แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โจ้ :
ธรรมะสวัสดีนะครับ คุณผู้ฟังทุกท่านคุณกำลังฟังรายการจากหอจดหมายเหตุหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญนะครับ สวนโมกข์กรุงเทพ ผม พุฒิพัฒน์ อุนสวัสดิ์อาภา ผู้ดำเนินรายการในวันนี้ วันนี้นะครับเป็นรายการพิเศษที่จะหยิบยกเอาเรื่องราวทางสังคม อาจจะมีแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับงานพระพุทธศาสนามาพูดคุยกัน
วันนี้นะครับ เราก็ จะหยิบยกประเด็นที่คนกำลังติดตามให้ความสนใจครับ หลายคนคงเคยได้ยินข่าวเรื่องไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ที่นครศรีธรรมราช ที่ตอนนี้คนก็แห่ไปขอโชคขอลาภนะครับ ไปกันแบบล้นวัดเลย เหรียญแต่ละรุ่นที่ออกมานี่ได้ข่าวว่าคนไปรอรับเป็นหมื่นๆ คน วันนี้เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต้องไปคุยกับผู้ที่คุ้นเคยกับเมืองนคร วันนี้นะครับผมอยู่กับคุณหมอบัญชา พงษ์พานิช ผู้อำนวยการจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ซึ่งท่านเป็นคนนครด้วย วันนี้คุณหมออยู่กับผมตรงนี้แล้วนะครับ สวัสดีครับคุณหมอครับ
หมอบัญชา :
ครับ สวัสดีครับคุณพุฒิพัฒน์ เรียกว่าโจ้แล้วกัน แล้วก็สวัสดีทุกท่านครับ ตามที่โจ้เขาเกริ่นนำว่าผมเป็นคนนคร ดีครับที่เกริ่นนำเพียงเท่านั้น เพราะว่าทุกคนคงจะงงว่า เอ หมอบัญชาก็ไปหาไอ้ไข่ที่วัดเจดีย์ด้วยหรือเปล่า จริงๆผมเคยเข้าไปที่วัดเจดีย์มาหลายครั้ง ครั้งหลังสุด ก็ไม่กี่เดือนมานี้ แล้วก็ฟังและติดตามเรื่องราว เพราะว่า ในความเห็นของผมถือเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่สำคัญ ว่ากันว่าเที่ยวบินกรุงเทพฯ – นครศรีธรรมราช ยังไม่เคยหยุดเลยนะครับ ตั้งแต่มีโควิดมาก็ไม่หยุดบินสักวันเดียว แล้วก็ทุกวันนี้ก็เพิ่มเอา เพิ่มเอา ผมฟังมาว่าดูเหมือนวันละ 15 เที่ยวนะครับ ก็เพิ่มขึ้นและก็ผู้คนก็ยังไปนครศรีธรรมราชกันเยอะมาก
ถามว่า ไปไหน ไปทำอะไร มากันจากที่ไหนบ้าง ผมยกตัวอย่างเช่น เวลาผมเดินทางบนเครื่องบินผมก็ถามคนนั่งข้างว่าไปไหน เขาบอกไปวัดเจดีย์แล้วก็กลับเลย หรือไม่ก็มีเวลาก็ไปไหว้พระธาตุ ผมถามรถเช่า รถตู้ที่รอกันอยู่เต็มไปหมดที่สนามบิน ถามว่าทุกวันนี้เขาวิ่งไปไหนกันบ้าง ทุกคนบอกว่าวัดเจดีย์หมอ ทุกคนบอกวัดเจดีย์เป็นอันดับหนึ่งหมด
เพราะฉะนั้นก็เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่สำคัญ ส่วนจะเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาหรือไม่นั้น เกี่ยวแน่ครับ เพราะว่าผมอยู่สวนโมกข์ (หัวเราะ)
โจ้ :
ครับ นั่นแสดงว่า ไอ้ไข่ เด็กวันเจดีย์นี่ ก็สร้างปรากฏการณ์ณ์ให้กับคนเมืองนคร ทำให้คนทั่วประเทศสนใจที่จะไป
หมอบัญชา :
ไม่ใช่ปรากฏการณ์ของเมืองนครหรอกครับ ปรากฏการณ์ณ์ทั้งสังคมไทยแล้วกัน กำลังจับตามอง
โจ้ :
ก่อนที่จะไปถึงเรื่องราวรายละเอียด เรามารู้จักไอ้ไข่ ก่อนนะครับ ผมว่าหลายคนตอนนี้ คงได้ยินแต่ชื่อ แต่คงอยากจะรู้ที่มาจริงๆ ว่าไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ มีที่มาอย่างไร และเรียกว่าไอ้ไข่นี่ถูกไหมครับ หลายคนบอกว่าไปกราบไหว้กันทำไมเรียกไอ้ไข่
หมอบัญชา :
ผมเพิ่งคุยกับคนแถวนั้น เขาบอกว่า เดี๋ยวนี้คนรุ่นผมยังเรียกไอ้ไข่ แต่รุ่นที่อายุประมาณสัก 30 – 40 เขาไม่กล้าเรียกกันแล้ว เขาเรียกตาไข่ เพราะเขามีความรู้สึกว่า เป็นผู้ที่คนไปหา จะไปไหว้หรือไม่ไหว้ก็ตาม ไปหา ไปบน ไปบาน ไปขอพึ่งพิง จะไปเรียกว่าไอ้ ก็กระดากปาก ตอนนี้คนกลุ่มหนึ่งเริ่มเรียกว่า ตาไข่
ถามว่าวัดเจดีย์คืออะไร ไอ้ไข่คือใคร ที่นี้พอถามว่าไอ้ไข่คือใคร ผมเรียนอย่างนี้นะครับว่า เท่าที่พยายามติดตามแล้วก็สอบถามกับผู้คนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ติดตามเรื่องนี้ก็อยู่วงใน ผมใช้คำว่าวงในแล้วกันนะครับ ทั้งเป็นผู้อาวุโส ผู้ที่ร่วมงานกับทางวัดเจดีย์มา เท่าที่ผมสรุปเอง อาจไม่ตรงกับที่คนในสรุปนะครับ ก็คือว่า
