าดูจิต รักษาจิตให้สงบ มั่นคง ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งกระทบ
อาจารย์จึงกลับมาพิจารณาต่อว่า อันที่จริง ก็จริงของท่าน เพราะมีจุดยืนในใจแล้วว่า ต้องการจะหาหนทางหรือวิธีดับทุกข์ที่เกิดที่จิต แล้วจะไปวุ่นวายอยากรู้โน่นรู้นี่ให้มันยุ่งเหยิงไปทำไม่ ยิ่งอยากรู้อะไรๆ ที่ข้างนอกมากๆ ก็ยิ่งไกลจากการรู้ข้างใน คือ “รู้จิต” มากขึ้นทุกที แล้วความทุกข์ก็จะมีแต่เพิ่มทวีขึ้น ... แต่การอ่านหนังสือเล่มในนี้แสนยาก เพราะไม่มีตัวหนังสือเป็นบรรทัดๆ ให้อ่าน เมื่อมองลงไปเพื่อจะอ่าน ก็ไม่เห็นอะไร
ในขณะฝึกอ่านหนังสือเล่มในก็ได้ฟังธรรมของท่านอยู่เสมอ ... ท่านย้ำชัดว่า ในบรรดาความยึดมั่นถือมั่นอันเป็นต้นเหตุของความทุกข์นั้น ความยึดมั่นถือมั่นในความเป็น “ตัวฉัน” นี่แหละคือรากเหง้าของความทุกข์ทั้งปวง
ถ้าสลัดความยึดมั่นถือมั่นนตัวฉันออกไปเสียได้ ความทุกข์ทั้งปวงย่อมสลายไปสิ้น เพราะมันไม่มี “ตัวฉัน” ที่จะเป็นทุกข์อีกต่อไป จะมีอยู่ก็แต่การกระทำที่ถูกต้อง เพื่อประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ ... ใช่ไหม?
เมื่อถามตัวเองด้วยคำถามนี้ คำตอบย่อมไม่เป็นอื่น นอกจาก “ใช่ ... ใช่แน่แล้ว”
จากนักทฤษฎีสู่สนามรบของการปฏิบัติธรรม
หลังจากอาจารย์พากเพียรปฏิบัติธรรมตามแนวทางที่ท่านอาจารย์พุทธทาสให้ไว้ ท่านบันทึกการปฏิบัติธรรมไว้ตอนหนึ่งเพื่อเตือนใจผู้ปฏิบัติธรรมรุ่นหลังๆ ว่า ผู้ปฏิบัติธรรมที่มุ่งมั่นเอาจริงเอาจังในการปฏิบัติจนเกินขนาดของความพอดีนั้น ย่อมเกิดความเคร่งเครียดได้ง่ายๆ เมื่อมีความเคร่งเครียดมากขึ้นแล้ว ควบคุมมันไม่ได้ จิตนั้นจะมีความทุกข์อย่างใหญ่หลวง ทุกข์ด้วยความผิดหวังที่รู้สึกว่า การปฏิบัตินั้นไม่เป็นผลตามที่ตั้งใจไว้ ไม่ได้ลิ้มรสของความแช่มชื่นเบิกบานในธรรม หากกลับเกิดความท้อแท้หดหู่ แล้วเลยพาลคิดฟุ้งซ่านวุ่นวายไปต่างๆ นานา
ถ้าหากหยุดไม่ได้ ก็จะเป็นเหตุให้มิจฉาทิฏฐิเข้าครอบงำจิต เมื่อถึงจุดนี้ ผู้นั้นอาจเลิกราการปฏิบัติ ถอยหลังหนีจากธรรมะ เห็นไปว่า ธรรมะช่วยอะไรไม่ได้ โดยลืมคิดนึกไปว่า ธรรมะก็คือธรรมะ มันทรงตัวอยู่ตามปกติอยู่เช่นนั้นเอง ผู้ปฏิบัติเองต่างหากหรือมิใช่ที่ไปเรียกร้องสิทธิ เรียกร้องผลของการปฏิบัติจากธรรมะด้วยประการต่างๆ
ธรรมะมีหน้าที่เพียงแสดงสัจจะให้มนุษย์ได้ดูได้เห็นเท่านั้น ธรรมะไม่มีหน้าที่อำนวยผลหรือบันดาลประโยชน์ใดแก่ผู้ปฏิบัติ หากผู้ปฏิบัติหวังผลอย่างใดก็ต้องลงมือกระทำ ลงมือปฏิบัติให้ถูกต้อง แล้วผลหรือประโยชน์นั้นก็จะเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยที่ได้กระทำแล้วนั้น
