แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เวลา : ระหว่างที่เรารอแขกผู้ร่วมสนทนาของเรา เดี๋ยวเราขออนุญาตเล่าถึงที่มาที่ไปของรายการ clubhouse ของสวนโมกข์กรุงเทพกันก่อนนะครับ clubhouse สวนโมกข์กรุงเทพ เกิดขึ้นจากการที่เราได้รับ request ครับ ได้รับข้อเรียกร้องจากหลาย ๆ ทางว่าอยากให้สวนโมกข์นี่มี clubhouse แล้วก็เมื่อไหร่เราจะเปิด clubhouse สักที เราก็เลยจัดไปตามคำเรียกร้อง คือเริ่มเปิด clubhouse กัน แต่ปัญหาก็คือ เราก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นที่ตรงไหน เราก็เลยเริ่มต้นด้วยการเปิดเสียงธรรมก่อน ซึ่งตอนนี้ก็ยังมีการเปิดเสียงธรรมของท่านอาจารย์อยู่นะครับ สำหรับท่านใดที่สนใจจะลองฟังธรรมะของอาจารย์พุทธทาสที่เป็นเสียงท่านบรรยายธรรมสด ๆ ตอนนี้ก็สามารถเข้ามาฟังใน clubhouse ของสวนโมกข์กรุงเทพได้ครับ ตอนนี้ก็จะมีการบรรยายธรรมในช่วงเวลา 3 ทุ่ม ทุกวันนะครับ ท่านใดที่สนใจก็เข้าไปติดตามกันได้นะครับ
ทีนี้พอมาเข้าถึงรายการ “เด็กสวน(โมกข์)” ของเรานะครับ มันเริ่มต้นจากการที่เราอยากจะเริ่มทำรายการใช่ไหมครับ แต่ว่าอย่างที่บอกไปก็คือเราไม่รู้จะเริ่มตรงไหน แต่ว่าช่วงเมื่อเดือน ปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมาครับ เรามีโอกาสได้จัดงานวันเยี่ยมสวนโมกข์ ก็คือ มันเป็นงานที่คล้าย ๆ กับการไปเยี่ยมบ้านครับ กลับไปเยี่ยมอาจารย์ เราก็เลยนำคอนเซ็ปต์ตรงนี้แหละนำมาทำเป็นรายการ clubhouse ก็คือเป็นชื่อรายการว่า “เด็กสวน(โมกข์)” ครับ ก็คือเราก็จะทำรายการในลักษณะที่เป็น oral history หรือว่าเป็นประวัติศาสตร์บอกเล่า คือเราจะมาเปิดพื้นที่สบาย ๆ ที่จะชวนผู้คนที่น่าสนใจจากทุกกลุ่มทุกฝ่ายมาแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับประสบการณ์ในการเยี่ยมสวนโมกข์กรุงเทพนะครับ ทั้งไชยาและกรุงเทพ รวมถึงประสบการณ์ที่เกี่ยวกับอาจารย์พุทธทาส แล้วก็แรงบันดาลใจที่ได้รับจากข้อธรรมหรืองานธรรมของท่านอาจารย์ครับ ที่แต่ละคนนี่เขาจะนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตไปใช้ในการทำงานและก็สร้างสรรค์ผลงาน เพราะว่าเราเชื่อว่าธรรมะนี่เป็นของทุกคน ธรรมะเป็นของทุกชีวิต เพราะฉะนั้นเราเป็นผู้ร่วมทุกข์ ร่วมเกิด ร่วมแก่ ร่วมเจ็บ และก็ตายนะครับ ตามที่เราแผ่เมตตากันอยู่ทุกวัน
เราก็เกริ่นมาค่อนข้างยาวเลย ทีนี้เรามาเข้าเรื่องของเรากันเลยดีกว่าครับ วันนี้นี่เราจะมาร่วมสนทนากันนะครับในชื่อตอนว่า “สวนโมกข์ สวนใจ ใครไปก็ต๊าซซซซซ” หลาย ๆ ท่านนี่ก็อาจจะงงว่าไอ้ต๊าซนี่มันแปลว่าอะไรใช่ไหมครับ คำว่าต๊าซนี่ เราก็ให้ทีมของเราไป research มาเบื้องต้น เขาก็บอกว่า “ต๊าซ” นี่มันมาจากคำว่า touch ครับ ซึ่งก็แปลว่า “ประทับใจ หรือ โดนใจที่สุด” แต่ว่าพอเราไปค้นให้ลึกลงไปอีกนี่ มันพบว่าจริง ๆ แล้วนี่คำนี้มันเริ่มต้นจาก คุณสไปรท์ที่เป็น youtuber น่ะครับ ซึ่งเขาบอกว่ามันเป็นเสียงกลอง ประมาณว่า ตะลุ่งตุ้งแช่ ประมาณนี้ครับ แต่ว่าไอ้เสียง “แช่” นี่ เขาไปแปลว่ามันเป็น “ต๊าซ” อย่างนี้ เหมือนประมาณแบบเน้นจุดสนใจอะไรประมาณนี้ครับ ก็นั่นล่ะครับ ก็เป็นความหมายของคำว่า “ต๊าซ” นะครับ
ทีนี้ เราก็เลยจะมาชวนคุยกันนี่ในเรื่อง “สวนโมกข์ สวนใจ ใครไปก็ต๊าซซซซซ” โดยเราจะมาหาคำตอบกันว่า พส. ได้รับแรงบันดาลใจอะไรจาก พทภ. ก็คือ พุทธทาสภิกขุ ก่อนอื่นครับเราขอกราบนิมนต์ ท่านพระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ครับ
พระมหาไพรวัลย์ : เจริญพรนะครับ เจริญพร ทุกคนทุกท่านเลย เจริญพร อาจารย์ ขออนุญาตแป๊ปนึงนะ โอเคครับ ได้ยินเสียงไหมครับ
เวลา : ได้ยินครับ ๆ
พระมหาไพรวัลย์ : โอเคครับ เจริญพรทุกคน ทุกท่านที่เป็น speaker นะ มีใครบ้างเอ่ย หมอบัญชา
เวลา : ใช่ครับ แล้วก็อยู่กับผม เวลา ครับ เดี๋ยวเราขอกล่าวทักทายคุณหมอบัญชานิดนึงครับ สวัสดี คุณหมอบัญชาครับ ผู้อำนวยการหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ คุณหมออยู่ไหมครับ
พระมหาไพรวัลย์ : อาจารย์หมอครับ อยู่ไหมเอ่ย
เวลา : เดี๋ยวเรารอคุณหมอสักครู่นะครับ ระหว่างที่เรารอคุณหมอ เราเริ่มสนทนากันไปพลาง ๆ ละกันครับ ระหว่างที่รอคุณหมอ ถ้าคุณหมอเข้ามาแล้ว คุณหมอเรียกได้เลยนะครับ เดี๋ยวเราค่อยแนะนำคุณหมอ แล้วคุณหมออาจอยากจะพูดเปิดอะไรนิดนึงนะครับ โอเค เรามาเริ่มกันก่อนเลยดีกว่า คือ เบื้องต้นครับ ท่านไพรวัลย์ คือคุณหมอนี่เล่าให้ผมฟังเมื่อวันก่อนว่า คุณหมอนี่มีโอกาสได้เจอท่านไพรวัลย์และเคยนิมนต์ท่านไพรวัลย์มาจัดกิจกรรมที่สวนโมกข์ด้วย แต่ว่าท่านก็ยังไม่มาใช่ไหมครับหรืออย่างไร ช่วยขยายความนิดนึงครับ
พระมหาไพรวัลย์ : จริง ๆ อาตมาไปหอจดหมายเหตุฯ ที่สวนรถไฟบ่อยมากเลย มากคือมาก มาก มาก มาก ๆ เลยนะครับ คือว่าไปแบบ คือบางทีอยู่วัดนี่ก็มีงานสอนมีอะไร อยากรู้สึกว่าหาที่ อยากหาที่แบบผ่อนใจ ที่สบาย ๆ แล้วก็จะนึกถึงที่แรก ๆ หอจดหมายเหตุฯ หรือว่าสวนโมกข์กรุงเทพก็จะเป็นสถานที่แรก ๆ เรานึกถึง เราอยากจะไป เราชอบไปนั่งแบบริมสระ ไปดูต้นมะพร้าวนาฬิเกร์ นู่นนี่นั่นนะครับ แล้วมันก็ได้ความสงบ เลยชอบ ชอบไปเที่ยวนะ จริง ๆ อาตมาเป็นเด็ก ต้องบอกว่าเป็นเด็กสวนโมกข์กรุงเทพนะครับ ก็เป็นคนหนึ่งนั่นเอง แต่หลาย ๆ ท่านอาจจะไม่รู้จักนะ ก็เห็นประเด็นวันนี้นะที่สวนโมกข์ก็ขึ้น คลัสเตอร์ ไม่ใช่เรียก คลัสเตอร์ สิ เขาเรียกอะไรครับ โปสเตอร์ นะครับ รูปภาพก็มีดราม่ากันเล็กน้อย แต่ว่าชอบมากที่ เวลาพูดเมื่อกี้ ที่ธรรมะเป็นของทุกคน อาตมาก็อยากให้ทุกคนใจกว้างและมองว่าอาจารย์พุทธทาสก็เป็นพุทธทาสของทุกคนเช่นเดียวกันนะ คือเรามีอาจารย์คนเดียวกันได้โดยที่เราไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกัน เห็นเหมือนกันนะครับ
เวลา : ครับ แล้วเมื่อความคาดหวังของท่านไพรวัลย์นี่ จากการที่เราเห็นสวนโมกข์กรุงเทพกับตอนที่มา มาเองนี่ รู้สึกว่ามันต่างกันไหมครับ เป็นไปตามคาดหวังไหม หรือว่าประทับใจมากกว่า
พระมหาไพรวัลย์ : หมายถึงอะไรครับ
เวลา : หมายถึงว่า ก่อนที่เราจะมาที่สวนโมกข์กรุงเทพน่ะครับ ท่านไพรวัลย์รู้สึกคาดหวังอะไรไหมแล้วสิ่งที่ท่านมาแล้วท่านอย่างไร
พระมหาไพรวัลย์ : จริง ๆ ไม่ได้ไปด้วยความคาดหวังนะ พูดตรง ๆ คือ เรานับถืออาจารย์พุทธทาสส่วนตัวแล้วเรารู้สึกว่า ว่าเรายังไม่มีโอกาสได้ไปสวนโมกข์ไชยาซึ่งมันอยู่ไกลใช่ไหม สวนโมกข์ไชยาที่สุราษฎร์ฯ นู่น ฉะนั้นที่เดียวที่เราจะเข้าใกล้อาจารย์พุทธทาสหรือรู้จักอาจารย์พุทธทาสได้มากขึ้นก็คือ ก็ต้องสวนโมกข์กรุงเทพนี่ล่ะครับ มีหนังสือ งานหนังสือท่าน ตอนนั้นสนใจเป็นหนังสืออะไรหลาย ๆ เล่มของท่าน ซึ่งเรายังไม่มีแล้วก็ไปตามหาอริยสัจจากพระโอษฐ์ พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ อะไรนี้ก็ไปได้จากที่นั่นแหละ ไปศูนย์หนังสือจากสวนโมกข์กรุงเทพก็ได้จากที่นั่น
เวลา : แล้วปีก่อนนี่ผมได้ติดตามรายการ “ธรรมไปเรื่อย” ครับ ก็พบว่า อาจารย์ได้มีโอกาสไปเยี่ยมที่สวนโมกข์ไชยาใช่ไหมครับ แล้วไม่ทราบว่าตอนไปเยี่ยมที่สวนโมกข์ที่ไชยานี่ ท่านไปเนื่องในโอกาสอะไร คือตั้งใจไปตรง ๆ ไหมครับ
พระมหาไพรวัลย์ : ไม่เลย ไม่มีโอกาส ชีวิตไม่เคยมีโอกาสเลย คือ อยากไปเฉย ๆ อยากไปเฉย ๆ แล้วก็ไปเลย บินตรงไปเลย ไปลงสุราษฎร์ฯ สนามบินสุราษฎร์ฯ คือดุ่มไปเลยเอาวะ ๆ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสวนโมกข์อยู่ตรงไหน สนามบินกับอำเภอไชยาอยู่ใกล้กันหรือเปล่า ต้องต่อรถยังไง ก็ไปเลย ก็ไปแล้วอยาก อยากจะไป คล้าย ๆ ที่สวนโมกข์ที่ไชยาก็คือบ้านของอาจารย์พุทธทาสนะถ้าเราพูด ก็คือท่านใช้ที่นั่นในการปฏิบัติ (เสียงทำไมสะท้อน ขออนุญาต แสดงว่ามีอีกท่านเปิดไมค์รึเปล่า)
นพ. บัญชา : ผมรึเปล่าครับ เสียงผมมาหรือยังครับ
เวลา : มาแล้ว
พระมหาไพรวัลย์ : เสียงอาจารย์เลย
นพ. บัญชา : สงสัยผมไปสะท้อนแน่เลยอาจารย์ นมัสการครับ
พระมหาไพรวัลย์ : อาจารย์หมอ ๆ เสียงมาจากอาจารย์หมอคนเดียวเลย
เวลา : คุณหมอทักทายแฟนเพลงสักนิดนึงครับ คุณหมอ อ้าว หายไปอีกแล้ว คุณหมอได้ยินใช่ไหมครับ
นพ. บัญชา : ได้ยินไหม ผมยังได้ยินอยู่ครับ แต่ไม่
เวลา : ครับ ๆ คุณหมอ ทักทายสักหน่อยไหมครับ
นพ. บัญชา : ได้ยินไหมครับ
เวลา : ได้ยินครับ ได้ยิน
นพ. บัญชา : ก็จริง ๆ ผมอยากจะต่อเลยครับ ขอไม่ทักทายอะไรดีกว่า เพราะกำลังเข้าประเด็นนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนี่ผมสนใจมากเลยว่า เอ่อท่าน ท่านลงไปถึงไชยาแล้วก็ไปทำคลิปสารคดีธรรมไปเรื่อยใช่ไหมครับ
พระมหาไพรวัลย์ : ใช่ครับ
นพ. บัญชา : แล้วเป็นอย่างไรบ้างในนั้น แล้วจริง ๆ ผมอยากถามว่า นอกจากสวนโมกข์กรุงเทพกับสวนโมกข์ไชยานี่ ท่านไปเห็นอะไร ที่ได้ touch ครับผม