อันที่หนึ่ง เรื่องของไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์นี่ เป็นความทรงจำในท้องถิ่นที่บอกต่อกันมานาน ว่าวัดเจดีย์ซึ่งเป็นวัดร้าง มีเด็กวัดอยู่คนนึง ซึ่งติดตามขรัวทอง ขรัวทองเป็นอดีตเจ้าอาวาสของวัดเจดีย์ มาอยู่ที่นี่ เนิ่นนานละ แล้วก็ยังอยู่ที่นี่ ส่วนใหญ่ชาวบ้านบอกว่า วัวหาย ควายหาย ลืมของ ของถูกลัก ก็ไปบนไอ้ไข่แล้วก็จะเจอ นี่คือเป็นเรื่องของท้องถิ่นเลย
โจ้ :
เดิมมีเรื่องนี้อยู่แล้ว
หมอบัญชา :
มีมานานแล้ว มีมานาน จดจำ เอาว่าเป็นที่พึ่งประจำถิ่น ใช้คำว่าที่พึ่งก็แล้วกัน แต่ก็ไม่ใช่พึ่งเรื่องใหญ่เรื่องโต ก็คือเรื่องของหาย
โจ้ :
หวย ความ ? หายก็ไปบอก
หมอบัญชา :
ใช่ แค่นั้นแหละ ก็เป็นอย่างนั้นมา
โจ้ :
แล้วแสดงว่าก็ ได้คืน อะไรอย่างนี้ใช่ไหมครับ
หมอบัญชา :
ก็ได้คืน ก็เล่าลือกันต่อ บอกกันต่อ แต่ประเด็นก็คือว่า มันมีสอง สาม ประเด็น ที่ค่อยๆ คลี่ทำให้ ไอ้ไข่เนี่ย ได้รับการปรับปรุงสถานะ จากเด็กวัดที่คอยช่วยเหลือผู้คนในยามที่ยุ่งยาก ไม่ถึงกับมากอะไรนะครับ ก็ปรับมาสู่ยุคที่สอง ก็คือว่าท่านอาจารย์เทิ่ม อาจารย์เทิ่มนี่เป็นพระเกจิอาจารย์ของท้องถิ่น ก็เป็นเกจิอาจารย์ของย่านท่าศาลา สิชล ท่านอาจารย์เทิ่มเนี่ยท่านก็เป็นพระแต่ก่อน พระแต่ก่อนนี่จะไปหาที่วิเวกเพื่อบำเพ็ญกิจของสงฆ์ ท่านก็อยู่ในย่านนั้น สุดท้ายท่านก็ไปอยู่ที่วัดเจดีย์ที่เป็นวัดร้าง ราว พ.ศ. 2495 ถ้าผมจำไม่ผิด อาจารย์เทิ่มมาอยู่ที่วัดเจดีย์แล้วท่านก็ดำริที่จะทำนู่นทำนี่ แล้วก็ มีเรื่องไอ้ไข่ ท่านก็เลยทำบ้าง พ.ศ. 2526 อาจารย์เทิ่มทำเหรียญไอ้ไข่ เด็กวัดเจดีย์
โจ้ :
นี่เป็นที่มาของรุ่นแรกของเหรียญไอ้ไข่
หมอบัญชา :
แต่พอท่านทำ พ.ศ. 2526 เนี่ย ท่านก็ย้ายวัดครับ ท่านไม่ได้อยู่วัดเจดีย์ท่านย้ายไปอยู่อีกวัดนึง เมื่อมาอยู่อีกวัดนึงเหรียญไอ้ไข่ ก็แจกจ่าย ก็เป็นเรื่องทั่วๆ ไป
โจ้ :
ยังไม่ถือว่าเป็นที่นิยม
หมอบัญชา :
ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่ขณะเดียวกันมันมีเรื่องที่สองตามมา ก็คือว่า ผมว่ามีบุคคลสักสอง สามคน ซึ่งมีส่วนในการทำให้เรื่องราวของไอ้ไข่ เด็กวัดเจดีย์ มีสีสันเพิ่มเติมนะครับ อันที่หนึ่งก็คือที่ท่าศาลา สิชล ในยุคแถว พ.ศ. 2510/2520 เป็นยุคที่มีการเคลื่อนไหวของผู้เห็นต่าง มีอุดมคติที่ต่างอยากจะเปลี่ยนแปลงประเทศ อะไรอย่างนี้นะครับ สุดท้าย เขตนั้นก็จะมีทหารและ ตชด. มาตั้งแค้มป์อยู่ ที่นี้ปรากฏว่าทหารและ ตชด. มาอยู่ ก็ อยู่แบบ ก็มาอยู่วัดร้าง
โจ้ :
ก็มาอยู่ที่วัดเจดีย์เนี่ยนะครับ
หมอบัญชา :
อยู่วัดเจดีย์ อยู่วัดร้าง ก็เหมือนกับเราๆ ทั่วไป ใช่ไหม ก็คือ อยู่ที่วัดร้างก็ไม่มีอะไร แต่สุดท้ายมีข่าวว่า เรื่องเล่าบอกว่าถูกของ (หัวเราะ) เขาว่ากันว่าถูกของเยอะ เดินนู่น เดินนี่ วางปืนไม่เรียบร้อย ทำอะไรไม่เรียบร้อย ก็จะโดนยั่ว ไม่ถึงกับเอาเรื่องหรอก คล้ายๆ กับโดนยั่วแบบน่ารักๆ แบบเด็กแกล้งอะไรอย่างเนี้ย เขาว่ากันว่าไอ้ไข่ชอบทหาร
โจ้ :
อืมม
หมอบัญชา :
ก็รักทหาร ชอบทหาร อันนี้เป็นที่มาที่ทุกวันนี้รูปไอ้ไข่ใส่เสื้อชุดทหาร แต่การใส่เสื้อรูปทหารมาทีหลังนะ
โจ้ :
อ้อ ครับ
หมอบัญชา :
ทีนี้ มีอีกคนนึงก็คือผู้ใหญ่เที่ยง ท่านเป็นผู้ใหญ่อยู่ที่นั่นนะครับ ท่านก็ดำริเรื่องไอ้ไข่ ในฐานะที่เป็น ... เหมือนกับเรามีโทเท็มประจำถิ่น ท่านก็โทเทมของถิ่น ท่านก็เลยแกะรูปไอ้ไข่เป็นไม้
โจ้ :
อ๋อ ทีแรกเนี่ย มีแต่เรื่องเล่า แต่ว่ายังไม่มีวัตถุ
หมอบัญชา :
ผู้ใหญ่เที่ยงก็แกะไม้เป็นรูปไอ้ไข่ คือรูปที่ดั้งเดิม
โจ้ :
ได้ข่าวว่าผู้ใหญ่ได้รับเข้าฝันด้วย
หมอบัญชา :
