แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ต้นสาละที่ท่านเห็นอยู่นี้นอกจากจะปลูกเพื่อสร้างความรื่นรมย์ให้กับบริเวณลานหินโค้งนี้แล้ว ยังต้องการเชิญชวนให้ระลึกนึกถึงย้อนไปครั้งที่เจ้าชายสิทธัตถะได้ประสูติใต้ต้นสาละอินเดียที่ลุมพินี ซึ่งอยู่ในระหว่างทางของเมืองเทวทหะและกบิลพัสดุ์ ปัจจุบันอยู่ในประเทศเนปาล แต่ต้นสาละในบริเวณนี้ได้ปลูกไว้จำนวน ๖ ต้นเป็นคนละสายพันธุ์กับต้นสาละอินเดีย เรียกว่า “สาละลังกา” หรือลูกปืนใหญ่ (Cannon Ball Tree) ปลูกขึ้นง่ายในภูมิอากาศประเทศไทย ผิดกับต้นสาละอินเดียซึ่งเป็นตระกูลต้นรังซึ่งเจริญเติบโตได้ยากในประเทศไทย โดยทางหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ได้เคยปลูกไว้ตรงบริเวณด้านข้างสโมสรธรรมทานเมื่อประมาณปี ๒๕๕๓ แต่ตายไปแล้ว รวมเป็นอันว่าครั้งหนึ่งในอาณาบริเวณนี้เคยมีต้นสาละรวมอยู่ ๗ ต้น จึงจะขอชักชวนทุกท่านให้น้อมรำลึกนึกถึงองค์ธรรมที่เรียกว่า "โพชฌงค์" ซึ่งมีองค์ประกอบด้วยกัน ๗ ประการ
คำว่าโพชฌงค์เป็นคำที่เรียกรวมกันของคำว่า "โพธิ" รวมกับคำว่า "องค์" นะครับ โพชฌงค์จึงเป็นองค์ธรรมที่เกื้อหนุนในการเจริญสมาธิ และเป็นที่ใช้สมาธิเพื่อประโยชน์ที่สูงขึ้นไปจนบรรลุจุดหมายสูงสุด คือวิชชาและวิมุตติ หรือตรัสรู้ องค์ประกอบทั้ง ๗ ประการ ได้แก่ ๑. สติ ๒. ธรรมวิจัย ๓. วิริยะ ๔. ปีติ ๕. ปัสสัทธิ ๖. สมาธิ ๗. อุเบกขา ครับ
สติ คือความระลึกได้ ความสามารถทวนระลึกนึกถึง หรือกุมจิตไว้กับสิ่งที่จะฟัง สิ่งที่เกี่ยวข้องหรือต้อง
ใช้ต้องทำในเวลานั้น ในโพชฌงค์นี้คำว่า "สติ" มีความหมายคลุมตั้งแต่การมีสติกำกับตัว ใจอยู่กับสิ่งที่กำลังกำหนด พิจารณาเฉพาะหน้า จนถึงการหวนระลึก รวบรวมเอาธรรมที่ได้สดับเล่าเรียนมาแล้ว หรือสิ่งที่พึงเกี่ยวข้อง ต้องใช้ต้องทำ มานำเสนอต่อปัญญาที่ตรวจตรองพิจารณา
ธรรมวิจัย คือ ความเฟ้นธรรม หมายถึงการใช้ปัญญาสอบสวนพิจารณาสิ่งที่สติกำหนดไว้ หรือธรรมที่สติระลึกรวมมานำเสนอนั้นตามสภาวะครับ เช่น ได้ไตร่ตรองให้เข้าใจความหมาย จับแก่นสาระของสิ่งที่พิจารณานั้นได้ ตรวจตราเลือกเฟ้นเอาธรรม หรือสิ่งที่เกื้อกูลชีวิตจิตใจ หรือสิ่งที่ใช้ได้เหมาะที่ดีที่สุดในกรณี นั้น ๆ
หรือมองเห็นอาการสิ่งที่พิจารณานั้นเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปได้ เข้าใจตามสภาวะที่เป็นไตรลักษณ์นั้น จนปัญญานั้นมองเห็นอริยสัจทั้งสี่คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
วิริยะ คือความเพียร หมายถึงความแกล้วกล้า เข้มแข็ง กระตือรือร้นในธรรมหรือสิ่งที่ปัญญาเฟ้นได้
เป็นสิ่งที่ต่อเนื่องจากธรรมวิจัย เป็นความอาจหาญในความดีข้อนั้น เกิดมีกำลังใจ สู้กิจที่เป็นอยู่ บากบั่น ทำต่อเนื่องไม่หยุดอยู่กับที่ รุดไปข้างหน้าเสมอ ๆ เป็นการยกจิตไว้ ไม่หดหู่ ถดถอยหรือท้อแท้ครับ
ปีติ คือความอิ่มใจ หมายถึงความอิ่มเอิบ ปลาบปลื้ม ปรีดิ์เปรม ดื่มด่ำ ซาบซึ้งกับความวิริยะนั้น
ซึ่งเป็นความซาบซ่านที่เกิดขึ้นแก่จิต เป็นเรื่องของใจ เรียกว่า ฟูใจ
ปัสสัทธิ คือความสงบกายใจ หมายถึงความผ่อนกายใจ สงบระงับแล้ว เรียบเย็นจากความนั้น ๆ
ไม่เครียดจากสิ่งนั้น ทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นกับกายและใจ และไม่กระสับกระส่าย เป็นความเบาสบาย
สมาธิ คือความมีใจตั้งมั่น หมายถึงความมีอารมณ์หนึ่งเดียว ไม่มีอารมณ์อื่นแทรกแซง จิตแน่วแน่และต่อเนื่องในสิ่งที่กำหนด ทรงตัวในสมาธิที่เกิดขึ้น สม่ำเสมอสำเหนียกตัวเรื่อย ๆ เดินเรียบไปกับทุกสิ่งได้ อยู่กับจิตไม่วอกแวกไปทางอื่น ไม่ส่ายไปส่ายมา ไม่ฟุ้งซ่าน
อุเบกขา คือความวางทีเฉยดู หมายถึง ความมีใจเป็นกลาง สามารถวางทีเฉย เรียบนิ่งดูไป ในเมื่อจิต แน่วแน่อยู่กับงานแล้ว และสิ่งต่าง ๆ ดำเนินไปด้วยดีตามแนวทางที่จัดวางไว้ หรือที่มันควรจะเป็น ไม่สอดแส่ ไม่แทรกแซง
ท่านพุทธทาสได้เคยกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างโพชฌงค์ ๗ กับอริยมรรคมีองค์ ๘ ไว้ได้อย่างน่าสนใจ จึงขอเชิญชวนให้ท่านผู้ที่สนใจลองศึกษาเพิ่มเติมได้จากหนังสือ “โพธิปักขิยธรรม” โดยพุทธทาส อินทปัญโญ นะครับ