พระมหาไพรวัลย์ : โอเค ขอบคุณอาจารย์หมอ อาจารย์หมอต้องปิดไมค์ด้วยนะ โอเค ขอบคุณอาจารย์หมอมาก อาจารย์หมอปิดไมค์เสียงจะได้ไม่สะท้อน
คือตอนเมื่อกี๊กำลังพูดค้างไว้ ว่าไปก็คือไม่ได้มีแพลนอะไร ที่อยากจะไปคือ มันถึงโอกาสของมันละ มันมีช่วงเวลามันละ เราว่างแล้ว เราเสร็จกิจจากงานสอนเราอะไรเราแล้ว เรามีเวลาที่อยากจะไป แล้วช่วงจังหวะมันเหมาะ ก็คือลงไปเลยแล้วก็ไปรูปเดียวด้วย ไม่ได้มีลูกศิษย์ไม่มีอะไรเลย ไปรูปเดียวแล้วก็มีกล้อง go pro อยู่อันหนึ่ง คือ อาตมาทำคอนเทนต์ทำ youtube มีช่อง youtube แล้วก็ทำรายการชื่อ “ธรรมไปเรื่อย” ธรรมไปเรื่อยคืออาตมาเป็นคนชอบเล่าเรื่องนะ พูดอย่างนี้ก่อน คือนิสัยนี่ชอบเล่าเรื่อง ชอบสื่อสาร ฉะนั้นพอมีช่อง youtube ก็อยากจะสื่อสารอะไรอย่างนี้ เริ่มจากประเด็นที่เรามีความสนใจก่อน
อย่างเรื่องอาจารย์พุทธทาสนี่ ธรรมะหลาย ๆ ข้อ วิธีคิดเรานี่ส่วนใหญ่มันได้มาจากแนวคิดของอาจารย์พุทธทาส ของหลวงพ่อปัญญานันทะ ของอาจารย์พยอมอะไรก็จะสายเดียวกันนั่นแหละ เป็นศิษย์สวนโมกข์อะไรอย่างนี้ เสร็จก็อยากจะไป ก็ไป มีกล้อง go pro อันหนึ่งก็ไปถ่ายทำ รู้สึกตอนนั้นไปท่านจะเห็นปากซีด ๆ นะครับ ถ้าใครดูจากรายการนั้นน่ะ คืออันนั้นน่ะเริ่มมีอาการของการจะป่วยเป็นอีสุกอีใส แต่ว่าวันนั้นน่ะอาการเริ่มออกวันนั้นเลยครับ ไปสวนโมกข์ปุ๊ปก็ได้ธรรมะเลย เพราะว่าเป็นอีสุกอีใสแล้วก็กลับมา หลังจากนั้นก็เป็นอีสุกอีใสเรียกว่ามีอาการเหนื่อยการอะไร ก็ไปนะครับ
ไปก็ประทับใจจริง ๆ มันไปเหมือนอารมณ์คนไปพุทธคยา จริง ๆ มันได้อารมณ์นั้นเลยนะครับ ก็ลง youtube ก็มีคนมาคอมเม้นต์บอกว่า ท่านไพรวัลย์ ท่านบ้าไปแล้วเหรอท่านกราบเก้าอี้ทำไม ท่านไพรวัลย์เขาบ้ารึเปล่า เราไม่ได้กราบเก้าอี้ เรากราบอาจารย์ เรากราบคนที่เราเคารพเรานับถือในทางจิตวิญญาณ อย่างอาจารย์พุทธทาสก็เป็นท่านหนึ่ง เป็นครูบาอาจารย์ท่านหนึ่งที่เรานับถือในแนวคำสอนของท่าน แน่นอนแหละตัวเราอาจจะไม่ได้ปฏิบัติไม่ได้เสี้ยวที่สิบหกของท่านอาจารย์น่ะ แต่เราแนวคิดเราได้หลักอะไรในการทำงานทางการเผยแผ่มากจากท่านอาจารย์ เราไปที่นั่นเราก็กราบเลยนะ เพราะเรารู้ว่าม้านั่งตัวนี้ที่หน้ากุฏิท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านใช้นั่งสำหรับรับโยมแล้วโยมก็มาฟังธรรมกันที่นั่น มันคล้าย ๆ เป็นธรรมสภาตรงนั้นน่ะ เราก็กราบท่านอาจารย์ตรงนั้น เสร็จแล้วก็ไปดูทุกซอกทุกมุมเลย ไปกุฏิที่ลูกศิษย์รุ่นหลังสร้างให้เป็นอาจาริยบูชานะ แล้วก็มีรูปมารดาของท่านอาจารย์พุทธทาสอะไรอย่างนี้ ไปทุกที่ ขึ้นไปจนนู่น ภูเขาพุทธทองใช่ไหมครับที่อุโบสถอะไรนั่นน่ะขึ้นไป ก็ไปทุกที่ คือไปเพราะเราอยากนำเสนอ
นพ. บัญชา : อาจารย์พุทธทาสใช่ไหมครับ เห็นอาจารย์เน้นจุดที่อาบน้ำของท่านอาจารย์พุทธทาส ห้องส้วม ห้องนอน
พระมหาไพรวัลย์ : ใช่ ๆ ก็คือ เราก็ได้ยินปฏิปทาของท่านอาจารย์คือท่านสอนอย่างไรท่านก็ทำอย่างนั้นน่ะ เราก็เลยอยากไปดูว่าจริงหรือเปล่า อะไรอย่างนี้ ก็ไปดูก็จริง ๆ ก็ที่ท่านอาบน้ำก็มีตุ่มอยู่อันเดียว อะไรอย่างนี้นะ แต่ว่าเครื่อง...ถามว่าเครื่องอำนวยความสะดวกมีไหม...มี นะครับ แต่ว่าท่าน บางทีท่านก็ไม่ได้ใช้ แล้วก็กุฏิท่านน่ะ ห้องส้วมกับห้องนอนก็คืออยู่ห้องเดียวกัน น่าจะเป็นช่วงหลังที่ท่านอาพาธแล้วหรือไงอาตมาก็ไม่ได้มีข้อมูลขนาดนั้นนะครับ ก็ไป
นพ. บัญชา : คืออันนั้น ผมเติมได้ไหมอาจารย์ ผมเติมนิดเดียวเผื่อเป็นประโยชน์ เพราะผมเองก็ถ้าจะว่าไป ผมก็ touch เหมือนกันแหละ คือประเด็นที่ผมไปเรียนรู้นี่ครับ คือมีคนก็ประสงค์ที่จะสร้างนู่นสร้างนี่ให้ท่านอาจารย์ สุดท้ายก็สร้างห้องน้ำถวาย ท่านก็เลยบอกว่า ห้องน้ำก็กว้างดีฉะนั้นนอนเลย สุดท้ายท่านก็ใช้เป็นห้องนอนนะ สะดวกด้วย นี่ยังไม่ได้อาพาธนะครับ เป็นที่อยู่ของท่านเลย ซึ่งผมก็รู้สึกประทับใจ ว่ารุ่นนี้นี่ของจริง แบบเดียวกับอาจารย์เลย อาจารย์ครับแล้วนอกจากที่อาจารย์ไปเขาพุทธทอง อาจารย์ทำตั้ง 2 - 3 episode ใช่ไหม
พระมหาไพรวัลย์ : ใช่ ๆ มันตัด เพราะว่ามันค่อนข้างยาวมากเลยอาจารย์หมอ มันยาวก็เลยต้องซอยเป็น ช่วง ๆ ไป เป็นช่วง ๆ ไป มีช่วงไปดูอุโบสถ ไปดูโรงมหรสพทางวิญญาณ อะไรอย่างนี้นะครับ แล้วก็มีต่อ
นพ. บัญชา : ถ้า ๆ เอ่อ นิมนต์ครับ ๆ
พระมหาไพรวัลย์ : จริง ๆ ก็มีต่อไปวัดพระบรมธาตุไชยาด้วยซ้ำนะครับ เพราะว่าเข้าใจว่าอาจารย์พุทธทาสก็สนใจเรื่องงานแนวพุทธศิลป์ด้วย
นพ. บัญชา : ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์โบราณคดี
พระมหาไพรวัลย์ : มีโบราณคดี ใช่ แนวโบราณคดี มีรูปปั้นพระอวโลกิเตศวรอะไรที่ซ่อนปรัชญาอะไรไว้นี่ ตามรอย ก็เรียกว่าตามรอยอาจารย์พุทธทาส
นพ. บัญชา : ผมขอต่อนิดนึงครับอาจารย์ ตะกี้นี่ตอนต้น เวลาเขาพูดถึงไปที่สวนโมกข์กรุงเทพ แล้วอาจารย์ก็ลงไปถึงที่สวนโมกข์ไชยา ประเด็นที่อาจารย์รู้สึกว่าถ้าหากว่าคนรุ่นใหม่ ๆ จะไปแล้วจะรู้สึกน่าสนใจ หรืออาจารย์จะชี้แนะว่า ดูนั่นดูนี่หรือประเด็นอะไร แง่มุมอะไรที่น่าคิดน่ามองนี่อาจารย์ลองหยิบมาสัก 2 – 3 ประเด็นได้ไหมครับ
พระมหาไพรวัลย์ : คือถ้าจะไปสวนโมกข์ ขออนุญาตนะ อาจารย์หมอต้องปิดไมค์ ได้ไหมครับ โอเคเสียงมันสะท้อน
คือถ้าคนรุ่นใหม่ถ้าอยากจะไปแบบ ไปสวนโมกข์ในลักษณะที่เป็นที่ท่องเที่ยวอาจจะไม่ได้อะไรนะครับ เพราะไม่ได้มีจุดให้เช็คอิน ถ่ายรูปแบบสวย ๆ เข้าใจไหม มันไม่ใช่ที่แบบ คุณจะไปถ่ายรูปแบบชิค ๆ คูล ๆ แต่ถ้าคุณจะไปสวนโมกข์ คุณต้องไปเอาธรรมะ ไปเอาปรัชญา ทุกที่มันสอนปรัชญาได้หมด สอนธรรมะชนิดที่มัน ที่มันลึกซึ้ง เข้าใจเลยว่าทำไมอาจารย์พุทธทาสถึงบอกว่าแม้แต่ต้นไม้ก้อนหินก็สอนธรรมได้ คุณไปสวนโมกข์คุณจะเข้าใจคำพูดนี้เลยว่า ก้อนหินสอนธรรมะอย่างไร ต้นไม้สอนธรรมะอย่างไร มันอยู่ในสวนโมกข์ ทุกอย่างมันเป็นที่สำหรับที่คุณจะไปหา
แบบที่อาจารย์พุทธทาสท่านสร้างโรงมหรสพทางวิญญาณน่ะ อาตมาว่าอันนั้นน่ะ คุณจะได้ความเอิบอิ่มทาง ทางจิตวิญญาณน่ะ คุณจะเห็นว่ามันมีอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มันสอนธรรมะเต็มไปหมด เช่น รูปปั้นพระอวโลกิเตศวร คุณสมบัติของความเป็นพระโพธิสัตว์ คุณต้องมีคุณธรรม 5 ข้อ ซึ่งมีอะไรบ้างอะไรอย่างนี้นะครับ คุณไปโรงอุโบสถ อุโบสถที่คุณเห็นน่ะมันอาจจะต้องเป็นอาคารใหญ่โตมโหฬาร แต่คุณไปอุโบสถสวนโมกข์ คุณจะไม่เห็นอะไรเลย คุณจะเห็นแต่ลานที่ลาดด้วยทราย พื้นทรายนะครับ แล้วก็มีต้นไม้ล้อมรอบ ที่แบบนี้ก็เป็นอุโบสถได้เหรอ ซึ่ง ep. นี้อาตมาทำเรื่องอุโบสถปรากฎว่าคนดูเยอะมากนะครับ ก็ไปหลายที่เลยที่ไปน่ะ แล้วก็นั่นล่ะอย่างที่ ๆ ว่า
แล้วก็ไปสระนาฬิเกร์นะครับ ที่อาจารย์พุทธทาสบอกว่าคนโบราณเขาเข้าใจเรื่องนิพพานลึกซึ้งกว่าเราอีก ตามบทเพลงธรรมที่เรียกว่าอะไรอาตมาไม่ทราบนะครับ เป็นเพลงกล่อมเด็กน่ะที่พูด ใช่ ที่เรื่องว่านิพพานอยู่ท่ามกลางสังสารวัฏ อะไรอย่างนี้ มะพร้าวต้นเดียวนะครับ
OK ฮะไม่ได้ยินเสียงเลยนะ พี่เวลาเปิดไมค์ไหม
เวลา : ครับเดี๋ยวผมเชิญพี่เตาขึ้นมาร่วมสนทนาด้วย สักครู่นะครับ
พระมหาไพรวัลย์ : ได้ครับ อาจารย์หมอมีอะไรเพิ่มเติมไหมครับ
เวลา : คุณหมอ โอเคงั้นระหว่างที่เรารอคุณหมอ
นพ. บัญชา : ก็เลยมาฟังด้วย น่าจะมีอะไรที่อยากจะแลกเปลี่ยนสนทนากับท่านครับ
พระมหาไพรวัลย์ : แต่ชอบมากเลยนะครับ สวนโมกข์ สวนใจ ใครไปก็ต๊าซ คือใครจะต๊าซหรือเปล่าอาตมาไม่ทราบ แต่สำหรับอาตมา อาตมาต๊าซมากนะ ไปสวนโมกข์แล้วต๊าซมาก คือโห มันได้อะไรเยอะมากเลย โดยเฉพาะธรรมะในทางที่มันเป็น มันเป็นเรื่องลึกซึ้งนะครับ ที่มันซ่อนอยู่ภายในสวนโมกข์เอง คือมันสอนธรรมะ
นพ. บัญชา : ผมขอขยายเรื่องนี้นิดนึงก่อนที่ท่านอื่นจะมาเติมนะครับ พอดีท่านอาจารย์ไพรวัลย์ยกถึงเรื่อง “สวนโมกข์ สวนใจ ใครไปก็ต๊าซ” นี่สำหรับผมนี่ อันนี้เป็นการคิดของน้อง ๆ ตอนแรกเขาคิดว่าให้ตั้งชื่อรายการว่า “กาลครั้งหนึ่ง” อาจารย์ ผมว่าเชยเป็นบ้าเลย สุดท้ายก็บอกว่า สวนโมกข์ ฟังก์ชันของสวนโมกข์คืออะไรใช่ไหมครับ แล้วก็สวนใจอาจารย์ท่านพุทธทาสก็เน้นเรื่อง spiritual theatre ไง และ spiritual edutainment นะครับ แล้วเราคิดว่าถ้าไปแล้วเกิดประทับใจได้อะไรมาใช้นี่ อันนี้เราอยากจะเจาะจากอาจารย์ไพรวัลย์ให้ได้ตรง ๆ ไปแล้วมีอะไรได้เอามาใช้บ้างนะครับ อันนี้ก็แค่ขยายความที่ท่านบอกว่าชอบ
ทีนี้พอดีมีพี่ชายผมนะ คนนี้นี่ก็สงสัยว่าผมมัวไปทำอะไรอยู่ที่สวนโมกข์ ก็เลยขอไปตรวจสอบว่าผมไปทำอะไรนะครับ พี่บรรยง พงษ์พานิช เป็นคนสั่งให้ผมมา บอกว่า ถ้างั้นมาทำกรุงเทพดีกว่า สวนโมกข์มาเกิดที่กรุงเทพได้ก็เพราะพี่ชายผมคนนี้ เห็นว่าอยากจะเติมอะไร เลยลองเชิญพี่เตาไหมครับ