ดังนั้น การที่จะหลีกเลี่ยงหรือป้องกันมิให้ความเคร่งเครียดเกิดขึ้นในจิตจนกลายเป็นความทุกข์ และเพื่อให้สามารถนำธรรมะมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ ท่านอาจารย์จึงสอนให้ฝึกการทำงานในชีวิตประจำวันนั้นให้เป็นการปฏิบัติธรรมไปในตัว ด้วยการทำงานให้สนุก เป็นสุขในการทำงาน แล้วการทำงานเช่นนั้น ก็คือการประพฤติธรรมนั่นเอง
การทำงานจึงเป็นเสมือนสนามรบ หรือสมรภูมิของผู้ปฏิบัติธรรม เป็นโอกาสให้ได้ฝึกจิตให้มั่นคงด้วยสติและแหลมคมด้วยปัญญา เพราะเมื่อชีวิตคือการทำงาน ไม่มีผู้ใดจะหลีกเลี่ยงการทำงานไปได้ แล้วเหตุไฉนจึงจะยอมปล่อยให้ชีวิตตกจมอยู่ในปลักของความทุกข์อยู่ในการทำงานนั้น มันจะมิเป็นการตายทั้งเป็นโดยไม่จำเป็นไปหรือ?
จากนักปฏิบัติธรรมสู่การเผยแผ่ธรรมะ
บนเส้นทางของนักปฏิบัติฯ อาจารย์ไม่ได้มุ่งให้ตัวเองหลุดพ้นจากความทุกข์เพียงลำพัง และด้วยจิตวิญญาณของความเป็น “ครู” จึงพยายามจุดประกายธรรมสู่สาธารณชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการบรรยาย เขียนบทความและหนังสือ เพื่อบันทึกประสบการณ์ในการปฏิบัติธรรมและหลักธรรมต่างๆ ให้เป็นกำลังใจแก่ผู้ร่วมเดินบนเส้นทางสายนี้ จนได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ โดยรางวัลสำคัญคือ “Outstanding Woman in Buddhism” เนื่องในวาระวันสตรีสากลโลกขององค์การสหประชาชาติปี 2548
ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้วางหลักสูตรธรรมมาตา
จากนักทฤษฎีสู่นักรบฆ่าซึ่ง “ตัวกู” หลายสิบปี และเป็นครูธรรมคนสำคัญของประเทศ ทำให้อาจารย์ได้รับความไว้วางใจคณะกรรมการสวนโมกข์พลารามในการเป็นผู้วางหลักสูตรธรรมมาตา ซึ่งอาจารย์เล่าถึงวัตถุประสงค์และอธิบายหลักสูตรไว้ชัดเจนว่า
ธรรมมาตาเป็นโครงการที่ท่านอาจารย์พุทธทาสให้ความสำคัญมากและวางวัตถุประสงค์ชัดเจน เพื่อให้ผู้เข้ามาปฏิบัติจะต้องมีหลักปริยัติสูงสุด ปฏิบัติสูงสุด ปฏิเวธสูงสุด
ปริยัติสูงสุด เรียนรู้ที่องค์พระธรรมที่นำมาสอน มีอะไรบ้าง ตั้งแต่เบื้องต้น เบื้องกลาง เบื้องสูง คือ ธรรมอันเป็นความจริงขั้นสูงสุด ซึ่งก็คือหลักไตรลักษณ์ ให้เข้าใจแจ่มแจ้งอยู่ในสมอง เข้าใจชัดเจน
