แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ขณะนี้เราอยู่ที่บริเวณริมสระน้ำนะคะ ขอเชิญชวนท่านมองไปที่ต้นมะพร้าวซึ่งอยู่บนเกาะกลางสระน้ำ เราจะมาเรียนรู้ปริศนาธรรมจากสระน้ำและมะพร้าวกันนะคะ มะพร้าวต้นนี้เป็นมะพร้าวพันธุ์โบราณชื่อว่า “นาฬิเกร์” ปรากฏอยู่ในเนื้อเพลงกล่อมเด็กภาคใต้ในสมัยโบราณค่ะ เป็นปริศนาธรรมที่สอดแทรกธรรมะขั้นสูงเอาไว้ สะท้อนให้เห็นว่าบรรพบุรุษของเราได้สอนธรรมะให้กับลูกหลานตั้งแต่ยังแบเบาะ ท่านพุทธทาสจึงนำเรื่องมะพร้าวนาฬิเกร์ มาใช้สอนธรรมะให้แก่ผู้คนทั่วไปได้เรียนรู้ และเข้าใจเรื่องนิพพานอีกวิถีทางหนึ่งค่ะลองมาฟังเพลงกล่อมเด็กภาคใต้โบราณ แบบสำเนียงชาวใต้ นะคะ
"เออ...น้องเอย มะพร้าวนาฬิเกร์ ต้นเดียวโนเน กลางเลขี้ผึ้ง ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง กลางเลขี้ผึ้ง ถึงได้แต่ผู้พ้นบุญเอย"
จากเนื้อเพลงนี้ มาถอดรหัสความหมายธรรม ดังนี้ค่ะ
เนื้อร้องวรรคแรกที่ว่า “มะพร้าวนาฬิเกร์ ต้นเดียวโนเน” เปรียบเสมือนพระนิพพานค่ะ ที่มีลักษณะเป็นหนึ่งเดียว ไม่เป็นของคู่คือ ไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ ไม่มีบุญ ไม่มีบาป
ส่วนคำว่า “กลางเลขึ้ผึ้ง” คำว่า “เล” ภาษาใต้หมายถึงทะเล ในที่นี้เปรียบดังทะเลขี้ผึ้งอันหนืดเหนียว เมื่อร้อนก็จะละลาย เมื่อเย็นก็จะแข็ง ซึ่งเปรียบได้กับสังสารวัฏที่เราเวียนว่ายตายเกิดกันอยู่นะคะ นิพพานซึ่งเป็นสภาวะจิตพ้นทุกข์นั้น ไม่ได้อยู่ที่ไหนไกลเลย อยู่ท่ามกลางสังสารวัฏที่เราอยู่นี่เอง เช่น ความสุข ความทุกข์ ความพอใจ ความไม่พอใจ เป็นต้น
ถัดไปได้แก่คำว่า “ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง” หมายถึง สภาวะจิตนิพพานนั้น เมื่อมีอารมณ์อะไรมากระทบ ไม่ว่าจะเป็นความดี ความชั่ว บุญ หรือบาป ก็ไม่ทำให้สะทกสะท้านหรือไหวเอนไปตามสิ่งเหล่านั้นเลยค่ะ และ
วรรคสุดท้ายคำว่า “กลางเลขี้ผึ้ง ถึงได้แต่ผู้พ้นบุญเอย” หมายถึง ชีวิตเราอยู่ท่ามกลางความสุข และความทุกข์ แต่เราสามารถจะปฏิบัติจิตให้เข้าถึงพระนิพพานได้ค่ะ โดยทำบุญหรือทำความดี เสมือนเป็นพาหนะนำพาไปสู่ฝั่งนิพพาน แต่เมื่อไปถึงฝั่งแล้ว ก็ไม่ยึดติดบุญหรือความดีนั้น จิตจึงว่าง บริสุทธิ์อย่างแท้จริง จิตที่เข้าสู่สภาวะนิพพานนั้น จึงอยู่เหนือบุญเหนือความดีคือ พ้นบุญนั่นเองค่ะ