ก็เขาว่างั้นแหละ (หัวเราะ) ผมไม่รู้ อันนี้ผมลืมถาม แต่เอาว่าท่านผู้ใหญ่เป็นคนแกะ แล้วก็มีเหตุเกิดกับทหาร ตำรวจ แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ขุนพันธรักษ์ราชเดช นะครับ ขุนพันธรักษ์ราชเดช ท่านเป็นผู้เล่นเรื่องอาคม ก็อยู่ในแวดวงของนักอาคม แล้วก็ผู้ที่ใกล้ชิดกับขุนพันธ์เล่าว่า ครั้งนึงท่านก็ไปร่วมในการปลุกเสกที่วัดช้างไห้
โจ้ :
หลวงปู่ทวด
หมอบัญชา :
ของหลวงปู่ทวด แล้วก็เรื่องราวทางฝั่งนู้นบอกว่า หลวงปู่ทวดมีเกลอ อยู่ทางเหนือ แล้วก็มีเด็กวัดคนหนึ่ง ยังอยู่ทางเหนือ เหนือจากวัดช้างไห้ ขุนพันธ์ท่านก็ชอบไปนู่นไปนี่ สุดท้ายเรื่องก็มาผูกว่า สงสัยเกลอของหลวงปู่ทวดก็คือขรัวทอง เด็กวัดนั่นก็น่าจะเป็นไอ้ไข่
โจ้ :
โอ้โห
หมอบัญชา :
อันนี้เป็นการสันนิษฐานกัน แต่ตอนนี้ไปๆมาๆ กลายเป็นเรื่องจริงไปแล้ว เพราะเชื่อกัน
โจ้ :
เพราะทุกคนตอนนี้เข้าใจแล้วว่าเป็นเด็กวัดที่ติดตามหลวงปู่ทวดแล้วก็มาอยู่ที่
หมอบัญชา :
และก็ผูกกันไปอีกว่า สงสัยหลวงปู่ทวดกับขรัวทองคงจะเป็นพระรุ่นเดียวกันตอนอยู่ที่วัดเสมาเมือง เพราะมันมีตำนานว่าหลวงปู่ทวดมาบวชที่เมืองนคร ใช่ไหมครับ เป็นเณรอยู่ที่สทิงพระ แล้วก็มาบวชที่นคร เรื่องก็บวกกันไปเรื่อยๆ ก็ทำให้ ตกลงนะ ทำให้ไอ้ไข่ในฐานะเป็นเด็กวัดที่น่ารัก ต้องใช้คำว่าน่าจะเป็นเด็กวัดที่น่ารัก และดี น่าเอ็นดู แล้วก็ชอบทหาร แล้วก็คอยช่วยคน ก็มาบวกกับหลวงปู่ทวดเข้าไป ทีนี้ไอ้ไข่ก็มีที่มา แล้วก็เพิ่มพูนภาพลักษณ์ตามลำดับ ที่นี้ไปที่ท่านอาจารย์เทิ่ม ท่านอาจารย์เทิ่มพอท่านย้ายออกมา ก็ไม่ได้ทำอะไร แต่ทางฝ่ายวัดเจดีย์ที่ทำไว้ก็ยังไม่หมด ก็แจกกันมาเรื่อยๆ
โจ้ :
ครับ
หมอบัญชา :
เรื่องเหล่านี้ก็เดินมาแบบเรื่องของ ต้องใช้คำว่าเรื่องของท้องถิ่นจริงๆ
โจ้ :
ตำนานของท้องถิ่นเลย
หมอบัญชา :
จังหวัดก็ไม่รู้เรื่อง คนในเมืองก็ไม่รู้เรื่อง มันรู้เรื่องแต่ในแถวๆ นั้นกับคนที่แสวงหาของขลัง สองอย่างเท่านั้นเองครับ คงจำได้นะครับว่าช่วงนั้นเกิดจตุคามรามเทพ
โจ้ :
โอ้โห โด่งดังมาก
หมอบัญชา :
พ.ศ. 2530 เริ่ม พอ แถว พ.ศ. 2540 จะ 50 เรื่องไอ้ไข่นี่คนยังไม่รับรู้ แต่ไอ้ไข่มีแล้ว
โจ้ :
มีแล้ว
หมอบัญชา :
(พ.ศ.) 26 .. 28 .. 40 .. ไอ้ไข่มีแล้ว เท่าที่ผมตามได้ ไอ้ไข่ก็เป็นประมาณนี้
โจ้ :
ครับ แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ได้ยังไงครับคุณหมอ จากประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ตำนานท้องถิ่นขึ้นมาจนตอนนี้ ถือว่าคนทั้งประเทศ รู้จักไอ้ไข่ มันเริ่มจากตรงไหนครับคุณหมอ
หมอบัญชา :
ผมว่า จริงๆ มันมีสามประเด็นด้วยกันนะครับ แต่เดี๋ยวค่อยๆเพิ่มทีละประเด็น แต่ประเด็นที่หนึ่งผมคิดว่าเป็นประเด็นที่อยู่ลึกๆ เป็นเรื่องของ ธรรมชาติของผู้คนนะครับ มนุษย์เราเนี่ย ปุถุชนคนธรรมดาอย่างเรา ก็คงจำได้ ตอนที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ ท่านก็บอกว่ามนุษย์เป็นอันมาก มีภัยคุกคามแล้ว ก็แสวงหา ภูเขาบ้าง ป่าไม้บ้าง เป็นสรณะ นี่ก็เป็นแบบเดียวกัน อันนี้มาจากเรื่องที่หนึ่ง เป็นเรื่องของธรรมชาติของมนุษย์ ผู้คน และ ปุถุชน ไม่ว่าที่ไหน เมื่อไหร่
อันที่สอง อาจจะต้องใช้คำว่า มันเป็นสิ่งที่สะสมมาของจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีแง่มุม ในการทำ สะสม พอกพูน มิติเรื่องอย่างนี้กันมาอย่างต่อเนื่อง
อันที่สามก็คือ บวกไปด้วยการบริหารจัดการ ที่น่าสนใจ นะครับ เพราะฉะนั้นผมมาเอาข้อที่สามนี่ก่อน
โจ้ :
ผมก็สนใจครับคุณหมอ
หมอบัญชา :