เวลา : ครับ เชิญพี่เตาครับ
นพ. บัญชา : หน้าขึ้นมาแล้วครับ
คุณบรรยง : กราบนมัสการหลวงพี่ครับ
พระมหาไพรวัลย์ : เจริญพร อาจารย์
คุณบรรยง : วันก่อนฟังหลวงพี่ให้สัมภาษณ์กับนิ้วกลมชอบมากเลยครับ
พระมหาไพรวัลย์ : ขอบคุณครับ ขอบคุณพี่มากเลยครับ
คุณบรรยง : ครับผม ผมก็ไปรับใช้ให้หมอบัญชา จะทำอะไรมันก็ใช้งานผมมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ทีนี้คือไปเห็น คือหมอมันได้รับมอบหมายจากวัดให้รักษางานของท่านพุทธทาส แต่ตอนที่อยู่ในวัดนี่ก็ 1. ค่อนข้างร้อน 2. มันไม่ได้รักษาตามมาตรฐานของเอกสารสำคัญ เพราะในวัดนะครับ ปลวกก็ฉีดยาไม่ได้ ความชื้นก็ไม่ได้ทางปักษ์ใต้ ผมก็เลยบอกว่าต้องเก็บรักษาไว้ให้ดีนี่คือสมบัติของมนุษยชาตินะ เขาก็เลยตอนแรกนี่ตั้งใจจะทำแค่ห้องที่เก็บให้ปลอดภัยเท่านั้นเอง แต่พอคุยไปคุยมาปรึกษาผู้ใหญ่เขาบอกว่า เอ๊ะ ถ้ามันอยู่กรุงเทพถ้าจะได้การใช้ประโยชน์มากกว่า ก็เลยไปขอที่จากกทม. ก็เลยได้ที่สวนรถไฟนี่ครับ
และพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ท่านก็พระราชทาน คือตอนแรกไปถามอภิรักษ์ที่เป็นผู้ว่าฯ อภิรักษ์เขาก็บอกว่าถ้าจะใช้สวนรถไฟต้องกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาต ผมก็ลองไปปรึกษากับท่านอาสา สารสิน ราชเลขาฯ ท่านก็บอกว่าลองทำหนังสือมาดูสิ ปรากฏว่าส่งหนังสือไปอาทิตย์เดียวครับ ท่านอาสาโทรกลับมาบอกว่าพระเจ้าอยู่หัวท่านทอดพระเนตรเห็นเรื่อง ท่านพระราชทานพระบรมราชานุญาตเลยทันที เราก็เลยได้สร้างที่นี่ครับ ก็หวังว่าจะได้เป็นประโยชน์ ก็ดีใจที่ผมก็ทราบจากหมอ ตั้งแต่หมอให้สัมภาษณ์กับสุทธิชัยว่า หลวงพี่ได้แวะมาหลายทีแล้วครับ ก็วันนี้ผมก็ จริง ๆ ผมเป็นคนแก่นะ ต๊าซ แปลว่าอะไรยังไม่รู้เลย เพิ่งจะรู้เมื่อกี๊นี่
เวลา : OK ครับ เดี๋ยวเราย้อนกลับไปที่ประเด็นความต๊าซของเราสักนิดก่อน คือผมอยากทราบว่า ไม่ทราบท่านไพรวัลย์ ไปต๊าซอะไรในอาจารย์พุทธทาสครับ คือไปเจออาจารย์พุทธทาสได้อย่างไร จากหนังสือ จากการเทศน์ หรือว่าอย่างไรครับ
พระมหาไพรวัลย์ : คือมันอาจจะตรงนะ เราจะนับถือใครสักคนหนึ่งนี่ คนที่เรานับถือต้องรู้สึกว่า เรายอมรับ ความนับถือมันมาจากการยอมรับใช่ไหม มันจะมีคำพูดว่ายอมรับนับถือ ก่อนที่มันจะนับถือได้มันต้องยอมรับก่อน เหมือนกันนะอาจารย์พุทธทาส อาตมาจะยอมรับอาจารย์พุทธทาสเป็นอาจารย์คนหนึ่งเป็นคุรุคนหนึ่งได้นี่ อาจารย์พุทธทาสต้องมีอะไรที่อาตมาเห็นว่า เฮ้ย น่าสนใจ
และอาตมานี่มันเป็นคนหัวดื้อ คือพูดตรง ๆ ก่อนเป็นคนที่หัวดื้อนะ ถ้าในทางพุทธไม่รู้ก็จะเรียกคนแบบนี้ว่าอะไร เป็นคนที่ ถ้าจะนับถืออะไร จะศรัทธาอะไรสักอย่างหนึ่ง คือมันต้อง โห มันต้องเยอะ คนนี้ เหมือนนับถืออาจารย์สุลักษณ์ นั่นล่ะนะ ก็อย่างเดียวกันใคร ๆ หลาย ๆ คนที่เป็นครูบาอาจารย์ ทั้งที่เป็นฆราวาส เป็นทางพระ คือต้องเห็นแล้วว่าเขาท่านเหล่านี้ ท่านมีอะไรที่ ที่เราควรค่าแก่การยอมรับนับถือได้
จริง ๆ วิถีชีวิตของท่าน คำสอนของท่าน ท่านมีความกล้าหาญ หลัก ๆ ก็คือเรื่องความกล้าหาญเลย อาตมานับถือท่านอาจารย์พุทธทาสไม่ใช่เพราะแค่เรื่องว่าธรรมะที่ท่านสอนคนอื่น แต่อาตมานับถือความกล้าหาญในความเป็นพุทธทาสของท่าน ในความขบถเล็ก ๆ ของท่าน ท่านสร้างสวนโมกข์ได้ ท่านสร้างความเป็นพุทธทาสได้ เพราะท่านมีความขบถเล็กๆ ขบถต่อพิธีกรรม ธรรมเนียมอะไรบางอย่าง ที่คนพุทธหรือแม้แต่คณะสงฆ์ในยุคของท่านเป็นกันอยู่หรือทำกันอยู่
เรารู้สึกประทับใจว่า กว่าจะมาเป็นพุทธทาสได้มันไม่ใช่สวยงามนะ มันไม่ใช่แค่นึกว่านั่งสอน ๆ อยู่บรรยายอยู่แล้วมันก็มีคนศรัทธา มีคนนับถือ แต่มันต้องผ่านอะไรมาเยอะมากนะ แล้วที่อาตมาพยายามทำทุกวันนี้ไม่ใช่ว่า ที่ไม่ใช่ว่า ไม่ได้กำลังจะบอกว่าสิ่งที่ตัวเองทำถูก แต่เราพยายามจะนึกถึงว่า โห เวลาเราโดนอะไร เวลาเราท้าทายความเชื่อ ท้าทายอะไรสักอย่างหนึ่ง เราไปนึกถึงรุ่นแบบอาจารย์พุทธทาส อาจารย์หลวงปู่ปัญญานันทะนี่ ท่านก็อดทนสาหัสสากรรจ์มาเหมือนกัน แต่ท่านก็พยายามที่จะทำให้พุทธธรรมยังคงอยู่ในสังคมไทย โดยทั้งที่ไม่กลัวว่าท่านจะโดนกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นพระบ้า เป็นอะไรแบบนี้
เวลา : ครับ ๆ ผมติดตามในรายการ ธรรมไปเรื่อย ที่ท่านไพรวัลย์พูดน่ะครับ คือท่านไพรวัลย์พูดเหมือนประมาณว่า ท่านได้พบกับพุทธธรรมจากอาจารย์พุทธทาสมากกว่าการเรียนเปรียญธรรม 9 ประโยค อยากให้ท่านขยายความตรงนี้นิดหนึ่งครับ
พระมหาไพรวัลย์ : อ๋อ แน่นอนเลย ก็เราเรียนเปรียญธรรมนี่ เราเรียนบาลี เราเรียนอรรถกถา เราเรียนธรรมบทนี่ แล้วยิ่งเปรียญต่ำ ๆ นี่ เราเรียนพระไตรปิฎกน้อยมากเลยนะ ธรรมบท 8 ภาค นี่คืออรรถกถาทั้งนั้นเลยนะครับ แล้วเรียนสมันตปาสาทิกา (คือคัมภีร์อรรถกถาที่อธิบายขยายความพระวินัยปิฎก พระพุทธโฆสาจารย์แปลและเรียบเรียงขึ้นเป็นภาษาบาลี) การอธิบายตีความก็เรียนอรรถกถา เราเรียนคัมภีร์ชั้นรองเยอะมาก แล้วเราเรียนพวกนี้แล้วเรานึกว่าเรา สิ่งที่เราได้เรียนมันคือสุดยอดเว้ย มหาเปรียญคือสุด ๆ แล้ว เรามีความรู้เรามีอะไรแล้วพอเราจบปุ๊บ เราไปอ่าน ตามอ่านงานของท่านอื่น ๆ เอ๊ะ ทำไมพระรูปนี้ท่านสอนแปลก อย่างอาจารย์พุทธทาสนี่ โอ้โห สอนแบบ คือเราไม่ต้องไปพูดว่าท่านสอนอะไร เวลาท่านตีความเรื่องพระไตรปิฎก หรือแม้แต่ท่านไม่เห็นด้วยบางมุมกับพระพุทธโฆษาจารย์ที่แต่งตำราอะไร เป็นคัมภีร์ที่เป็นอรรถกถาที่เราชอบ
คืออันนี้นิสัยที่ชอบ เพราะเรารู้สึกว่าชอบคนที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์น่ะ คือในคำสอนของอาจารย์พุทธทาสมันมีมิติของการวิพากษ์วิจารณ์ คือถ้าท่านไม่เห็นด้วย ท่านกล้าที่จะพูดตรง ๆ อ่ะ ไม่งั้นท่านก็คงไม่ถูกกล่าวหาว่าท่านเป็นเดียรถีย์หรอกใช่ไหมครับ ใช่ไหมครับ ท่านกล้าที่จะท้าทาย คือถ้าอาจารย์พุทธทาสเป็นพระโดยทั่วไปที่ไม่กล้าท้าทาย อาตมาก็อาจจะไม่นับถือท่านนะครับ นี่พูดตรง ๆ
เวลา : ก็คือเหมือนประมาณว่า ถูกจริต
พระมหาไพรวัลย์ : อ้า ให้พูดตรง ๆ ก็คงอย่างนั้นแหละฮะ ถูกจริตเรา เป็นแบบนั้น
เวลา : ทีนี้คุณหมอเสริมตรงนี้ นิดหนึ่งไหมครับ
นพ. บัญชา : ฮัลโหล ๆ
เวลา : ครับ คุณหมอเชิญเลยครับ
นพ. บัญชา : ผมจะถามอย่างนี้อาจารย์ อาจารย์พุทธทาสนี้นะครับ เรียนแค่เปรียญ 3 เปรียญ 4 ก็ตก แล้วก็ยกเลิก แล้วอาจารย์มหาไพรวัลย์บอกชอบขบถ แต่เรียนตั้งเปรียญ 9 ถามเล่น ๆ อาจารย์ มาเห็นประเด็นนี้เมื่อไหร่ เห็นแล้วอย่างไรครับ
พระมหาไพรวัลย์ : คืออาจารย์หมอ ถ้าอาตมาตก บางทีอาตมาอาจจะไปแบบอาจารย์พุทธทาสก็ได้นะ จะเป็นเพราะว่า ตอนนั้นมันเพราะว่าเราเรียนไปเรื่อย แล้วเราก็อาจจะเป็นว่าเราเรียนไปเรื่อย แล้วเรายังไม่มีวิธีคิดด้วยซ้ำ ตอนนั้นอาจยังไม่รู้จักงานของอาจารย์พุทธทาสนะ ยังไม่รู้ เคยอ่านสมัยเณรเคยอ่านหนังสืออันหนึ่งชื่อหนังสือเรื่อง ตัวกูของกู แต่มันก็อ่านแบบเณร ตอนนั้นมันก็อ่านแบบ เฮ้ย หนังสือเล่มนี้มันลึกดีนะ เอ๊ะ คนเขียนชื่อนี้ใครนะ พุทธทาสคือใครทำไมเขียนหนังสือได้ลึกซึ้ง อะไรอย่างนี้นะครับ
แต่พอว่าพอแบบ เรียนจบแล้วล่ะนะ หลังจากเรียนจบเลยก็ได้มาศึกษาอะไร แนวคิดของอาจารย์พุทธทาส ก็หลวงปู่ปัญญานันทภิกขุก็จบแค่เปรียญอะไรเอง เปรียญ 4 ถ้าจำไม่ผิด แต่นั่นแหละนะ เพราะยิ่งท่านจบเปรียญน้อยแล้วท่านแตกฉานนั่นแหละ มันยิ่งทำให้เราสนใจว่า เอ๊ะ ถ้าเขาไม่ได้จบเปรียญธรรมสูง แต่ทำไมเวลาท่านตีความธรรมะนี่ ตีความคำสอนของพุทธศาสนา ทำไมท่านตีความได้ลึกซึ้งจัง ฉะนั้นความลึกซึ้งของการเข้าใจพุทธศาสนานี่มันอยู่ที่การเรียนจริง ๆ หรือเปล่า
ตอนนั้นมันเริ่มเกิดการตั้งคำถามว่า เอ๊ะ เราจะเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าแบบลึกซึ้ง มันอยู่ที่ว่าเราเรียน เราเรียนเปรียญแล้วจบเปรียญสูงแล้วเราเข้าใจลึกซึ้งหรือเปล่า ซึ่งพอได้มาศึกษางานของอาจารย์พุทธทาสก็จึงเข้าใจเลยว่าไม่ได้เกี่ยวกันนะ ต่อให้เราจบเปรียญ 9 แต่เราไม่ได้มีวิธีคิด การที่เราจะตีความคำสอนหรือเข้าใจคำสอนที่มันมาจาก มันไม่ได้มากจากการเรียน อาตมารู้สึกว่าอย่างอาจารย์พุทธทาส ท่านไม่ได้เข้าใจธรรมะจากการที่ท่านเรียนน่ะ แต่ท่านเข้าใจธรรมะจากการที่ท่านอาจจะเป็นเพราะปฏิบัติด้วย และประสบการณ์ส่วนตัวของท่านที่ท่านพยายามทำความเข้าใจกับทุกสิ่งทุกอย่างที่มันเกิดกับท่านน่ะ แล้วท่านก็เอามันมาอธิบายเป็นอะไรที่มันเข้าใจง่าย ไปสวนโมกข์ก็