ปฏิบัติสูงสุด ซึ่งจะปฏิบัติด้วยการดู คิด พิจารณาทุกข์ที่ลักษณะอาการ มันอยู่ที่ในใจ มีลักษณะอาการทำให้ใจระส่ำระสาย หงุดหงิด ขัดเคือง กังวล ไม่มีความนิ่ง สงบ เย็น ความสบายไม่เกิดขึ้น ความทุกข์กำลังย่างกรายเข้ามา ... ดูต่อไปเป็นดูลักษณะความทุกข์ อะไรเป็นเหตุ เกิดอะไรขึ้น ต้องหาเหตุ ก็จะแก้ที่เหตุ แก้ไขให้ถูกต้อง ความอยากมาเมื่อไหร่ มันพร้อมจะนำปัญหามาสู่เรา ... สิ่งเราเหล่าเราปฏิบัติด้วยการดู ดึงความซึมซาบอยู่ที่ใจ ดูลักษณะของความทุกข์ จิตใจเป็นอย่างไร นิ่งไหม ว่างไหม หรือดิ้นรน สับสนวุ่นวายไปหมด หรือมืดมน ทั้งที่พระอาทิตย์ยังแจ่มใส
ปฏิบัติสูงสุด ดูตั้งแต่ธรรมขั้นพื้นฐาน จนถึงธรรมะสูงสุด ระดับปรมัตธรรม ซึมซาบในใจ มันแจ่มแจ้งในใจ มันชัดขึ้นมา อยากเมื่อไร ก็ทุกข์เมื่อนั้น จากความหมายสู่คุณค่าอยู่ที่ปฏิบัติจริงๆ การปฏิบัติจึงต้องดูในจิตลงไป ความหมายของการปฏิบัติอยู่ที่ได้สัมผัสจริงๆ ชัดเจน แจ่มแจ้ง ผู้นั้นก็จะได้ลิ้มรสปฏิเวธ คือ ความชุ่มชื่นเบิกบานแจ่มใส อิ่มเอิบอย่างบอกไม่ถูกจากการสัมผัสด้วยใจจริงๆ จนกระทั่งลึกซึ้งมากขึ้น แจ่มกระจ่าง จนถึงที่สุด คือ หมดสงสัย อะไรมาก็เห็นว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง ความอนิจจัง ทุกขัง อนันตา นั่นคือปฏิเวธสูงสุด
อาจารย์อธิบายความคาดหวังในโครงการว่า ท่านอาจารย์พุทธทาสไม่ได้หวังว่า ผู้ที่เข้ามาในโครงการจะต้องสู่ความสูงสุดทั้ง 3 ประการได้ครบถ้วน ส่วนที่จะไปได้เพียงใด ขึ้นกับความพากเพียรอุตสาหะ เสียสละของแต่ละคน อันนี้บงการไม่ได้ แต่นี่คือการประพฤติพรหมจรรย์เป็นการดำรงชีวิตอย่างประเสริฐที่สุด เป็นความประพฤติของคนที่ที่สุดของความอยาก สิ้นสุดความต้องการ อยู่เหนือความสงสัยความเป็นไปของชีวิต มองเห็นแล้วว่า ชีวิตไม่มีอะไรมากกว่านี้ มีแต่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มีแค่นั้น เมื่อปฏิบัติอย่างแจ่มแจ้ง ปฏิเวธสูงสุดสำเร็จ งานที่ต้องทำเพื่อเป็นผู้ประเสริฐจบแล้ว
ชีวิตของคนที่มีความสงบอย่างยิ่ง
ชีวิตของคนที่มีความนิ่งเป็นอย่างยิ่ง
ความอยากสิ่งใดไม่ปรากฏ มีแต่การกระทำตามหน้าที่ของมนุษย์เท่าที่ยังมีลมหายใจอยู่ หน้าที่การเป็นลูก เป็นเพื่อน เป็นสามี ภรรยา พ่อ แม่ หัวหน้า ก็ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ก็จะเกิดประโยชน์ที่สุด การทำงานแต่ละงานได้ โดยไม่ต้องประกาศว่า นี่คืองานของฉัน เพียงแต่ต้องการจะทำ ไม่ว่าจะอยู่หน้าฉาก หรือหลังฉากก็ไม่สนใจ ไม่มีความสำคัญ เพราะความสำคัญอยู่ที่การทำงานนั้นให้สำเร็จ ลุล่วงตามโครงการหรือเป้าหมายที่กำหนดเอาไว้
และนี่คือหลักสูตรธรรมมาตาที่อาจารย์รัญจวน อินทรกำแหง ฝากไว้ให้ผู้เกี่ยวข้องได้สานต่อ เพื่อสร้าง “มารดาแห่งธรรม” และ “ธรรมทูต” ที่ถึงพร้อมด้วยปริยัติสูงสุด ปฏิบัติสูงสุด ปฏิเวธสูงสุด