ในการบริหารจัดการที่น่าสนใจ ต้องใช้คำอย่างนี้ว่า จริงๆแล้วกรณีไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ก็น่าที่จะอยู่ในแวดวงประมาณที่ผมเล่ามา จริงๆแล้วบุคคลสำคัญที่สุด ผมก็ต้องยกให้กับท่านแว่น ท่านแว่นเจ้าอาวาสผมไม่รู้ชื่อจริงอะไร รู้แต่ว่าเป็นท่านแว่น รู้ว่าท่านตอนเด็กๆ เป็นเณรมาอยู่ที่ในเมืองนคร ท่านเป็นคนบ้านวัดเจดีย์ ซึ่งเป็นวัดร้าง แต่ตอนเด็กมาบวชเณรอยู่ในเมืองนครศรีธรรมราช อยู่ที่วัดจันทาราม ก็หน้าบ้านผม แล้วก็อยู่ที่วัดใหญ่ชัยมงคล ก็ข้างๆบ้าน อยู่สองวัดทั้งวัดจัน/วัดใหญ่ แล้วก็ท่านก็เป็นคนที่ใฝ่ศึกษาเรียนรู้ จนบวชเป็นพระ เมื่อท่านบวชเป็นพระ ทราบมาว่าท่านเกิดราวๆ ปี พ.ศ. 2520 เมื่อบวชเป็นพระ พ.ศ. 2540 พอบวชได้สองพรรษา ปรากฏว่าที่วัดเจดีย์ขาดเจ้าอาวาส ชาววัดเจดีย์ก็บอกนิมนต์มาเป็นเจ้าอาวาส ท่านก็เลยเป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์ ตั้งแต่บัดนั้นมา
เมื่อท่านมาอยู่ เท่าที่ผมทราบ ท่านก็เป็นพระที่สนใจ เรียนรู้ แล้วก็ใฝ่พัฒนา ก็หาแง่มุมพัฒนา ก็ตอนที่ท่านกลับไปที่วัดเจดีย์ วัดเจดีย์ก็เป็น
โจ้ :
ก็เป็นวัดร้างอยู่
หมอบัญชา :
เป็นวัดร้าง แล้วก็ที่ของวัดจริงๆ ใหญ่มาก แต่ก็เหลืออยู่นิดเดียวแล้ว ท่านก็ ไหนๆ ก็มาอยู่นี่ก็ หาทางที่จะปรับปรุงวัด ฟื้นฟูวัด ที่นี้ถามว่าพอจะฟื้นฟูวัดร้างสักวัดนึง จะเริ่มด้วยเรื่องอะไร ก็มีเรื่องไอ้ไข่อยู่นี่ ใช่ไหม ก็เป็นกิมมิค ก็เป็นเครื่องที่เอามาเป็นประกอบ
โจ้ :
ครับ
หมอบัญชา :
ท่านก็เริ่มด้วยการทำเรื่องนี้ ฟังมาว่า ตอนที่เริ่มคนก็ไม่รู้จักอะไรหรอก แต่ท่านก็พยายามหากลวิธีนะครับ จริงๆที่วัดเจดีย์นี่เขามีของสำคัญไม่ใช่ไอ้ไข่นะ
โจ้ :
มีอะไรบ้างครับ
หมอบัญชา :
อันที่หนึ่งก็คือ ขรัวทองซึ่งเป็นพระ แล้วก็พระพุทธรูปที่องค์ประธาน อยู่ในวัดเจดีย์ อันนี้ถือว่าเป็นปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุสำคัญ และปูชนียบุคคล สำคัญ ของวัดเจดีย์ ชาวบ้านจะเรียกว่าท่านเจ้าวัด ท่านเจ้าวัดหมายถึงพระพุทธรูปที่เป็นประธานของวัด
อันที่สองก็คือ ขรัวตาทองซึ่งเป็น เรียกว่าเป็นบูรพาจารย์ของวัดเจดีย์ ซึ่งถามว่าอยู่ที่ไหน ไม่มีรูปท่านหรอก ก็อยู่ในรูปท่านเจ้าวัดนั่นแหละ อยู่ในพระพุทธรูปนั้น แล้วก็ไอ้ไข่ เป็นเพียงแค่ เด็กวัดคอยรับใช้ ของวัด อันนี้เวลาเขามีอะไรเขาจะไหว้ท่านเจ้าวัด บูชาท่านเจ้าวัด สงกรานต์ก็มาทรงน้ำท่านเจ้าวัด แล้วก็ .. ไอ้ไข่ด้วย ก็เหมือนเราไปวัด ก็มีเด็กวัดน่ะ มีแค่นั้น
แต่ทุกวันนี้ มันเหมือนกับท่านเจ้าวัดหายไปเลย แล้วคนก็เรียกแต่ไอ้ไข่ เพราะฉะนั้นคน ก็จะนึกถึงอย่างงี้ ท่านก็จะทำอะไรดี ท่านก็นึกถึงงานสงกรานต์ ใครๆก็กลับบ้าน ท่านก็เลยเริ่มด้วยการจัดงานสงกรานต์เพื่อมาสรงน้ำพระพุทธรูปองค์สำคัญของวัดเจดีย์ ซึ่งมีความระลึกว่าท่านขรัวทองก็อยู่ในพระพุทธรูปองค์นั้น นะครับ เรื่องคือแค่นั้น แล้วก็มีไอ้ไข่เป็นของสนุกของเล่น
โจ้ :
เพราะว่ามีเรื่องนี้อยู่ที่วัด
หมอบัญชา :
แต่ประเด็นก็คือว่า ด้วยความที่ท่านเป็นพระรุ่นใหม่ แล้วท่านก็เดินทางเยอะ ท่านก็เลยทำประชาสัมพันธ์โฆษณางานให้มันเป็นที่รับรู้ให้ทั่วไป ท่านก็เลยขึ้นป้าย ป้ายชุดแรกของท่าน จากประจวบไปจนถึงปัตตานี
โจ้ :
โอ้โห
หมอบัญชา :
เพื่อบอกว่า มานครก็ไปงานสงกรานต์ แล้วก็ไอ้ไข่วัดเจดีย์
โจ้ :
ป้ายที่อยู่ตามริมทางอย่างนี้เหรอครับ
หมอบัญชา :
ใช่ๆ ที่เราขึ้นป้ายกัน โฆษณาทุกงานก็ขึ้น แต่ละงานที่ขึ้นป้าย แต่ความแหลมคมของท่านแว่น ท่านไปเจรจากับกรมทางหลวงขอให้ขึ้นป้ายแบบป้ายกรมทางไง ป้ายสีขาวขอบดำเหมือนป้ายกรมทาง เหมือนป้ายจังหวัดนครศรีธรรมราช
(ภาพจาก youtube)
โจ้ :
ก็เหมือนป้ายบอกทางไปที่วัด
หมอบัญชา :
ใช่เป็นป้ายบอกทาง
โจ้ :
แต่ว่าติดต่อกับทางกรมทาง
หมอบัญชา :
คือว่า ทุกวันนี้กรมทางเขาอนุญาตแต่ต้องไปจ่ายค่าธรรมเนียมให้กรมทางเหมือนกัน ป้ายละกี่ตังก็ไม่รู้ละ สุดท้ายก็ จ่ายเงินให้เขาเขาก็จ้างหาคนทำ ทำก็เป็นป้ายที่รับอนุญาตและติดตั้งถาวรได้ ได้รับอนุญาตจากกรมทาง
ผมว่าคลิกที่สำคัญคือมีเรื่องที่คนโดน และดูง่ายๆ อันที่สองก็คือ มีป้ายบอกทาง คือเรียกว่าขับรถพอเลยประจวบปุ๊ป ก็เห็นชื่อป้ายไอ้ไข่วัดเจดีย์ เห็นมารายทาง อ้าวต้องเลี้ยวหน่อยแหละ ใช่ไหมครับ จากปัตตานีขึ้นไป ก็ไปแวะสักหน่อย คือจากไหน จากไหนมาก็มาหมด เริ่มด้วยสองเรื่องนี้