นพ. บัญชา : ผมเติมนิดเดียวครับอาจารย์ในประเด็นนี้ เผื่อท่านอื่น ๆ ด้วยนะครับ ท่านอาจารย์พุทธทาสนี่ จุดที่ท่านสอบตกแล้วก็เลิกเรียนนี่ ก็คือว่า ท่านอ่านหนังสืออื่นด้วยคล้าย ๆ กับท่านไพรวัลย์ ท่านอื่น ๆ แล้วปรากฏว่าเวลาสอบนี่ ท่านคิดว่าอย่างนี้ถูก แต่คำเฉลยบอกว่าผิด ท่านสอบตกเพราะท่านนี่ จากที่ท่านศึกษาเองนี่ท่านว่าอย่างนี้ต้องถูก แต่ปรากฏว่าผลการสอบว่าท่านตก ท่านว่า เอ๊ะ ถ้าอย่างนั้นน่าจะเรียนผิดละเลยกลับมาเรียนเอง ประเด็นของท่านนี่ล่ะ ท่านขบถขนาดนั้นเลยอาจารย์ ก็เป็นประเด็นที่ผมอยากจะเสริมเติมอาจารย์ว่า นี่คือกรณีของท่านพุทธทาส
ท่านอาจารย์อ่าน ตัวกูของกู ตั้งแต่ตอนนู้นท่านอาจารย์อาจจะเลิกเรียนตั้งแต่ตอนนู้นแล้วก็ได้นะ
คุณบรรยง : ขออนุญาตเสริมนิดหน่อยครับ คือเพื่อเปรียบเทียบกับท่านนี่ ไม่ได้เอามาเทียบกับท่านพุทธทาสนะ คือผมนี่ไปทำงาน ทุกคนก็รู้น่ะผมนี่ไม่ใช่ทางธรรมหรอกครับ เขาใช้งานด้านบริหาร แต่อย่างหนังสือก็ไม่ได้อ่านมากมาย แต่ภาพใหญ่ผมคิดว่าท่านพุทธทาสนี่ สังคมไทยในเวลานั้นนะครับ พ.ศ. 2475 เราไปทางลัทธิพิธีนิยมมาก คือเหมือนพระมีไว้ทำพิธี แล้วไอ้แก่นของพระพุทธศาสนามันก็เลือนไป
ท่านพุทธทาสนี่ผมคิดว่าท่านมีคุณูปการมาก 2 ประการ อันที่หนึ่งก็คือ พยายาม Bring Back แก่นนั้น แต่ไม่ใช่ท่านคนเดียวนะ มันก็เกิดกระแสที่ทำให้เกิดการนำแก่นพุทธธรรมกลับมาอีกครั้ง กับอันที่สองก็คือ ท่านทำให้มันร่วมสมัย แต่สมัยของท่านก็ พ.ศ. 2475 พอสังคมพัฒนาไป ความร่วมสมัยนี่มันอาจจะเลือนไป ก็ต้องการการเปลี่ยนแปลง รุ่นใหม่ท่านไม่รู้จักหรอกครับ “ต๊าซ” แปลว่าอะไร ไม่มีทางรู้จักเลย นะ
แล้วก็อันนี้นะ ผมก็คิดว่าในสมัยนี้การที่จะให้คนรุ่นใหม่ ผมขออนุญาตยกตัวอย่าง สมัยที่ท่านมีวิวาทะกับอาจารย์คึกฤทธิ์นี่นะ เขาเรียกว่าวิวาทะ จริง ๆ ก็มาปุจฉาวิสัชนากัน สมัยนั้นนะทุกคนก็จะบอกว่าสูสีเหลือเกิน แต่ใครไปอ่านก็จะพบเลยว่ามันไม่สูสีใด ๆ ทั้งสิ้น นั่นพิสูจน์ให้เห็นถึงความสำเร็จที่แก่นพุทธธรรมนี้ได้กลับมาเยอะ เพราะถ้าอ่านตอนนั้น โห เขาบอกสูสีเหลือเกิน แต่มาวันนี้ใครไปอ่านก็เห็นนะว่า ไม่สูสีใด ๆ ทั้งสิ้น อันนี้ผมเปรียบเทียบให้ฟัง ผมก็คิดว่าท่านมหาไพรวัลย์ ท่าน ว. ธรรมะติดปีกอะไรนี่ ก็เป็นการทำให้ร่วมสมัย ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องจำเป็นนะครับ ไม่อย่างนั้นคนรุ่นใหม่เขาก็จะเข้าไม่ถึง ผมขออนุญาตผมจะต้องกราบลาเพราะมีภารกิจ ขอเข้ามาแจม ๆ แค่นี้ครับ
พระมหาไพรวัลย์ : ขอบคุณอาจารย์มากเลยนะ
เวลา : ครับ ก็ขอบคุณพี่เตานะครับ เดี๋ยวตอนนี้มีผู้ที่ยกมือขึ้นมา เดี๋ยวเราจะเปิดช่วงให้ได้แลกเปลี่ยนแรงบันดาลใจกันในแต่ละประเด็น เดี๋ยวเราจะเปิดโอกาสหลังจากช่วง 6 โมงเย็นนะครับ ไม่ทราบว่าท่านไพรวัลย์ คืออยู่ได้ถึง ๖ โมงเย็นใช่ไหมครับ
พระมหาไพรวัลย์ : ได้นิด ๆ หน่อย ๆ ได้ครับ เกินไปนิด ๆ หน่อย ๆ ได้อยู่แล้ว
เวลา : โอเคครับ เชิญคุณหมอมีประเด็นเสริมไหมครับ
นพ. บัญชา : ผมมีประเด็นนิดนึงนี่ เอ่อ วันก่อนนะ คุณสุทธิชัยเขาก็ชวนผมคุยถึงการ เราใช้คำว่า Digital disrupt ในเรื่องงานธรรมะ หลังจากที่ท่านอาจารย์ไพรวัลย์กับท่านสมปองได้กลับมา ได้มาในรอบ ผมใช้คำว่าได้มาในรอบใหม่ ในเทคนิควิธีในการขยายงานธรรมในลักษณะนี้นะครับ ไม่ทราบว่าท่านมองว่า ท่านมีวัตถุประสงค์เป้าหมายอย่างไร ผมนี่เคยคุยกับท่านอาจารย์พยอมเหมือนกัน เพราะว่าแต่ก่อนนี่ตอนที่ ยุคผมก็ต้องฟังท่านพยอมใช่ไหมครับหลังจากโดน เอ่อ ประทับใจในงานอาจารย์พุทธทาส ก็มาเจอท่านพยอม
ท่านพยอมท่านก็บอกว่าก็วัดทั้งหลายเอาวิกเข้าไปอยู่ในวัด พระท่านก็เลยบุกเข้าไปในวิกเลย นะครับ ท่านก็เลยแสดงธรรมในโรงหนังนะครับ แล้ววันนึงนี่เราก็ถามท่านว่า มีคนพูดเรื่องนี้ท่านอาจารย์พยอมบอกว่า ท่าน 72 แล้ว วัยมันเลยแล้วนะครับ ขณะที่ท่านไพรวัลย์ทำงานชิ้นนี้ได้ ถ้าเรามองนะอาจารย์ ถ้ามองการขยายธรรมแบบกล้าที่จะนำเสนอนี่ ตั้งแต่อาจารย์พุทธทาสเคยทำ อาจารย์พยอมเคยทำ การที่อาจารย์มหาไพรวัลย์กำลังขยับแนวนี้นี่ ท่านมีความตั้งใจแบบไหนอันนี้ผมอยากทราบจัง
พระมหาไพรวัลย์ : อาจารย์หมอ คือจริง ๆ ถ้าใครติดตามอาตมาผ่าน Facebook ผ่าน Fan Page บ้าง ก็จะเห็นแนว คืออาตมาก็ชัดเจนมาตลอด หมายถึงว่าแนววิธีการในการที่อาตมา ไม่อยากจะใช้คำว่าเผยแผ่นะ จะใช้คำว่าอะไร ในการที่อาตมาพยายามที่จะนำธรรมะเข้าไปสู่คนรุ่นใหม่ในสังคม อาตมาก็จะมีแนวทางอาตมาชัดเจน คือ อาตมาพยายามทำงานด้านนี้ด้วยการตอบคำถาม
หนึ่ง เรียนรู้คำถามก่อน เรียนรู้คำถาม เรียนรู้ปัญหาประเด็นต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้นในสังคมขณะนี้ ว่าคนในสังคมตอนนี้เขามองเรื่องทุกขสัจจ์กันอย่างไร หมายถึงมองเรื่องปัญหาทั้งในเชิงปัจเจก เชิงสังคมอย่างไร เราก็พยายามจะเรียนรู้ตลอดเวลาว่า เดี๋ยวนี้สังคมมีปัญหาเรื่องอะไรกันบ้างในเชิงสังคม มีปัญหาเรื่องอะไร เรื่องปัจเจกมีปัญหาเรื่องอะไร โรคซึมเศร้า เรื่องจิตเวช เรื่องอะไรต่าง ๆ เรื่องความทุกข์ของคน แล้วคนเขามองอย่างไร เรื่องการุณยฆาต เรื่องอะไรหลาย ๆ เรื่องที่เป็นเรื่องใหม่ และมันท้าทายต่อพุทธศาสนา มันท้าทายต่อทุกศาสนาแหละที่จริง มันท้าทายว่าแล้วศาสนาจะยืนตรงไหน ศาสนามีที่ยืนตรงไหน และมีคำตอบให้กับประเด็นเหล่านี้อย่างไร ประเด็นที่ท้าทายเหล่านี้อย่างไร
คืออาตมานี่ พยายามจะเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องของประเด็นปัญหาเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา พอเรียนรู้ปุ๊บ ก็พยายามที่จะหาวิธีการด้วยซ้ำว่าวิธีการที่เราจะสื่อสารกับคนในยุคใหม่กับประเด็นปัญหาเหล่านี้ เราจะสื่อสารกับเขาอย่างไร เราจะตอบเขาอย่างไร คนในสังคมสนใจเรื่องอะไร ใช้ศัพท์ใช้แสงอะไรกัน นะครับ พอเราสนใจอันนี้ทำให้เราอยู่กับคนรุ่นใหม่ ไม่เข้าใจใช้คำว่าคนรุ่นใหม่ได้หรือเปล่า เราอยู่กับคนในสังคมอยู่ตลอดเวลา หมายถึงว่าเราร่วมทุกข์ร่วมสุข ไม่รู้ใช้คำว่าร่วมทุกข์ร่วมสุขได้หรือเปล่า ไม่ทราบ เราอยู่กับเขาใน จะใช้คำว่าอะไรดีนะ เราอยู่กับเขาตลอด ใช้คำพูดอย่างนี้ก็แล้วกันนะ คืออยู่กับเขาตลอด
เวลา : คือถ้า ถ้าเราจะสื่อสารธรรมะกับคน เราก็ต้องพูดจาภาษาเดียวกัน ประมาณนี้ไหมครับ
พระมหาไพรวัลย์ : อันนี้คือสำคัญที่สุดเลย อาตมาก็พูดไปหลาย ๆ ครั้งแล้วว่า ต่อให้คุณมีของดีแต่คุณพูดคนละภาษากับเขาน่ะ มันก็ไม่มีประโยชน์ คือทำอย่างไรให้เขาเปิดใจให้ได้ก่อน ถ้าเขาไม่เปิดใจแล้วการพยายามจะพูดอะไรมันก็ไม่มีประโยชน์นะครับ เพราะว่าเขาไม่ฟัง เพราะเขารู้สึกว่า มันไม่ชวน มันไม่ชวนให้น่าสนใจ มันไม่ชวนให้ฟัง
ฉะนั้นอาตมาจึงเห็นช่องทางว่า ฉะนั้นเทคนิคหรือรูปแบบวิธีการอันหนึ่ง ที่มันสำคัญก็คือ ทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่เขารู้สึกมีความใกล้ชิดกับเรามากขึ้น เราพยายามจะ อย่างอาตมาพูดกับพระอาจารย์สมปองคืออยากจะทุบกำแพง เราพยายามจะทำลายช่องว่างที่มันเริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ระหว่างศาสนากับคนรุ่นใหม่ หรือแม้แต่ตัวพระสงฆ์เองกับคนรุ่นใหม่ ให้มันขยับกันเข้ามาอีกนิดหนึ่ง ให้เขารู้สึกว่าศาสนามันยังไม่ out คำสอนของพุทธศาสนามันยังตอบโจทย์ปัญหาที่เขาอยากรู้ที่เขาสงสัยใคร่รู้ได้ อาตมาพยายามจะทำหน้าที่ตรงนี้ แม้จะรู้สึกว่าก็ไม่ได้ดีไปหมดหรอกนะ มันก็มีข้อตำหนิติติงอะไรหลาย ๆ อย่างนั่นแหละ แต่ก็พยายามจะทำ ก็พยายามจะปรับให้มันโอเค
เวลา : ครับ แล้วท่าน อยากทราบว่าท่านไพรวัลย์เคยแบบว่าลองเทคนิคการสอนแบบซีเรียสไหม คือเหมือน คือผมเคยสังเกตคนที่สอนธรรมะน่ะครับ บางช่วงเขาอาจจะ พอเขาศึกษาธรรมะนี่ เขาก็จะเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นที่ถูกต้องละ แล้วเขาก็จะสอนไปแบบทั้งก้อนเลย โดยเชื่อว่า สิ่งนี้คือสิ่งที่ถูก แล้วก็คือพยายามไม่ adapt เลยว่าอันนี้ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็น พยายามสอนให้คน แต่ว่าคนไม่ get ก็เลยเปลี่ยนรูปแบบ อยากทราบว่าท่านไพรวัลย์เคยมีระยะเวลาของการแบบหาเทคนิคในการสอนไหม หรือว่าท่านก็มองในประเด็นเรื่องนี้ไหม
พระมหาไพรวัลย์ : ก็พยายามเรียนรู้อยู่ตลอดเวลานะครับ ถ้าใครติดตามในยุคเก่า ๆ ย้อนไปสัก 4 – 5 ปีที่แล้ว ถ้าเห็นอาตมาผ่านสื่อบ้างอะไรบ้าง ก็จะเห็นว่าอาตมาเป็นคนแบบว่า ภาพของอาตมานี่คือแบบ เห็นอาตมาแล้วก็คือหน้านิ่วคิ้วขมวดตลอดเวลา คือไม่ใช่ก็คือไม่ใช่อะไรอย่างนี้ สับได้เป็นสับ อย่างนี้นะ ก็จะเคร่งเครียด ก็มีคนจะพูดตลอดว่า โอ๊ย หน้าตาไม่เหมือนคนปฏิบัติธรรมเลยนะ เคร่งเครียดอยู่ตลอดเวลา คือภาพจำของคนสังคมไทย คือถ้าเป็นพระปฏิบัติธรรมต้องผิวขาว ๆ ตี๋ ๆ หน่อย ยิ้มเก่ง ๆ หน่อย น่าเลื่อมใสน่าศรัทธา แต่ถ้าเป็นอาตมายิ่งตัวดำด้วยนะ ตัวดำ ๆ แบบมาเลยคิ้วขมวด โอ๊ยนี่มันไม่ใช่คนปฏิบัติธรรม