แต่อันที่สามที่สำคัญ คือการจัดการภายในวัด เท่าที่ผมทราบ ผมว่ามีสามมิติ ที่ในวัดเจดีย์ ภายใต้การกำกับของท่านแว่น อันที่หนึ่ง คือ พระก็มีวัตรปฏิบัติ ที่ฟังมาว่าท่านแว่นทุกวันนี้ก็ยังอยู่ง่าย เป็นพระแบบอยู่ง่ายเรียบง่ายไม่ได้มีอะไรมาก แล้วก็พระที่มาอยู่ด้วยก็พยายามรักษาให้อยู่กันอย่างนี้ ผมก็ถามว่าท่านแว่นเป็นเกจิไหม ไม่เป็น ท่านเป็นแค่เพียงพระสังฆาธิการนักพัฒนา และก็วางตัวแบบเรียบง่ายไม่มีอะไรมาก นั้นคือประเด็นที่หนึ่ง
อันที่สอง ระบบการจัดต่างๆในวัด มีหลัก มีกฎ มีกติกา มีข้อตกลง ยกตัวอย่างเช่น วัดเหลือที่ดินเท่านี้ ก็เท่านี้ เดิมมันมีที่วัดเดิมใช่ไหม ชาวบ้านเค้าอยู่ อย่าไปรบกวนเลยเขาอยู่กันมานานแล้ว ทุกวันนี้วัด จากที่เหลือไม่กี่ 10 ไร่ ก็กลายเป็น 200 ไร่ ก็เอาเงินที่คนเค้าเอามาทำบุญนี่แหละซื้อที่ขยายวัด แล้ววัดเดิมไม่มีอะไรเลยมีศาลาหลังเดียว ก็เอามาพัฒนาวัด เรียกว่าปัจจัยทั้งหลายเอามาใช้ในการพัฒนา และบำรุงวัด แล้วตอนนี้ก็เริ่มออกไปช่วยที่อื่นด้วย
เพราะฉะนั้น การจัดการภายในอันที่หนึ่ง คือฝ่ายพระก็ชัดเจน อันที่สอง ผมใช้คำว่า ฝ่ายคณะกรรมการผู้เกี่ยวข้อง เท่าที่ผมทราบ ก็อยู่ภายใต้ระบบการกำกับของหลายฝ่าย ตัวอย่างเช่น ผู้ใหญ่บ้านกำนันทุกคนก็มาเกี่ยวข้องด้วยมาช่วยกันดูแล คือไม่ได้มองว่านี่เป็นวัดของคณะบุคคลหรือของใครแต่เป็นของชุมชน อำเภอ ตำรวจ ทหาร ก็มาช่วยกันดูแลสอดส่อง เงินทั้งหลายก็เข้าสู่วัด เท่าที่ผมทราบมา
เรียกว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนั้นเป็นระบบหมดเห็นว่ามีคณะกรรมการตั้ง 7-8 คณะ แล้วแต่ละคณะไม่เกี่ยวเนื่องกัน ห้ามมาก้าวก่าย
โจ้ :
ทำให้การตรวจสอบชัดเจน
หมอบัญชา :
ใช่ แต่อันที่สาม ที่สำคัญก็คือมีหลักการให้ชุมชนรายรอบผู้คนรอบวัดหรือชุมชนรายรอบมามีบทบาทหมุนเวียนกันมาช่วยทำงานในวัด หรือมาช่วยปฎิบัติบางอย่าง แบ่งบทบาทหน้าที่ รวมทั้งธรรมดามนุษย์ก็หากินมาขายของ มีรายได้ เท่าที่ผมทราบว่าท่านออกแบบ ฉะนั้นด้วยปัจจัยสามอย่าง คือ (หนึ่ง)มีเรื่องที่ดี แล้ว (สอง)ก็มีแผน และสามการจัดการภายในที่ดีก็ทำให้ ตลอดตั้ง พ.ศ. 2540 มาจนถึง พ.ศ. 2560 20 ปี ก็ค่อยๆ พัฒนามาเรื่อย ๆ
โจ้ :
แสดงว่าไม่ใช่พัฒนาทีเดียวแล้วก็เจริญเลย แต่ว่าค่อยๆ พัฒนามาทีละลำดับ
หมอบัญชา :
คนเริ่มรู้จักไอไข่จริง ๆ ราว ๆปี พ.ศ. 2555/2556 คือตอนจตุคามขึ้น จตุคามลงไอไข่ก็อยู่ อยู่อย่างนั้นจนประมาณสัก 5-6 ปีที่แล้วนี่เองที่คนเริ่มรู้จักไอ้ไข่มากขึ้นแล้วก็ป้ายชี้ทาง ตอนนี้ข่าวว่าไปถึงเชียงใหม่แล้วละครับ (หัวเราะ) ฟังมาว่านะขับรถมาจากเชียงใหม่ก็เจอป้ายไอไข่วัดเจดีย์แล้วงั้นมันก็เลยเป็นที่รู้จัก
โจ้ :
แสดงว่ากลยุทธ์อันนี้ถือว่าใช้ได้
หมอบัญชา :
ย้อนไป ถามว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ผมคิดว่าอาจจะต้องมอง ผมยกไปสองเรื่อง แต่เรื่องที่สองก่อน คือนครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดบ้านเกิดผมเอง แม้จะบอกว่าเป็นเมืองพระมีพระธาตุ แต่ทุกคนก็จะตั้งคำถามว่า แล้วจตุคามเกี่ยวอะไรกับพระธาตุ จตุคามคือผู้ดูแลพระธาตุ แต่แล้วทำไมไปไม่ถึงหัวใจพระพุทธศาสนา ตำแหน่งที่ตั้งของวัดเจดีย์จริง ๆ แล้วมันเป็นเมืองโบราณเก่าแก่
โจ้ :
ในพื้นที่ตรงนั้น
หมอบัญชา :
รอบวัดเจดีย์แหละครับ ตรงนั้นถ้าใครรู้จักมันจะมีเขาคา มีเขาพรง แล้วก็โดยรอบจะมีการพบแท่งฐานธรณีประตูซึ่งทุกฝ่ายก็ตีว่าสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเทวสถานในศาสนาพราหมณ์ เต็มไปหมด เจอเยอะมากแม้กระทั้งวัดไอไข่วัดเจดีย์เองก็มีอยู่ มีการสำรวจของกรมศิลปากรไว้ด้วยว่าพบ เพราะดังนั้นตรงนี้มันเป็นดงศาสนสถานเดิม ราว 1500 ปี แล้วคิดว่าน่าจะเป็นศาสนพราหมณ์ อาจารย์ศรีศักร (วัลลิโภดม) ท่านเคยบอกว่าตอนที่ท่านไปนครไปกับพี่สุจิตต์ พี่ขรรค์ชัย ตอนเป็นนักศึกษา ยังเดินแบกศิวลึงค์กันเลย