เราก็โอเค ก็พยายามจะเรียนรู้นะครับ เรียนรู้แล้วพยายามที่จะ เคยลองแล้วล่ะ ใช้วิธีการแบบ โห เป๊ะๆ เลยอะไรเลย มันก็ได้ ถามว่ามันได้ไหม มันก็ไม่ใช่ว่าไม่มีใครฟัง มันก็ได้คนกลุ่มหนึ่ง แต่ก็อาจจะเป็นคนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่นี่อาจจะไม่ฟังเลย เพราะว่ามันไม่มีความสนุก มันไม่มีความ Entertain กับคนน่ะ
นพ. บัญชา : อาจารย์ครับ ผมนึกถึงตะกี้ฟังท่านอาจารย์เล่าถึงเรื่องการค้นคว้าหาเทคนิควิธี ผมนี่ก็คนแก่ไปหน่อยนะอาจารย์ ผมจะลองกราบเรียนเรื่องหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. 2480 กว่า ๆ นะครับ ตอนที่อาจารย์ปรีดีนี่เป็นผู้ สำเร็จราชการ ก็ได้นิมนต์อาจารย์พุทธทาสไปพบ แล้วก็คุยกันเรื่องการเผยแผ่ธรรมะหรือการทำให้คนหนุ่มสาวสนใจธรรมะ โดยอาจารย์ปรีดีบอกว่าหนุ่มสาวเขาต้องร้องเพลง เหมือนกับในโบสถ์คริสต์เขาจะร้องเพลง Hymn อาจารย์ปรีดีเขาขอให้อาจารย์พุทธทาสช่วยแต่งเพลง เพื่ออาจารย์ปรีดีจะเอามาให้นักศึกษาธรรมศาสตร์ร้อง นะครับ อาจารย์พุทธทาสก็รับแล้วก็กลับมาที่สวนโมกข์ แต่อาจารย์พุทธทาสไม่ได้แต่งเพลงส่งไปให้อาจารย์ปรีดี อาจารย์พุทธทาสเขียนบทความบทหนึ่งส่งไปให้อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ อาจารย์ทราบไหมครับชื่อบทความว่าอะไร ชื่อว่า “วิธีเอาเลือดบ้าออกจากหัวคนหนุ่มสาว”
พระมหาไพรวัลย์ : โอ้โห
นพ. บัญชา : ทีนี้ผมก็เลย ผมก็ยังไขเรื่องนี้ไม่ตกนะว่า อาจารย์พุทธทาสคิดยังไงถึงไปเริ่มอันนั้น แล้วหลังจากนั้นก็คงมีการเมืองเปลี่ยนแปลง งานนี้ก็ไม่เกิด งานเพลงก็ไม่เกิด นี่เป็นการค้นหาวิธีที่จะสื่อ
วันก่อนผมไปที่สวนโมกข์กรุงเทพนะครับ ตอนเช้าเขามาออกกำลังกายกัน คนก็ไม่หนุ่มสาวเท่าไหร่นะครับ สัก 4 - 5 คนมายืนกินกาแฟกันอยู่ที่ข้างล่าง เขาคุยกันเรื่องอะไรรู้เปล่าอาจารย์ เขาคุยกันเรื่องข้อธรรมที่ฟัง 2 พส. คุยกัน ว่าเรื่องนี้รู้กันยัง เรื่องนี้รู้กันยัง ผมว่าน่าสนใจวิธีปฏิบัติของอาจารย์ อาจารย์มองย้อนหลังนี่อาจารย์จะไปต่อยังไงอยากฟัง
พระมหาไพรวัลย์ : อาตมาก็มีหลักคิดของอาตมานะ อาจารย์หมอ อาตมารู้สึกว่า ดีงามทั้งหมดมันก็อาจจะมีหรือเปล่าไม่มั่นใจ แต่อาตมา ในความรู้สึกของอาตมา อาตมาคิดเองว่า วิธีการทั้งหมดมันก็ไม่มีหรอกและไม่ดีงามทั้งหมดมันก็อาจจะไม่มีเช่นกัน อย่างงานเผยแผ่ธรรม มันก็ต้องมีกลุ่มเป้าหมายใช่ไหมว่า เราต้องการให้ธรรมะนี่มันไปสู่คนกลุ่มไหน คน gen ไหนใช่ไหมครับ
เหมือนพระพุทธเจ้า ทำไมพระพุทธเจ้าแบ่งคน แบ่งคนเหมือนบัว 3 เหล่า ก็แบ่งคนไม่ใช่แบ่งเพื่อจะจัดลำดับประเภทไอคิวอะไรอย่างนี้ ไม่ใช่นะครับ แต่พระพุทธเจ้าแบ่งคนตามบัว 3 เหล่า (บัว 3 เหล่าตามความในพระวินัยปิฎก เล่มที่ 4 มหาวรรค; บัว 4 เหล่า ตามความในอรรถกถาสุมังคลวิลาสินี) เพราะพระพุทธเจ้านี่ เข้าใจว่าคนแต่ละคนมันมีวิธีการเข้าถึงธรรมชาติในตัวเองที่มันต่างกัน ฉะนั้นแม้แต่ธรรมะของพระพุทธเจ้า มันก็คือธรรมะเดียวกันแหละ เพราะพระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า ไม่ได้สอนอะไรเลยนอกจากทุกข์กับการดับทุกข์ แต่ทีนี้จะทำยังไงให้คนดับทุกข์ได้โดยวิธีการที่มันสอดคล้องกับธรรมชาติของความเป็นตัวเองมากที่สุด
นี่อาตมาก็มองมุมนี้ มองมิตินี้จากคำสอนนี้เหมือนกัน เราต้องการ ธรรมะที่เราต้องการสื่อสารตอนนี้ เราต้องการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่เขาเป็น คนที่ไม่เอาศาสนาดีกว่า คือว่าเขาอาจจะมีอยู่ บัตรประชาชนเขาอาจจะเป็นพุทธอยู่ แต่เขาเริ่มมีความศรัทธาที่คลอนแคลน หรือกำลังตัดสินใจที่จะไม่มีศาสนาแล้วเพราะรู้สึกว่า เฮ้อ ศาสนามันไปไม่ได้กับวิถีชีวิตฉันแล้ว มันยากเหลือเกิน มันเข้าถึงยาก มันมีแต่คำสอนที่มันกดทับ ศาสนามันไม่ได้อยู่ข้างนู่นนี่นั่นอะไรแบบนี้ ในลักษณะของเขาที่มันจะเป็นธรรมะเพื่อการทำความเข้าใจเขา เรียนรู้ ๆ ส่งเสริมการเรียนรู้ความเป็นตัวตนของเขา
อาตมาก็พยายามจะทำตรงนี้เพื่อให้คนรุ่นใหม่รู้สึกแบบ เฮ้ย ธรรมะมันไปได้นะ ความสนุกกับธรรมะ เสียงหัวเราะกับธรรมะ มันไปด้วยกันได้ มันไม่ใช่ต้องแยกประเภท ว่าถ้าอยากจริงจังซีเรียสมีธรรมะก็ไปวัดเถอะอะไรอย่างนี้ คืออยากจะสนุกไปผับไปบาร์เถอะอะไรอย่างนี้ สนุกกับธรรมะไม่ได้เหรอ หัวเราะกับธรรมะได้ไหม มันก็เป็นคำถามที่เกิดอยู่ในใจตัวเอง มันก็เลยออกมาเป็นรูปแบบนี้
เวลา : ก็เรียกว่าเป็นการพยายามหา หาอาหารที่เหมาะกับกลุ่มลูกค้าประมาณนี้ไหมครับ
พระมหาไพรวัลย์ : มันไม่ใช่แค่เฉพาะกลุ่มลูกค้าด้วยนะ มันเป็นบริบทของช่วงเวลาด้วย ให้มันเหมาะกับช่วงเวลานี้ซึ่งคนมันมีความทุกข์หนักมาก อาตมารู้สึกว่าตอนนี้ โดยเฉพาะตอนนี้ช่วงนี้ คนมันทุกข์หลากหลายมาก สภาพปัจจัยแวดล้อมทั้งข้างนอกข้างในมันทำให้คนแบกรับความทุกข์ความเครียดอะไรเยอะมากเกินไป อย่างเช่น โรคโควิดนี่ คน เด็กนักเรียนไปเรียนไม่ได้ ปัญหาเด็กวัยรุ่นส่วนหนึ่งเขารู้สึกเขาหมด passion เขาไม่อยากเรียน เขาต้องอยู่บ้าน ซึ่งในวัยของเขามันต้องเป็นวัยสนุก แล้วก็สูญเสียช่วงเวลาของวัยสนุกไปกับการที่เขาต้องนั่งอยู่บ้านเรียนออนไลน์ที่บ้านอะไรอย่างนี้ เครียด หรือคนในวัยทำงานก็เครียด ธุรกิจล้มละลาย สินค้าขายไม่ได้ อย่างนี้ก็เครียดไปหมด
อย่าว่าแต่ให้เขาฟังธรรมะเลยครับ ให้เขาใช้ชีวิตโดยปกติเขายังยากเลย อะไรก่อนครับ อาตมารู้สึกว่าถ้าไม่ใช่ช่วงเวลานี้ timing แล้วจะใช้ช่วงเวลาไหน ที่ทำให้คนรู้สึกว่าเขาผ่อนคลายได้ด้วย แล้วก็มีธรรมะที่เยียวยาจิตใจเขา คนป่วยหลายคนส่งข้อความหาอาตมา นี่เขาเป็นซึมเศร้า เขาบอกเขาเป็นซึมเศร้า เขาบอกเขาเครียดเขานู่นนี่นั่น แต่อย่างน้อยเขามาฟังธรรมะจากเราแล้วเขารู้สึกเขามีความสุข แม้จะมีคนบอกว่าธรรมะมันไม่ควรเป็นเสียงหัวเราะเสียงตลกอะไร แต่ถ้าเสียงหัวเราะของเรามันทำให้คนหยุดการคิดที่จะทำร้ายตัวเองได้ หยุดความคิดที่เขาจะ เขาจะจมอยู่กับความทุกข์ของเขา อาตมาว่ามันก็เป็นประโยชน์แล้วไหมแค่นี้ ก็พอใจ อาตมาพอใจว่าอาตมาได้ทำ ทำหน้าที่ตรงนี้เพื่อประโยชน์ตรงนี้
เวลา : ก็คือเราก็พยายามหาวิธีการดับทุกข์ให้กับผู้คน
พระมหาไพรวัลย์ : ในแบบของเรา....ต้องวงเล็บด้วยว่า ในแบบของเรา
นพ. บัญชา : ท่านครับผมฟังประเด็นนี้ที่เวลากราบเรียนถามอาจารย์ แล้วอาจารย์ไขนี่ ผมนึกถึงท่านผู้หนึ่งนะครับ ที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งหอจดหมายเหตุพุทธทาส ขออนุญาตเอ่ยนามนะ คุณสมประสงค์ บุญยะชัย แห่ง AIS นะครับ วันหนึ่งนี่ คุณสมประสงค์มาสนทนาธรรม พวกเราเชิญมาสนทนาธรรม คุณสมประสงค์ฝากไว้เรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าสิ่งที่อาจารย์เปิดประเด็นตะกี้นี้มัน touch มาก คือคุณสมประสงค์บอกว่าในแวดวงพุทธศาสนา เวลาเราเข้าไปอยู่ในงานนี้เราก็จะมักว่า ทำแบบพ้นทุกข์บรรลุธรรม แต่จริง ๆ แล้วคนส่วนใหญ่ คือ ขอแค่คิหิสุขน่ะ ขอแค่ความสุขของคฤหัสถ์ก็พอ ซึ่งจริง ๆ แล้วของคำสอนของพระพุทธองค์ ถ้าไปดูจริง ๆ นะครับ ธรรมที่ทรงแสดงมากที่สุดคือ อนุปุพพิกถา ใช่ไหมอาจารย์ ก็คือความสุขเรื่องสวรรค์ เพราะฉะนั้นจริง ๆ นี่ถ้าเราจะทำงานเพื่อคนหมู่มากก็ต้องเริ่มด้วยเรื่องง่าย ๆ ก่อน แล้วก็จากนั้นค่อย ๆ ไต่อันดับ สิ่งที่อาจารย์ทำนี่ อนุเคราะห์ตามนี้ด้วยหรือเปล่า
พระมหาไพรวัลย์ : เอ่อ ที่อาจารย์หมอพูดเมื่อกี้น่าสนใจมากเลย คือมันก็ยังมีภาพของคนพุทธส่วนใหญ่ก็จะมองแบบที่อาจารย์หมอพูดนั่นแหละ ว่าธรรมะต้องธรรมะเพื่อพ้นทุกข์ไปเลย คือแล้วธรรมะต้องเป็นแบบว่า เฮ้ย มันต้องทำให้คนไม่สนุก ที่ไม่มองว่าเป็นเรื่องเล่นสิ ต้องเบื่อหน่ายในกาม ต้องออกบวช... สภาพ
ทำไมพระพุทธเจ้าไม่ชวนพระอนาถบิณฑิกเศรษฐีออกบวชครับ ใช่ไหมครับ ถ้าทุกคนศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้วต้องบวชกันหมด ก็ตายสิครับ มันก็ไม่มีคนแบบนางวิสาขา แบบอนาถบิณฑิกเศรษฐี หรือใครหลาย ๆ คนที่เขาจะเป็นกัลยาและปุถุชนที่ดีได้ในความเป็นฆราวาส
อาตมาก็รู้สึกอย่างนี้เหมือนกันนะ ธรรมะของพระมันก็ธรรมะแบบพระไหมครับ ธรรมะสำหรับฆราวาสก็เป็นธรรมะของฆราวาส สำหรับผู้ครองเรือน แค่เขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ในความเป็นฆราวาสในแบบที่เขาเบิกบานใจ แล้วเขาไม่ทำตนให้เป็นที่เบียดเบียนของตัวเองและคนอื่น อาตมาว่ามันก็โอ มันก็สุดยอดแล้วนะ มันก็โอเคแล้วนะ ใช่ไหม แต่ถ้าใครต้องการธรรมะในระดับสูงกว่านี้ ในระดับที่มันทำให้ตัวเองอยากหลุดพ้นจากทุกข์เลย อยากออกบวช อาตมาว่าก็มีเวอร์ชันนี้ ฟังก์ชันนี้ให้เลือกครับ ธรรมะมันไม่ได้มีแบบฟังก์ชันแบบอาตมา หรือแบบพระอาจารย์สมปอง มันมีหลายฟังก์ชันไหม