ศิวลึงค์เป็นดงเลยท่านบอก ก็คือมีไข่พระศิวะเป็นดงอยู่แล้ว ผมกำลังจะบอกว่าแผ่นดินนี้เป็นแผ่นดินที่มันมีเรื่องราวอย่างนี้มานาน อันที่สอง ก็คือตรงตำแหน่งวัดเจดีย์อยู่ในอำเภออะลอง เป็นอำเภอเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา เป็นเมืองเลย ตอนสมัยรัตนโกสินทร์มีแหล่งแร่สำคัญ แล้ววัดเจดีย์นี้มีอายุเก่าเท่าที่จดจำได้น่าจะถึงอยุธยา วัดนี้เป็นวัดเก่าเพราะเคยมีบันทึกว่า ปีสองพันสามร้อยกว่า ๆ มีการไปสร้างวัดอีกแห่ง ก็นิมนต์พระจากวัดเจดีย์นี่แหละไปสวดอย่างนี้เป็นต้น
เพราะฉะนั้น แผ่นดินนี้เป็นแผ่นดินที่มีเรื่องการเคลื่อนไหวในเรื่องของมิติ ว่าด้วยสิ่งที่มนุษย์ผูกพันหรือแสวงหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของศรัทธามาก่อน ทั้งศาสนาพราหมณ์ ศิวลึงค์ก็เยอะแยะไปหมด แล้วก็เป็นวัดในพระพุทธศาสนา ที่นี้สำหรับนครศรีธรรมราชทุกคนมองว่าเป็นเมืองพระ หอจดหมายเหตุเราก็กำลังร่วมกับคณะสงฆ์ในเมืองนครศรีธรรมราชขอรับบิณฑบาตหนังสือบุดคืนจากที่มีคนมาขโมยไปจากมาหาวิทยาลัยราชภัฏแล้วได้กลับมา 550 เล่ม
โจ้ :
ไม่น้อยเลยนะครับ
หมอบัญชา :
ที่คนส่งมาคืนปรากฏว่าใน 550 เล่ม ที่มากที่สุดคือ 170 เล่ม เป็นเรื่องไสยศาสตร์และโชคลาง ผมกำลังจะบอกว่า ก็คนแถวนี้เขาสนใจเรื่องพวกนี้กันเยอะมาก ตำราพระพุทธศาสนามีประมาณ 70 เล่ม ตำราเรื่องสุขภาพ 100 กว่าเล่ม เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าผู้คนส่วนใหญ่สนใจอะไร ก็มี ความเชื่อ ไสยศาสตร์ สุขภาพ แล้วก็จะมาถึงพุทธศาสนา
ก็มาถึงอันที่สาม คือธรรมชาติของคน มนุษย์เราทั้งหลายถามว่า อย่างคนไทยมีประมาณ 77 ล้านคนหรือท่านกลับไปดูที่บ้านท่านมีกันอยู่ 5 คน 6 คนนี้ สนใจเรื่องอะไรกันบ้าง มีที่พึ่งกันอยู่หลายอย่างตามที่พระพุทธเจ้าบอก บางคนบางเรื่องพึ่งอย่างนู้น แต่บางเรื่องเขาพึ่งอย่างนี้ ตรงไปตรงมาคือชีวิตของพวกเราทั้งหลายรวม ๆแล้ววนเวียนอยู่กับเรื่องของการกิน การอยู่ การปลอดภัยหรือการมีความมั่งคั่ง มีความมั่นคง หัวใจเราก็อยู่ตรงนั้น ที่นี้คำสอนในพระพุทธศาสนาก็สอนในเรื่องของการดูแลจิตใจ แต่พอเรื่องทางโลก ต้องอาศัยทางด้านอื่นช่วยเพราะฉะนั้นไอ้ไข่จึงมาตรงนี้
โจ้ :
มันเหมือนกับบางอย่างด้วยลำพังตัวเอง บางครั้งมันอาจจะรู้สึกว่าไม่มั่นใจ ไม่มั่นคง ในการที่จะทำ ผมฟังจากท่านแว่นท่านบอกว่าจริง ๆแล้วถึงแม้ไอ้ไข่จะช่วยในเรื่องของโชคลาภอะไรก็ตาม แต่จริง ๆแล้ว ท่านบอกว่าเราต้องช่วยตัวเองก่อน เราต้องพึ่งพาตัวเอง แล้วสิ่งนี้ค่อยเป็นเป็นที่พึ่งทางใจอีกทางหนึ่ง
หมอบัญชา :
ในความเห็นผมนะครับ ปรากฏการณ์ณ์ของไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ ก็เป็นปรากฏการณ์ณ์ธรรมดาของผู้คนที่เป็นปุถุชนแล้วก็ของสังคมไทย ที่เราก็เป็นเมืองพุทธที่ผสมกับหลายหลักคิดและก็หลายศรัทธาจึงไม่ได้แปลกใจและก็ไม่ได้มีการวิตก จริง ๆแล้วทุกบ้านทุกเมืองก็มีแบบนี้แหละ มีวัดที่เป็นที่สอนหลักศาสนา กับวัดที่เป็นที่พึ่งทางด้านประเพณี พิธีกรรม มีวัดที่ช่วยเสริมการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจชีวิตสังคมเท่าที่ติดตามมา คณะของวัดเจดีย์เหมือนกับว่ายังอยู่ในร่องในรอยและเป็นระบบ เพียงแต่ว่ามีการจัดการพิเศษ แต่สิ่งที่น่าห่วงใยคือ พอสเกลของความสนใจหรือการแห่กันมาของผู้คน ซึ่งมันสะท้อนเลยนะว่า แสดงว่าสังคมไทยมันต้อง ว้าวุ่น แล้วมันวุ่นวาย แล้วก็ไม่รู้จะไปไหนกันจริงจังเลย ก็เลยแห่กันมาแบบเหลือเชื่อนะครับ ซึ่งอันนี้มันเกินกำลัง ขนาดพระเท่าที่มี กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อำเภอ มาช่วยกันขนาดนี้แล้ว เอาไม่อยู่
โจ้ :
เห็นว่าตอนที่เหรียญออกมาครับคุณหมอ 4-5 หมื่นคนไปรอ บางทีต้องยกเลิกเลย
หมอบัญชา :