เวลา : อืม ๆ ก็แล้วแต่ว่าเราจะหาวิธีบรรลุ เอ้ย หาวิธีดับทุกข์ของเราแบบไหนตามความต้องการของผู้บริโภคน่ะครับ
พระมหาไพรวัลย์ : ใช่ พอเราไปตีกรอบว่า สอนธรรมะต้องไปสู่ความพ้นทุกข์เลย ต้องปฏิบัติธรรม ต้องแบบสำรวมอย่างเดียว ก็เสร็จแล้วครับ ศาสนาพุทธคำสอนพระพุทธเจ้ามันก็ถูก scope มันก็ถูก scope ไป เหมาะกับคนกลุ่มหนึ่งไป ทำไมส่วนใหญ่เราถึงเห็นว่า เวลาเข้าวัดคนกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะเป็นผู้สูงอายุเท่านั้นจึงถือศีลอุโบสถ จึงอยู่ฟังเทศน์ จึงตักบาตรทำบุญ ก็เพราะคนรุ่นใหม่เขารู้สึกว่าศาสนาไม่มีพื้นที่สำหรับคนแบบวัยอย่างเขา
เวลา : ไม่มีฟังก์ชันสำหรับเขา
พระมหาไพรวัลย์ : ไม่มีฟังก์ชันสำหรับเขา เขาเลือก ไม่มีฟังก์ชันให้เขา เขาเลือกได้เหรอ แล้วเขาทำอะไรไม่ดีเขาก็ถูกดุ อยู่หน้าพระต้องสำรวมนะ ต้องนู่นต้องนี่ โอ้โห มันมีแต่ มันไม่เป็นธรรมชาติน่ะ อาตมารู้สึกว่าธรรมะของพระพุทธเจ้ามันต้องสอดคล้องกับความเป็นธรรมชาติน่ะ
เวลา : เพราะว่าถ้าเราตีความเรื่องศีลนี่ จริง ๆ ศีลมันก็เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติ เครื่องมือในการใช้ชีวิตใช่ไหมครับ แต่พอเราเอาศีลมาแบบ มา fix fix fix fix มันก็เลยกลายเป็นว่าเราก็แข็ง มันก็เลยไม่เป็นธรรมชาติ แบบนี้ไหมครับ
พระมหาไพรวัลย์ : ใช่ ก็หลายคน มีนะหลายคน ที่ไปแบบว่าไปเรียนแบบธรรมะสายแบบ ไม่พาดพิงก็แล้วกันนะ แต่แบบว่าเป็นแบบพุทธกถาเลยอย่างงี้ เขาก็ไปศึกษา แล้วพอไปศึกษาออกมา มันทำให้เขาแทนที่เขาจะมีความเมตตาต่อคนอื่นมากขึ้นตามแบบของคนที่ปฏิบัติธรรมใช่ไหม ต้องมีความใจกว้าง ต้องเป็นคนที่อาทรต่อเพื่อนร่วมโลกมีความรัก แบบว่าทำให้เขาเป็นคนที่รู้สึกว่า เขามองใครเขาจับผิดไปหมด แสดงว่าเขาผิดแล้วไหมถ้าอย่างนั้น ถ้าการปฏิบัติธรรมแล้วมันทำให้เราใจแคบแล้วมองว่า ไอ้นี่ก็คนชั่ว ไอ้นี่ก็คนบาป ไอ้นี่ก็ผิดศีล มันมีจริง ๆ นะครับ แล้วเขาก็ไม่สบายใจ เขาก็สงสัยว่าไอ้ที่เขาไปศึกษาธรรมะแล้วเขากลายเป็นคนแบบนี้มันถูกหรือเปล่ามันต้องมีอะไรที่ผิดแน่นอน คุณมองศีลคุณมีแต่ศีล แต่คุณไม่มี คุณมีแต่อะไรนะ เวลาเราเรียนพุทธศาสนานี่พระก็จะสอนใช่ไหม มีทั้งเบญจศีลและเบญจธรรม คุณมีเบญจศีลแต่คุณไม่มีเบญจธรรม ใช่ไหม คุณมีแต่ศีลข้อ 1 ใช่ไหมครับ คุณมีแต่ ห้ามฆ่าสัตว์แต่คุณไม่มีความเมตตาในใจ นี่ มันก็ไม่ได้ใช่ไหมครับฮะ
เวลา : คุณหมอเพิ่มเติมไหมครับ คุณหมอมีประเด็นอะไรไหม
นพ. บัญชา : คุยอีกสักประเด็นหนึ่งได้ไหมครับ เวลาครับ
พระมหาไพรวัลย์ : ได้เลยอาจารย์หมอ ได้เลยครับ
นพ. บัญชา : มี คือมีงาน เนื่องจากงานที่ท่านไปสัมผัสจากสวนโมกข์ทั้งที่กรุงเทพและที่ไชยา หรืองานท่านอาจารย์พุทธทาสและท่านอาจารย์ปัญญานันทนะครับ ผมเคยอ่านงานของอาจารย์พุทธทาสชิ้นหนึ่ง ท่านปรารภว่าโลกในอนาคตนี่ ศาสนาที่จะเป็นคำตอบของมนุษย์คือวิทยาศาสตร์ คือหลักการเหตุและผล
แต่เราก็พบว่าจริง ๆ แล้วปุถุชนนี่ก็มีหลากหลายแนวนะครับ แล้วก็มีทฤษฎีอื่นเข้ามามากมาย ผมเคยไปสัมมนาที่อินเดีย นักโปรเฟสเซอร์ท่านหนึ่งทางด้านศาสนาจากเยอรมันบอกว่า จริง ๆ แล้วอนาคตอาจจะไม่ใช่เป็นเรื่องของว่าศาสนาไหนหรือยานไหนด้วยซ้ำไป จริง ๆ แล้วนี่ในอนาคต คนคงจะเลือกแบบที่ตัวเองชอบและเอามาผสมคือเป็น tailor maid นี้ศาสนาไหนหรือหลักคิดไหนที่ flexi นะ flexi ให้คนเลือกเอาไปใช้ได้ ทั้งเพื่อเป็นปุถุชนมีความสุขหรือไปถึงพ้นทุกข์ได้ก็จะเป็นคำตอบ
อันนี้นี่เข้าใจว่าผมดูที่แผงตู้หนังสืออาจารย์นี่เยอะมากนะครับ อาจารย์มองเรื่องของทิศทางงานพระพุทธศาสนาในสังคมไทยในอนาคตเป็นอย่างไร ในฐานะที่เป็นมหาเปรียญ 9 และก็ทำมาสารพัดนะครับ โดยนึกถึงงานอีกชิ้นหนึ่งซึ่งดูเหมือนว่าอาจารย์ก็อ่านแล้ว ก็คืองานของท่านไพศาลว่าด้วยอนาคตพระพุทธศาสนาไทย ที่ชี้ว่าฆราวาสต้องลุกขึ้นมาช่วยทำงานด้วย อันนี้อยากฟังความเห็นนะครับจากอาจารย์ เพื่อที่จะไปสวนโมกข์แล้วมีความประทับใจแล้ว เผื่อจะชี้แนะให้พวกผมได้ปรับปรุงขบวนหรืองานธรรมเพื่อวงกว้างยิ่งขึ้นครับผม
พระมหาไพรวัลย์ : อาตมาว่าประเด็นปัญหาหนึ่งของคนพุทธเรานะครับ ของแวดวงพุทธศาสนาเราก็คือเราอยู่กับตัวเองมากไป เราอยู่กับพวกเราเองมากไปนะครับ ศาสนาพุทธก็เป็นศาสนาของพวกเรา แต่เราไม่พยายามทำงานที่มันท้าทายมากกว่านั้น ก็คือทำให้ศาสนามันเป็นศาสนา ศาสนาพุทธเป็นศาสนาเพื่อคนทั้งโลก อาตมาไม่ได้พูดแบบเว่อร์นะ แต่อาตมารู้สึกว่ามันต้องเป็นอย่างนั้นจริง ๆ แล้วเด็กหลาย ๆ คนนี่เค้าก็เป็นอย่างนี้แล้วนะครับในปัจจุบัน ก็คือเขา ที่เราบอกเขาไม่มีศาสนา จริง ๆ นะหลาย ๆ คนไม่ใช่ว่าเขาไม่นับถือศาสนาอะไรเลย แต่การที่มีศาสนาของเขาคือเขาเอาหมดทุกศาสนา
นี่ครับ อาตมาคุยกับเด็กหลายคน คือเขาเอาหมด หมายถึงอะไรครับ หมายถึงเขาอาจจะมองว่า ของพุทธนี่ วิธีคิดของแบบพระพุทธเจ้า ธรรมะของพระพุทธเจ้าแบบนี้ เขาโอเค มันช่วยพัฒนาศักยภาพอะไรในตัวเขาได้เขาก็เอา ของคริสต์ดี ของอิสลามดี หรือของศาสนาใดก็ตาม เขารู้สึกว่า เออ มัน match แล้วมันสามารถเอามาประยุกต์ใช้กับเขาได้ เขาจะเอา คือศาสนาแบบ อาตมาขอใช้คำพูดว่าแบบ ศาสนาแบบต้มยำ ศาสนาในอนาคตมันจะเป็นอย่างนี้จริง ๆ นะ
เพราะว่าเราก็ต้องยอมรับว่าศาสนาแต่ละศาสนามันก็มีข้อเด่นข้อด้อยในตัวของมันนะ อาตมาว่าโดยเฉพาะพัฒนาการของศาสนามันมีคัมภีร์ในยุคหลัง มันมีอะไร มันไม่ใช่แบบมีแต่คำสอนที่มันเป็นคำสอนของศาสดาแบบเพียว ๆ มันถูกขยาย มันถูกแต่งเติม และในบางส่วนมันไม่ใช่ถูกขยายไปเพื่อแนวทางที่มันดีขึ้นนะ แต่มันเป็นการขยายไปในทางที่อาตมารู้สึกว่ามันไม่ใช่นะ บางทีเราอ่านเราก็ไม่ใช่เหมือนกัน อย่างที่อาจารย์พุทธทาสท่านวิพากษ์วิจารณ์พระพุทธโฆษาจารย์นั่นแหละ หรือว่าวิพากษ์วิจารณ์พระสูตรในพระไตรปิฎกด้วยซ้ำ เช่น จันทิมสูตร สุริยสูตร อะไรอย่างนี้ ท่านก็ยังกล้าพูดกล้าวิจารณ์ อย่างนี้ก็ไม่โอเคหรือเปล่า มันไม่น่าจะใช่ไหม อะไรไหม
อาตมาก็เห็นอย่างเดียวกันที่วัยรุ่นเขาเห็นว่า โดยที่สุดแล้วนี่ เราตัวคนเดียวนี่เราสามารถนับถือปรัชญาลัทธิหรือศาสนามากกว่า 1 ได้ นี่อาตมาจึง อาตมาโดยตัวของอาตมาเอง อาตมาก็พยายามเรียนรู้วิธีคิดของศาสนาทุกศาสนา และอาตมาคิดว่าโดยที่เราไม่มองแค่ว่าสิ่งที่เราพูดนี่มันเป็นธรรมะที่มันควรมีไว้สำหรับชาวพุทธเท่านั้น สำหรับคนพุทธเท่านั้น สื่อสารเฉพาะสำหรับคนพุทธเท่านั้น เราไปพยายามไปพูดอะไรให้มันเป็นหลักการสากลที่คนทุกศาสนาเขายอมรับได้
ใน LIVE สดของอาตมานะครับ มีเด็กที่เป็นคริสต์ วันนี้เด็กที่เป็นคริสต์ก็มา มาพบคนหนึ่ง มีทั้งเด็กที่เป็นคริสต์ เด็กที่เป็นมุสลิม เขาก็บอกตามตรงว่าเขาเป็นมุสลิมแต่ว่าเขาชอบคำสอนพระอาจารย์นะ เขาชอบคำสอนหลวงพี่นะ อะไรอย่างนี้ เราคิดว่าอย่างนี้ เอ๊ะ อย่างนี้มันก็แสดงว่าคำสอนของพระพุทธเจ้า นี่มัน มันก็มีความเป็นสากลอยู่ในตัวของมันเองนะ หมายถึงว่ามันไม่ใช่เป็นที่ยอมรับเฉพาะคนที่เป็นพุทธศาสนิกชนเท่านั้น แต่มันสามารถเป็นที่ยอมรับของคนทุกศาสนาได้
เวลา : แบบนี้ถ้า มันก็ตรงกับที่เป็นปณิธานของอาจารย์พุทธทาสเหมือนกันนะครับ ที่เป็นปณิธาน 3 ข้อ ก็คือ การทำความเข้าใจระหว่างศาสนานะครับ หมายถึงว่าคือ ดูผิวเผินอาจจะเหมือนไม่มีศาสนาแต่จริง ๆ แล้วมันก็คือการมิกซ์ระหว่างศาสนาแล้วก็หาตัวแก่นธรรมเพียว ๆ ที่มันเป็นของทุกคนจริง ๆ อย่างนี้หรือเปล่า
พระมหาไพรวัลย์ : อาตมาว่าน่าจะประมาณนั้นเลย คือวิธีคิดมันต่างกันนะครับ ในสมัยก่อนนี่เวลาโดยเฉพาะเราเรียนเปรียญ เราจะติดภาพว่าวิธีการสอนของพระพุทธเจ้าคือไปดึงคนศาสนาอื่นให้มานับถือศาสนาของท่าน ใช่ไหมครับ คือถ้าวิธีคิดวิธีการเผยแผ่ศาสนาในยุคก่อนมันเป็นอย่างนั้น แต่ในยุคสมัยใหม่มันไม่ใช่แล้ว ไม่มีใครเขาอยากทิ้งศาสนาเขา ฉะนั้นถ้าเรามองคนอื่นว่าเป็นศาสนาอื่นเราก็ไม่อยากจะคุยกับเขาแล้ว ไม่อยากจะเอาหัวข้อธรรมหรือหลักวิธีคิดของแต่ละศาสนามา sharing กัน มาคุยกัน มันก็จะไม่มี
เพราะเราจะติดภาพเลยว่าศาสนาอื่นคือปฏิปักษ์ คือพวกอะไรล่ะ พวกเดียรถีย์ พวกอะไรอย่างนี่นะ มันจะติดภาพแบบอรรถกถาเลยครับ จะมองพวกแบบต่างศาสนาเป็นพวกเสี้ยนหนามแห่งศาสนานู่นนี่นั่นไป แทนที่มันจะได้ความเป็นมิตร มันก็ได้ความเป็นศัตรูใช่ไหมครับ ความไม่เป็นมิตรกันมันก็ทำให้เราแยกจากกัน ห่างจากกันมากขึ้น แล้วก็มองกันแบบหวาดระแวงกันน่ะ มันจะเห็นชัดเลยครับ บางพื้นที่เราจะเห็นชัดเลยว่าความหวาดระแวงระหว่างศาสนามันเข้มข้นมาก แต่ถ้าเราไม่สนใจประเด็นเรื่องนี้ เราไม่จำเป็นจะต้องไปเปลี่ยนใครให้มานับถือศาสนาเดียวกับเรา แต่เราพยายามที่จะทำความเข้าใจศาสนาเขาไปด้วย และเข้าใจเขาว่าทำไมเขาถึงนับถือศาสนาแบบนี้ คนนับถือศาสนาเขามีวิธีคิดแบบไหน เวลาอาตมาเทศน์อาตมาจึงพยายามเอาคำสอนของทุกศาสนามาสอนด้วยซ้ำนะ จนบางทีก็โดนตำหนิเหมือนกัน ท่านไพรวัลย์ ตกลงท่านปลอมบวชมาใช่ไหม ท่านรับจ้างมาใช่ไหม ท่านปลอมบวชอะไรอย่างนี้ โอ๊ย ปลอมบวชอะไร
เวลา : จริง ๆ อาจารย์พุทธทาสก็เคยใช้คำสอนของศาสนาคริสต์เหมือนกันนะครับ คือจากหนังสืออาจารย์ เช่นแบบ ทำบุญมือขวาอย่าให้มือซ้ายรู้ อย่างนี้ครับ ก็เป็นการยืมมาจากศาสนาคริสต์เหมือนกัน เป็นคำสอนซึ่งก็นั่นแหละ มันคือการพยายามเข้าใจศาสนาตัวเองและก็พอเข้าใจ พัฒนาตัวเองลึก ๆ แล้วจริง ๆ เราก็จะเห็นว่าธรรมะมันคือทุกสิ่ง มันคือความหมายของธรรมะ 4 ประการ อย่างที่อาจารย์พุทธทาสบอกคือ ธรรมะคือธรรมชาติ ธรรมะคือกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือหน้าที่ตามธรรมชาติ ธรรมะคือผลตามหน้าที่ธรรมชาติ ผมว่ามันคือการเข้าถึงธรรมะที่แท้แล้วด้วยซ้ำจริง ๆ คุณหมอก่อนจะ ไม่ทราบว่าท่านไพรวัลย์ ตอนนี้จะ 18:00 น. แล้วไม่ทราบว่าท่านอยู่ได้ถึงกี่โมงหรืออะไรยังไงครับเผื่อจะได้
พระมหาไพรวัลย์ : ก็สักนิดได้อยู่ครับ แต่ไม่มีคำถามเลยเหรอครับ คนอื่น อาจจะมีคนรอด่าอาตมาอยู่ก็ได้นะครับ
นพ. บัญชา : มีคนยกมือ มีคนอะไร เวลาลองเชิญคนยกมือไหม
พระมหาไพรวัลย์ : อาจจะมีคนรอด่าอาตมาอยู่นะ ขอฟังคำด่าสักนิดนึงครับก่อนที่จะออกไป
เวลา : โอเคครับ จะได้สบายใจ โอเค เดี๋ยวเราเชิญคุณดนัยเดชครับ ขึ้นมาเป็นผู้ถามคำถาม ทางทีมงานช่วยดึงคุณดนัยเดชขึ้นมานิดนึงครับ ผมดึงขึ้นไม่ได้เลย สักครู่นะครับ
นพ. บัญชา : ระหว่างรอคุณดนัยเดชตอนท้ายนี่ ผมอยากขอให้ท่านช่วยแนะนำงานของสวนโมกข์กรุงเทพนะครับว่า อยากจะให้ทำอะไรบ้าง เพื่อจะได้ประทับใจและก็เป็นประโยชน์ยิ่ง ๆ ขึ้นด้วยนะครับตอนท้ายนะครับอาจารย์
พระมหาไพรวัลย์ : ได้เลยครับอาจารย์ ทีนี้ในช่วงที่รอเวลาจะพูดอันนึง คืออาตมาชอบมากนะที่แบบ ตอนที่อาตมาอาจจะไปทันช่วงเวลาพอดีนะอาจารย์หมอ ที่ไปเจออาจารย์หมอครั้งล่าสุด และมันเหมือนมีนิทรรศการที่สวนโมกข์กรุงเทพ คืออาตมาชอบมาก คือมันควรมีอะไรแบบนี้ เวลาคนเข้าไปแล้วรู้สึกว่ามันมีอะไรที่มันเกี่ยวกับตัวของอาจารย์พุทธทาสที่อาจารย์พุทธทาสสอนเป็นนัยยะ หรือเป็นธรรมะไว้ แล้วเราเอาสิ่งเหล่านี้มาจำลอง มาทำให้เห็น มาทำให้ดู แล้วคนใช้ได้
ที่อาตมาได้อันนึงก็คือ ที่อาจารย์หมอพาไปดู 2 อันครับ 1. อาตมาไปดูจีวรของอาจารย์พุทธทาสอันนึงและพาไปดูสมุดโน้ตอะไรของอาจารย์พุทธทาส ซึ่งได้มาจากปฏิทินน่ะ ซึ่งท่านเอาปฏิทินอีกหน้าหนึ่งที่มันว่าง เอาไว้สำหรับการจด คือธรรมะ ธรรมะลึกซึ้งอะไรที่เราเห็น ที่เราได้อ่าน คือมันมาจากเศษกระดาษของปฏิทิน ไม่ได้มาจากอะไร ไม่ต้องมีสมุดโน้ตราคาแพง แต่มันสามารถมาจากปฏิทินราคาถูกแต่มันสามารถสอนธรรมะที่มัน ที่มันลึกซึ้งได้ และอีกอันหนึ่งที่อาตมาเห็นแล้วอาตมาก็ชื่นชมมาก ก็คือไอ้ที่จีวรอันหนึ่งครับ จีวรสีกรักที่มันเข้ม ๆ ที่อาจารย์หมอเล่าให้ฟังว่า ท่านอาจารย์พุทธทาสท่านย้อม แล้วปรากฏว่าพอมันออกมาสีมันเข้มแล้วท่านไม่ใส่ เพราะท่านรู้สึกว่าถ้าใส่แล้วมันจะเสริมอัตตาท่านน่ะ ว่าเวลาใส่สี พระใส่จีวรเข้ม ๆ เลย แล้วมันจะรู้สึกว่า เฮ้ย เราขลังกว่าคนอื่น ปฏิบัติดีกว่าคนอื่น อะไรอย่างนี้ แล้วท่านก็ไม่ใส่ ย้อมมาแล้วก็ไม่ใส่ ชอบมากเลย
เวลา : โอเคครับ เรามีผู้ร่วมสนทนาแล้ว เดี๋ยวเราเชิญคุณดนัยก็แล้วกันครับ เชิญคุณดนัยครับ ปิดไมค์อยู่ คุณดนัยยังอยู่ไหมครับ หรือมีท่านใดอยากร่วมสนทนาชูมือขึ้นมาได้เลย เดี๋ยวเราเชิญขึ้นมาด้านบน ไม่มีใครเข้ามาสนองความต้องการของท่านอาจารย์
นพ. บัญชา : ถ้าเช่นนั้น อาจารย์ไพรวัลย์อาจารย์จะมีคำแนะนำสำหรับพวกผมที่หอจดหมายเหตุไหมครับ ว่าอะไรที่น่าจะทำเพิ่มเติมอีกบ้าง
พระมหาไพรวัลย์ : ตอนนี้ที่รอก็คือ อาจารย์หมอที่อาจารย์หมอถาม ขออนุญาตที่รออยากเห็นก็คืออาตมาทราบว่าที่หอจดหมายเหตุมีงานของท่านอาจารย์พุทธทาสบางส่วนที่ยังไม่ได้เผยแผ่ออก และหอจดหมายเหตุได้รับ เหมือนรับลิขสิทธิ์หรือเปล่า แล้วก็เก็บรักษาไว้อะไรอย่างนี้ ก็รอและความหวังว่าเราจะได้เห็นงานของท่านอาจารย์พุทธทาสส่วนอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้เคยเผยแผ่ที่ไหน เผยแพร่ที่ไหน เราจะได้เห็นจากสวนโมกข์กรุงเทพนะครับเป็นที่แรก ก็หวัง ก็ให้กำลังใจอาจารย์หมอดีกว่า ที่อาจารย์หมอทำมาอาตมาว่า มันดีมาก ๆ แล้วล่ะครับ อย่างน้อยก็ถ้ามันทำให้พระอย่างอาตมานี่นึกถึงได้ ว่าถ้าอยากได้ที่พักผ่อนใจนะครับ อยากได้ที่ที่มันสงบและไม่รู้จะไปไหนในกรุงเทพ ที่มันซึ่งมีแต่อะไรที่วุ่นวาย ๆ สามารถนึกถึงสวนโมกข์กรุงเทพหรือหอจดหมายเหตุของท่านอาจารย์พุทธทาสได้นี่ ก็ถือว่า อาตมาก็ถือว่า มันสำเร็จแล้วนะ
เวลา : โอเคครับ คุณอินดี้มาหรือยังเอ่ย
อินดี้ : มาแล้วค่า สวัสดีค่ะ คือเดี๊ยนจะขอเสริมเล็กน้อยนะคะ
เวลา : เอ่อ ใคร ใครปิดไมค์คุณอินดี้ครับ เชิญครับคุณอินดี้
คุณอินดี้ : ขอบคุณค่ะ ขออภัยค่ะ ปิดไมค์ไปโดยบังเอิญ ทีนี้สิ่งที่เดี๊ยนอยากจะขอเสริมนะคะ ในงานในการเผยแผ่ของพระมหาไพรวัลย์นี่ เดี๊ยนมีความรู้สึกมานานแล้วนะคะ ตอนนี้เดี๊ยนอายุมากพอสมควรแล้ว เดี๊ยนก็เคยบอกคิดกับตัวเองแล้วก็ทำหลายอย่างที่แบบทิ้งแล้ว ไม่เอาแล้ว ศาสนาแบบนี้ การสอนแบบนี้นะคะ ทีนี้เมื่อได้ยินพระมหาไพรวัลย์ที่เป็นพระรุ่นหนุ่ม อายุรุ่นลูกรุ่นหลานนี่ ที่เข้ามาใหม่แล้วก็ใช้ทั้งวิธีการทั้งคำอธิบายที่มันชัดเจนน่ะ ที่ชัดเจนให้คนอายุมากที่เรียนเรื่องนี้มามากพอสมควรได้เข้าใจ โดยที่ไม่หลงอยู่กับคำแบบเก่า ๆ นะคะ อันนี้เดี๊ยนต้องยกแบบนี้นะคะ
อีกอย่างหนึ่งก็คือว่าเดี๊ยนชื่นชมงานนี้นะคะ งานเผยแผ่ของพระมหาไพรวัลย์ ด้านที่ 2 ก็คือว่าเดี๊ยน อยากจะขอเสริมนิดนึงในการที่พูดถึงการทำสมาธิหรือการสวดมนต์ การสวดมนต์นี่ดีจริง ๆ นะคะ ถ้าสมมุติว่าเราพูดเพียงว่า เพราะเราได้อยู่กับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นะ แต่จริง ๆ แล้วในการสวดมนต์นี่มันคือการทำงานของสมองอย่างหนึ่งที่เราไปมุ่งที่การทำงานที่ไม่ทำให้เกิดอารมณ์ทางลบ คืออารมณ์ทางลบ ความกลัว ความเศร้า ความไม่พอใจ ขณะที่เราสวดมนต์นั้นสมองส่วนหน้าเราทำงานใช่ไหมคะ มันก็จะเกิดอารมณ์บวก นี่ล่ะค่ะที่มันเป็นคำอธิบายที่มันเป็นสากล ที่พุทธศาสนาใช้ได้เลย แล้วก็มันชัดเจนมาก ๆ ตรงนี้ค่ะที่เดี๊ยนอยากจะให้พระมหาไพรวัลย์ได้ใช้อย่างจริงจัง ได้พูดให้ไปถึงใคร ๆ เพราะว่าหลายคนก็จะพูดว่าสวดมนต์แล้วดี
แม้แต่ผู้ที่เพื่อนฝูงเข้าไปในพุทธทาส เอ่อ ศูนย์พระพุทธทาสที่จตุจักรนี่นะคะ ก็ยกคำต่าง ๆ ขึ้นมา แต่พอเราถามเข้าจริง ๆ หมายความว่าอะไร เขาก็ไม่อาจจะอธิบายได้อย่างชัดเจนนะคะ ซึ่งก็น่าเสียดาย น่าเสียดายที่มีแหล่งเรียนรู้ธรรมแบบนี้ แต่เมื่อเผยแพร่จริง ๆ ผู้ที่รับมาก็ไม่อาจจะมาเผยแพร่ต่อให้ในกลุ่มคนที่ใกล้ชิดได้อย่างชัด ได้อย่างเข้าใจอย่างชัดเจนค่ะ นี่ค่ะ ที่เดี๊ยนอยากจะขอเสริมนะคะ แล้วขอบคุณมากค่ะที่จัดห้องนี้ขึ้นมา ได้มีการพูดคุยกัน ได้มีการเผยแพร่ ขอบคุณมากค่ะ
เวลา : ครับ ขอบคุณ คุณอินดี้นะครับ เดี๋ยวผมขอโฆษณาขายของ เอ๊ย ไม่ใช่ขายของสิ โฆษณากิจกรรมสักนิดนึง สำหรับคนที่สนใจจะสวดมนต์ครับ พอดีว่ามันมีภาคีของเราที่จัดกิจกรรมสวดมนต์ผ่าน clubhouse ทุกวันก็คือเป็นกลุ่มสวดมนต์ดลใจครับ เป็น clubhouse ของสวดมนต์ดลใจ เขาจะเริ่มกันประมาณ 1 ทุ่ม ถ้าท่านใดที่ฟังคุณอินดี้แล้วรู้สึกว่าอยากจะสวดมนต์ก็ไปร่วมรับฟัง clubhouse ของทางกลุ่มสวดมนต์ดลใจได้นะครับ ตอนเวลา 1 ทุ่ม ต่อไปขอเชิญคุณลูกกอล์ฟครับ เชิญคุณลูกกอล์ฟได้เลยครับ
คุณลูกกอล์ฟ : กราบนมัสการ พส. ครับ แล้วก็สวัสดีอาจารย์หมอและทุกท่านนะครับ ลูกกอล์ฟนะครับ ประเด็นแรกครับ ชื่นชมทางหอจดหมายเหตุก่อนครับ เมื่อ น่าจะเดือนกันยายนวันที่ 23 กอล์ฟโชคดี กอล์ฟได้ทำหน้าที่พิธีกรงานแถลงข่าว ความร่วมมือระหว่างหอจดหมายเหตุและก็ทาง PMAT น่ะครับ ทีนี้มันเลยทำให้กอล์ฟรู้สึกว่า เรื่องราวของพุทธศาสนามันสามารถไปเชื่อมต่อกับองค์กรการทำงาน ไปให้ความรู้และก็สร้างความสุขที่ยั่งยืนให้กับองค์กรได้ อันนี้ชื่นชมนะครับ ว่าเป็นแนวทางที่ดีที่ท่าน ดร. วิรไท ท่านก็ให้ความร่วมมือนี้นะครับ ก็เลยชมกิจกรรมของหอจดหมายเหตุครับ และก็รอคอยว่าถ้าโควิดหายไปเมื่อไหร่อยากจะกลับไปที่หอจดหมายเหตุอีก อยากจะไปนั่งกินกาแฟชิว ๆ บรรยากาศ แล้วก็ไปร่วมชื่นชมกิจกรรมดี ๆ ครับอันนี้เป็นกำลังใจให้กับทีมงานทุกคนครับ