อันนี้ยกเลิกเลยเพราะผมทราบความมาว่า คือก็เป็นเรื่องธรรมดา คือ เหตุการณ์นี้สมมุตินะถ้าทำกับสวนโมกข์คนที่มาจากสวนโมกข์ก็ถูกกรอง ว่ามาแนวนี้ๆ มาปฏิบัติธรรม มาร่วมประเพณี พิธีกรรม บอกว่าพอแล้วได้โปรดอยู่ในความสงบ หรืองานพระบรมศพก็ไปด้วยความเคารพ ก็สงบเรียบร้อยหมด แต่พอดีบอกว่าแจกเหรียญ หรือแค่มารับใบจองแต่คนที่มา มาอีกแบบหนึ่ง ขอร้องให้เรียบร้อยก็ไม่ได้ ก็ต้องเลิก เพราะสิ่งที่ทำมันไปเกี่ยวกับเรื่องความปรารถนาของปุถุชน ที่เขาก็ไม่ได้สนใจอะไร สนใจแค่ขอให้ได้
และก็หวังที่จะเอาไปทำกำไร จริงๆที่อยากได้ผมก็เชื่อว่าอยากเอาไปขายต่อกันทั้งนั้นแหละ ผมเข้าใจว่าวัดก็ต้องคิดหนัก มันมีเหตุสำคัญอีกเรื่องหนึ่งเท่าที่ผมสดับรับฟังมา ผมฟังมาว่าทางวัดและทางคณะก็ประกาศชัดแล้วว่า ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ ที่วัดเจดีย์ทำเขามีเท่านี้เท่านั้น ส่วนที่อื่นจะไปทำก็เป็นเรื่องของที่อื่น ไม่เกี่ยวกับวัดเจดีย์และก็ถ้าไปทำแล้วก็ขอให้ระบุด้วยว่าเป็น ของใครทำ แต่ปัญหาตอนนี้คือทุกคนไม่ยอมระบุว่าเป็นของใครทำ
ทำออกมาเป็นไอ้ไข่วัดเจดีย์หมดเลยทุกคนก็ดูแล้วก็งงหมด ซึ่งอันนี้ก็เนื่องจากไปยุ่งกับเรื่องพวกนี้ มันก็จะยุ่งกันอย่างนี้แหละ ท่านก็ต้องคลี่คลายเพราะว่าพอสิ่งที่ทำมันไปเกี่ยวกับเรื่องแนวนี้และคนที่จะเข้ามาป้วนเปี้ยนกับแนวอย่างนี้มันก็มาก มันจะต่างกับอย่างเราที่สวนโมกข์ เราทำเรื่องปฏิบัติธรรม เรื่องศาสนาประเพณี ไม่มีใครมาแย่ง ไม่มีใครมาเที่ยวแอบทำ และทำแล้วก็ไม่มีลาภสักการะนะครับ ทางฝ่ายนู้นมันเข้าไปอยู่ในกระบวนการลาภสักการะแล้วก็การลงทุนการหวังผลแล้วก็ไปอิงพาณิชยการ ก็เป็นความไม่ง่ายที่ท่านทั้งหลายจะก็ต้องเผชิญ
ผมว่ามีสามประเด็น ไอ้ไข่คือใคร เป็นมายังไง เท่าที่เล่ามาก็ประมาณนี้แหละครับ ไอ้ไข่ก็ไม่ใช่ใคร ทั้งหมด ก็มีแค่เรื่องพื้นฐานนิดนึงและเราก็เติมๆกันไป แล้วก็ผ่านกระบวนการจัดการแต่พอดี มันไปเหมาะเข้ากับภาวะที่ว้าวุ่นแล้วก็ขาดที่พึงก็แสวงหากันของผู้คนและสังคมแล้วก็แห่กันมา ถามว่าจำเป็นไหม จำเป็น สำหรับคนที่เขายังจำเป็น แต่จริงๆแล้วหัวใจของพระพุทธศาสนามีอะไรมากกว่านั้นเยอะ ที่เห็นและเข้าใจ ผมเองก็มีนะไอ้ไข่ มีพระให้มามีคนให้มา
โจ้ :
รุ่นไหนครับ 26 หรือป่าวครับ
หมอบัญชา :
ใหม่ล่าสุดไม่รู้วัดไหน มีเป็นแค่ตัวอย่างไง
โจ้ :
ไม่รู้วัดไหนทำด้วย
หมอบัญชา :
ไม่รู้ไม่สนใจไง ไม่ได้สนใจ ก็มีแค่ที่เป็นตัวอย่าง เอาอย่างน้อยสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อเอามาคิดว่าแล้วเราจะทำงานกันอย่างไรต่อในพระพุทธศาสนา เพื่อเพื่อนที่เขายังต้องการก็ไม่เป็นไร แต่เพื่อนที่เขาอาจจะต้องการแล้วเขาก็ผ่านแล้ว เราก็มาทำงานที่ลึกซึ้งกว่านี้ ผมก็เพิ่งทราบมาว่าวัดเจดีย์กำลังจะสร้างสถานปฏิบัติธรรม เพื่อต่อไปนี้ไหว้พระก่อน ปฏิบัติธรรมกันก่อนด้วย ได้ยินมาอย่างนั้นนะก็เออสนุกดี ท้าทายดี
โจ้ :
ครับวันนี้นะครับคุณหมอได้แจกแจงปรากฏการณ์ณ์ที่เกิดขึ้น กับเรื่องของไอ้ไข่ในมิติที่เราอาจไม่ได้คิดเลยนะครับ ว่า บางคนอาจจะมองเป็นเรื่องความเชื่อ และก็ศรัทธาของคนที่แห่ไปอย่างล้นหลาม แต่ จริงๆ เบื้องหลังมีอะไรอีกหลายอย่างเลยนะครับ ที่คุณหมอบอกเป็นพื้นที่ศรัทธาเดิมอยู่แล้วตรงนี้มันมีรากของคนที่เกิดศรัทธาตรงนี้ และที่สำคัญคือหัวใจคือ การบริหารจัดการ งานนี้ไม่ได้สำเร็จแบบง่ายๆ แต่ข้างหลังมีกระบวนการจัดการที่สำคัญ ชุมชน ชาวบ้าน หน่วยงานต่างๆเข้ามามีส่วนร่วม
ผมว่ากระบวนการเหล่านี้แหละ เป็นกระบวนการศึกษาที่ดีมากเลยนะฮะ ยิ่งคุณหมอบอกเมื่อสักครู่ว่าต่อไป จะมีเรื่องของการปฏิบัติธรรมด้วยนั้นแสดงว่าสามารถบูรณาการกับสถานการณ์ต่างๆที่มันเกิดขึ้น แล้วหยิบเอาประโยชน์ที่คนที่จะไปจะได้รับ ก็คิดว่าเรื่องของไอ้ไข่เนี่ย วันนี้น่าจะพอไขข้อข้องใจกับผู้คนหลายคนที่สงสัย กันว่าไอ้ไข่เป็นใคร แล้วก็บริบทต่างๆที่เกิดขึ้นจนถึงทุกวันนี้ คุณหมออยากจะมีอะไรฝากเพิ่มเติมไหมครับก่อนที่จะจบรายการ