แล้วก็ชื่นชม พส. ครับ กดไลก์ทุกไลก์ทุกโพสต์เลยครับแล้วก็เอ็นดูแฟนคลับ พส. นะครับ ที่ชอบทำรูปแปลก ๆ ล่าสุด Squid game อันนั้นชอบมากครับ พส. พส. มีความรู้สึกยังไง อยากถาม พส. ว่าท่าน พส. นี่พอเห็นแฟนคลับหรือน้อง ๆ รุ่นใหม่ที่เขามีความน่ารัก เอารูปท่าน พส. ไปตัดแต่งกับเรื่องที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบันนะครับ พส. มีความรู้สึกยังไงและอยากจะบอกน้อง ๆ เหล่านั้นยังไงครับ กราบเรียนนมัสการสอบถามครับ
พระมหาไพรวัลย์ : เจริญพรครับ ดีมากเลยครับคำถามที่โยมพี่ลูกกอล์ฟได้พูดอันสุดท้ายนี่ คือบางส่วนนะถ้ามองแบบคนยุคเก่าหน่อยนะ เฮ้ย อย่างนี้ไปล้อเลียนพระนะ ทำไมยอมให้เด็กเอาเราไปเป็นตัวตลกนะครับ ศาสนาเสื่อมเสียหมด
อาตมาว่าอารมณ์ขันมันไม่ได้หมายถึงบาปนะ อารมณ์ขันไม่เท่ากับบาปไหม แล้วอาตมารู้สึกว่า บางทีเรามองอะไร แบบแคบ ๆ ไป บางทีทำให้เราละเลยมิติอะไรที่ ที่มันสามารถมองในมุมบวกได้ อาตมานึกถึงพุทธพจน์ของพระพุทธเจ้า ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “วิสฺสาสปรมา ญาตี ความคุ้นเคย เป็นญาติอย่างยิ่ง” นี่อาตมาพยายามจะทำให้คนรู้สึกว่า เขามีความคุ้นเคยกับเรา เขาสามารถนึกถึงเรา แล้วเราเป็นสัญญะอะไรแห่งความสุขสำหรับคนเหล่านั้นได้ เหมือนเด็กเอารูปอาตมาไปตัดต่อ จริง ๆ ไม่ใช่แค่เด็กนะครับ ผู้ใหญ่ก็เอาไปตัดต่อนะครับ แล้วก็ตัดต่อเป็นรูปอะไรสักอย่างหนึ่ง ตัวอะไรที่มีอยู่เยอะมากเลยครับแถวสวนโมกข์ ที่มันลอยคออยู่ในน้ำ นี่อาตมาก็ไม่ได้รู้สึกว่าเดือดร้อนอะไรนะ เขาอาจจะนึกถึงเราในมิติไหนที่เขามีความสุขก็ได้ มิติของความรัก มิติของความเกลียด หรืออะไรก็ได้ทุกมิติ คนเรามันต้องถูกล้อได้ไหมครับ
อาจารย์พุทธทาสเวลาตอนสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านก็ล้อตัวเองนะครับ ท่านก็ล้อตัวเองนะแล้วอาตมาก็ไม่ได้รู้สึกว่าท่านเห็นตัวเองเป็นคนซึ่งสูงส่งอะไร ถ้าเราดูจากรูปถ่ายท่าน ท่านก็มีความอาร์ตหลายรูปนะครับ อาตมาว่า ท่านก็บุกเบิกเหมือนกันนะ ภาพปิดหูปิดตาอะไรท่านน่ะ ถ้ามองแบบคน ก็ว่าท่านพุทธทาสก็ไม่ได้สำรวมอะไรนักหรอก ใช่ไหมครับ รูปถ่ายแต่ละรูปท่านน่ะ ก็แนวอาร์ต ๆ ทั้งนั้น อาตมาก็ดีใจที่เด็กรุ่นใหม่เขามองเราเป็นสัญญะของความสุข ของอะไรไปอย่างนี้ อาตมาว่ามีความใกล้ชิดดี แล้วเราก็ อาตมาเคยพูดเลยว่า ล้อเลียนไม่เท่ากับไม่นับถือนะครับ แล้วอาตมารู้สึกว่าเด็กหลายคนเขาแยกแยะได้ เขาแบบคล้าย ๆ กับว่า เวลาเขามาเจอหน้าอาตมาจริง ๆ หลายคนเขาน่ารักมากนะ เขารู้จักธรรมเนียม เขารู้จักอะไรอย่างนี้นะครับ ก็ต้องแยกแยะไป
คุณลูกกอล์ฟ : กราบขอบพระคุณ พส. ครับ คำถามสุดท้ายครับ อยากจะถามทางสวนโมกข์ครับว่า ถ้าโควิดซาไปจะมีกิจกรรมดี ๆ ร่วมกับ พส. ไหมครับ ที่ให้แฟนคลับของทั้งสองฝั่งได้ไปร่วมกิจกรรมที่สวนโมกข์กรุงเทพครับ ขอบพระคุณครับ
เวลา : ครับ ก็อันนี้ต้องสอบถามท่านไพรวัลย์เลยว่า สนใจจะมาทำกิจกรรมกับเราไหม หรือจะมาในรูปแบบไหนดี เพราะว่าเราก็เคย อย่างที่เคยบอกเคยกราบนิมนต์ท่านแล้ว แต่ว่านั่นแหละเดี๋ยวเราค่อยปรึกษากันนะว่าเราจะเริ่มกิจกรรมหรือเปิดกิจกรรมแบบไหนกันใช่ไหมครับ ท่านไพรวัลย์ หรือท่านไพรวัลย์ยังไงมีอะไรเสนอไหมครับ
พระมหาไพรวัลย์ : ก็ยินดีนะครับ แต่ว่าช่วยดูแลความปลอดภัยให้อาตมาด้วย
เวลา : เอ่อ อาจารย์อย่าเอาทัวร์มาก็น่าจะพอนะครับ
พระมหาไพรวัลย์ : ไม่ อาตมาไม่มีทัวร์ แต่สวนโมกข์มีอยู่นะ
เวลา : อ่อ โอเค ๆ งั้นเดี๋ยวเราค่อยไปคิดกันสักพักนึงนะครับว่าจะยังไง
คุณลูกกอล์ฟ : ครับขอบคุณทุกท่านครับ กราบนมัสการลา ท่าน พส. ครับและอาจารย์ทุกท่านครับ ขอบพระคุณครับ
เวลา : ครับ ขอบคุณคุณกอล์ฟครับ ต่อไปเชิญคุณชัญญาครับทางทีมงานช่วยดึงคุณชัญญาสักนิดนึง
นพ.บัญชา : ได้ยินผมไหมครับ
เวลา : ครับคุณหมอ มีประเด็นเสริมไหมครับ
นพ. บัญชา : ครับผม ผมมีนิดเดียวครับ เอ่อ สำหรับหอจดหมายเหตุพุทธทาสนะครับ ที่อาจารย์ไพรวัลย์เป็นห่วงนะครับ จริง ๆ แล้วเนี่ยเป็นเรื่องธรรมดานะครับที่จะเกิดจะมีคนเห็นต่างนะครับ แล้วก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเห็นเหมือนด้วยในความเห็นของพวกเราที่ทำงานธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้านศาสนามีมิติที่ละเอียดอ่อนและลึก ยังไงก็ตามหากท่านว่างและมีจังหวะก็ยังยืนยันการอาราธนานิมนต์มาทำกิจกรรมนะครับ แต่สิ่งที่ท่านถามไว้ว่ามีอะไรใหม่ ๆ ที่เก็บไว้อยู่ในคลัง ผมขออนุญาตนำเรียนเบื้องต้นทั้งท่านไพรวัลย์และท่านผู้ฟังทั้งหลายว่ามี 3 สิ่งสำคัญที่หอจดหมายเหตุนำมาเผยเป็นระยะ ๆ ครับ
อันที่ 1 คือ “หนังสือธรรมะเล่มน้อย” ที่จะออกใหม่ทุกเดือน เดือนละเล่ม และเป็นหนังสือที่นำธรรมะบรรยายของท่านอาจารย์พุทธทาสที่ไม่เคยตีพิมพ์และเผยแพร่มาก่อน มาจัดพิมพ์ หนังสือเล่มนี้อาจารย์มหา ว.วชิรเมธี นี่นะครับอาจารย์ ท่าน ว. ตามแล้วบอกว่าทำดีมาก นัดหน้า clubhouse เราก็นิมนต์อาจารย์ ว. มา
งานที่ 2 คือว่า ฝากหนังสือเล่มหนึ่งที่อยากจะให้คนไทยรีบอ่านก็คือ ธรรมโฆษณ์ชื่อว่า “ธรรมะเล่มน้อย” แต่จริง ๆ ไม่น้อยนะครับ หลายร้อยหน้า แต่ว่าฝรั่ง แต่ว่ามีคนจำนวนมากบอกว่าหนังสือเล่มนี้ดีที่สุดและตอนนี้สำนักพิมพ์ชัมบาล่ากำลังเอาไปแปล แล้วจะพิมพ์เผยแพร่ทั่วโลก องค์ดาไลลามะจะเป็นผู้เขียนคำนิยม กับท่านอาจารย์สุเมโธนะครับ หนังสือเล่มนี้จะเผยแพร่ทั่วโลกในต้นเดือนมกราคมเป็นภาษาอังกฤษ อยากจะเชิญคนไทยว่าอ่านกันก่อนในฉบับภาษาไทยนะครับ จะได้ถึงก่อนฝรั่ง
ท้ายสุดนี้ ทางหอจดหมายเหตุตอนนี้กำลังทำ website ชื่อว่า pagoda.or.th สำหรับคนที่อยากจะค้นหางานธรรมของท่านอาจารย์พุทธทาสและครูบาอาจารย์รูปอื่นในประเทศไทยในสังคมไทย และกิจกรรมของสวนโมกข์ด้วยนะครับ เข้าไปที่ www.pagoda.or.th คล้าย ๆ ว่าจะไปเที่ยวไหนก็ดู Traveloka ถ้าหาโรงแรมก็ไป Agoda แต่ว่าถ้าจะหาธรรมะเพื่อมาดลใจมาช่วยใจ ไปที่ Pagoda ก็ขอกราบเรียน ๓ เรื่องครับ ของใหม่ ๆ จะอยู่ในนั้นล่ะครับอาจารย์ครับ
พระมหาไพรวัลย์ : รอติดตามเลยครับอาจารย์ครับ ขอบคุณมาก รอติดตาม
นพ. บัญชา : อยากจะส่งธรรมะเล่มน้อยไปถวายให้อาจารย์อ่านครับ
พระมหาไพรวัลย์ : สาธุ สาธุ จริง ๆ อาตมาเป็นลูกค้าสวนโมกข์นะครับ ไปอุดหนุนหนังสือบ่อยมาก
นพ. บัญชา : ตอนนี้เรากำลังจะปรับปรุงใหม่นะครับ ห้องที่อาจารย์ไปเราจะทำให้เป็นแหล่งรวมงานของอาจารย์พุทธทาสสมบูรณ์แบบ พร้อมกับจะชะลอห้องสมุดคณะธรรมทานที่วัดชยารามมาตั้งที่นี่แบบเหมือนจริงครับ เอาของจริงมาเลยครับ
พระมหาไพรวัลย์ : นี่อันนี้ อันนี้ที่อาตมาก็คิดอยู่เหมือนกันว่าที่หอจดหมายเหตุควรมีห้องสมุดที่ให้คนสามารถเข้าไปอ่านของอาจารย์พุทธทาส หรือไปอ้างอิงงานของอาจารย์พุทธทาสได้ ฟรี โดยที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ
นพ. บัญชา : ตกลงครับ ทำแล้วครับ กำลังจะทำเลยครับ
พระมหาไพรวัลย์ : เยี่ยม เยี่ยมเลยครับอาจารย์ครับ ฝากด้วยครับ
เวลา : โอเคครับมีท่านใดที่จะขึ้นมาอีกไหมครับ ไม่งั้นเดี๋ยวเราจะอาจจะต้องกราบลาท่านอาจารย์ไพรวัลย์ด้วย ถ้าไม่มีประเด็นใดแล้ว
พระมหาไพรวัลย์ : รู้สึกเป็นเกียรติมากเลยครับ ขอบคุณมากเลย ขอบคุณอาจารย์หมอบัญชา ขอบคุณโยมพี่เวลาด้วยนะครับ คือชื่อเวลาจริง ๆ เลยเหรอครับ
เวลา : เป็นชื่อในวงการครับพระอาจารย์
พระมหาไพรวัลย์ : ขอบคุณ ขอบคุณที่ให้เกียรติ ที่จริงแอบกังวลเล็กน้อยนะว่า เอ๊ะ สวนโมกข์เขาจะยกเลิกกิจกรรมไหม สวนโมกข์เขาจะลบโพสต์ไหม ก็ยังสามารถที่จะมาพูดคุยแลกเปลี่ยนอะไรกันได้ ก็ชื่นชมความใจกว้างของทีมงานของสวนโมกข์นะครับ ที่ให้พื้นที่ที่เรามาพูดคุยกันอะไรอย่างนี้นะครับ
นพ. บัญชา : อาจารย์ ว.วชิรเมธี เป็นลำดับถัดไปครับ
พระมหาไพรวัลย์ : เยี่ยมมากเลยครับอาจารย์ เยี่ยมมากเลย พูดอีกครั้งหนึ่ง อีกรอบหนึ่งนะครับ ว่าเราสามารถมีอาจารย์คนเดียวกันได้โดยที่เราไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกันนะครับ แล้วก็อาจารย์พุทธทาสควรเป็นอาจารย์ของทุกคนครับ ขอบคุณมากครับ
เวลา : ครับ จบลงแบบสวย ๆ นะครับ ขอบคุณกราบนิมนต์พระอาจารย์ กราบลาพระอาจารย์ไพรวัลย์นะครับ แล้วก็สำหรับท่านใดนะครับ รายการเด็กสวน(โมกข์) ของเราจะพบกันอีกครั้ง วันอังคารที่ 19 ตุลาคมครับ ซึ่งเราจะเชิญ ท่าน ว.วชิรเมธี มาร่วมสนทนากันในประเด็นการเยี่ยมสวนโมกข์นี้ล่ะครับ โดยจะพบกันเวลา 1 ทุ่ม - 2 ทุ่มครึ่ง ครับ
ถ้าท่านใดที่สนใจแล้วก็ มาแลกเปลี่ยนมาร่วมสนทนากัน ก็เชิญได้ในวันนั้นนะครับ แล้วก็ขอเชิญท่านไพรวัลย์ล่วงหน้าด้วย เผื่อจะมาอยากร่วมสนทนาในวันนั้นนะครับ ก็วันนี้ก็ขอ คงต้องลาทุกท่านไปแล้วนะครับ กราบลาพระอาจารย์ไพรวัลย์ แล้วก็สวัสดีคุณหมอนะครับ ขอบคุณคุณหมอมากนะครับ ครับ แล้วพบกันใหม่ครับ แล้วก็อย่าลืมไปติดตามเสียงธรรมอาจารย์พุทธทาสนะครับ เวลา 3 ทุ่ม คืนนี้ครับ ขอบคุณครับ