หมอบัญชา :
คือตอนนี้ ทางหอจดหมายเหตุพุทธทาสเพิ่งจะเสร็จงานชิ้นหนึ่งร่วมกับ เดิมก็คือ สกว. ว่าด้วยเรื่องกรณีศึกษาการบริหารจัดการที่น่าสนใจ ในการพระพุทธศาสนาไทยนะครับ ในการศึกษาของเราไม่มีในกรณี วัดเจดีย์ และไอ้ไข่นะครับแต่เรามี 3 เซ็ต เซ็ตที่หนึ่ง ก็คือว่าด้วยเรื่องของการสงเสริมการปฏิบัติธรรม เซ็ตที่สอง คือว่าด้วยเรื่องการส่งเสริมกิจการศาสนประเพณี พิธีกรรม อันที่สาม ก็คือเรื่องของการจัดการศาสนสมบัติ ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มนี่เราศึกษากลุ่มละ 4 วัด และองค์กร โดยรายละเอียดนั้นมีกรณีศึกษา ที่น่าสนใจมากนะครับ เราทำออกเป็นคู่มือเพื่อให้ท่านเอาไปทำต่อ และไปใช้กันขยายต่อ ดังนั้นกรณีศึกษาไอ้ไข่วัดเจดีย์ ผมว่าก็เป็นอีกกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ว่าด้วยการศึกษาเครื่องระลึก ผมใช้คำว่าเครื่องระลึกนะ
โจ้ :
เป็นคำที่ดีนะครับ คุณหมอครับ
หมอบัญชา :
คือผู้คนบอกเครื่องรางของขลังใช่ไหม จริงๆเนี่ย สังคมไทยก็ไม่รู้มาไงนะ เรื่องพระพิมพ์เหรียญ จริงๆนี่เขาเอาไว้สืบพระศาสนา เอาไว้ฝังไว้ตามเจดีย์นะครับ แต่สุดท้ายสังคมไทยเอามาเป็นเหรียญนะครับ ท่านต้องทราบนะครับว่าเหรียญนี้ คนไทยเกือบทั้งหลายที่ถือพุทธมีกันทั้งนั้น รู้ไหมว่าคนต่างชาติ เขาตามาทึ่ง แล้วก็ไปด้วยนะ มาเล สิงค์โปร
โจ้ :
เริ่มตามแล้ว
หมอบัญชา :
ตามกันนานนะครับ ไต้หวัน ฮ่องกง อันนี้คนจีนก็มา วัดเจดีย์เนี่ยก็มาหมดนะ มาเล สิงค์โปร จีนไปหมดแล้ววัดเจดีย์ไอ้ไข่เนี่ย เฉพาะนั้นต้องใช้คำว่านี้ก็คือเรื่องของเครื่องระลึก เครื่องระลึกของคนทั่วไปเขาก็ต้องการที่พึ่งแบบที่พระพุทธเจ้าท่านบอกไว้ ว่าคนทั่วไปเขาก็อยากหาที่ระลึกที่พึ่ง
โจ้ :
แล้วเราจะยกระดับ จากที่พึ่งทั่วไปได้ไหมครับ
หมอบัญชา :
มันต้องมาดูไงผมว่าเป็นกรณีศึกษาเครื่องระลึกแบบโลกๆ แบบโลภๆ แบบลาภ แบบโลภ ก็เป็นอย่างหนึ่ง เครื่องระลึกแบบทางจิตเนี่ย ซึ่งสวนโมกข์เราก็พยายามพัฒนาอยู่นะครับ ก็มีเครื่องระลึก เรามีปิ่นโต (หัวเราะ) เรามีชาม มีเสื้อ ก็แบบเดียวกัน วันนี้ผมมาพูดเรื่องไอ้ไข่ผมใส่เสื้อ สัมปชัญญะมา จะได้มีสติสัมปชัญญะ ซึ่งอันนี้ มีค่ามากมายสำหรับผมมากกว่ารูปไอ้ไข่มากกว่ารูปเจดีย์ อันนี้พึ่งได้จริงด้วยชัวร์ ไม่ต้องบน ไม่ต้องแก้บน ในความรู้สึกของผมเนี่ยคือวัดก็ต้องมีการสร้างเครื่องระลึกทั้งนั้นแหละ เพราะคนยังต้องการ เครื่องระลึกก็มีหลายระดับ ผมคิดว่าอันนี้ก็เป็นอีกอันหนึ่งที่อยากจะ ลงท้ายที่ว่าเวลาเห็นอะไรเกิดขึ้นนะครับ มองให้ครบให้รอบ และก็ผมว่าทุกอย่างมันมี 3 แง่มุม แง่มุมที่ 1 ก็คือที่ดี ชอบและใช่ อันที่ 2 ที่ไม่ชอบและรู้สึกว่าไม่ใช่ อันที่ 3 ก็คือรู้สึกแบบกลางๆ ในกรณีไอ้ไข่วัดเจดีย์เนี่ย ผมว่ามีเรื่องดีอยู่ข้างในนั้นเยอะ แต่มีบางอย่างที่ไม่ใช่แนวที่เราจะทำ ท่านใดจะทำก็ทำเพราะมีคนต้องการ แต่สวนโมกข์เราก็จะทำอีกแบบหนึ่ง แล้วก็มาร่วมไม้ร่วมมือแลกเปลี่ยนกันครับ
โจ้ :
ครับวันนี้นะครับ เรื่องราวที่ทุกคนติดตามกันมาเรื่องไอ้ไข่ก็คงไขปริศนาเรื่องนี้ทั้งทางโลกและทางธรรมนะครับ เราก็อย่าหยุดแค่ศรัทธา ที่อาศัยสิ่งนอกตัวเป็นที่พึ่ง แต่เราคงต้องกลับมาหาที่พึ่งที่เราสามารถ พึ่งได้อย่างถาวรคือการพึ่งการปฏิบัติของตัวเรานะครับ เราก็คงต้องเติมปัญญาในสิ่งที่เราได้มอง อย่างวันนี้คุณหมอทำให้เรามองเห็นไม่ใช่แค่มิติเดียวแต่มองในหลายๆมิติจากจากเหตุการณ์การเดียว คิดว่ากรณีนี้น่าจะเป็นกรณีศึกษาสามารถเอาไปใช้กับพื้นที่ กับองค์กร ชุมชน ของแต่ละท่านได้ วันนี้นะครับผมขอขอบคุณหมอบัญชา พงษ์พานิช ที่มาร่วมรายการในวันนี้นะครับ มีโอกาสจะชวนคุณมาคุยในเรื่องอื่นๆอีกนะครับ ถ้ามีโอกาส สำหรับวันนี้ผมขอลาคุณผู้ฟังไปก่อน สวัสดีครับ