แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ป้ายสัญลักษณ์หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ที่ท่านเห็นอยู่นี้ มีส่วนประกอบสามส่วนด้วยกันคือ
ส่วนแรกคือคำว่า “พุทธทาส อินทปัญโญ” เป็นลายมือการลงนามหรือลายเซ็นต์ของท่านพุทธทาส คำว่าพุทธทาส หมายถึง ทาสผู้รับใช้ และเผยแผ่คำสอนพระพุทธเจ้า ซึ่งท่านพุทธทาสปวารณาตนเป็นทาสผู้รับใช้พระพุทธเจ้า จึงตั้งชื่อนี้ขึ้นด้วยตนเอง ส่วนคำว่า “อินทปัญโญ” เป็นฉายาตั้งแต่ท่านอุปสมบท แปลว่า ผู้มีปัญญาอันยิ่งใหญ่
ส่วนที่สองได้แก่กรอบสี่เหลี่ยมสีน้ำตาลเข้มรองพื้นด้านหลังของคำว่าพุทธทาส อินทปัญโญ ภายในกรอบท่านจะเห็นอักษรจีนอ่านว่า “ฮุก ส่าย ปี คิว” แปลว่า ทาสของพระพุทธเจ้า กรอบดังกล่าวคือตราประทับที่สหายธรรมชาวจีนของท่านเป็นผู้เขียนให้ และ
ส่วนสุดท้ายได้แก่อักษรภาษาอังกฤษที่อยู่ด้านล่าง เป็นชื่อภาษาอังกฤษของหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ คือคำว่า Buddhadasa Indapanno Archives หรือ เรียกคำย่อว่า “BIA”
สถานที่แห่งนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “สวนโมกข์กรุงเทพ” เราจะขอเชิญชวนท่านที่มาเยี่ยมเยือนในวันนี้ น้อมจิตรำลึกถึงท่านพุทธทาสที่ฝากมรดกธรรม ที่สำคัญอย่างยิ่งคือปณิธาน ๓ ประการ ได้แก่
๑. การเข้าถึงหัวใจศาสนาที่ตนนับถือ เช่น ผู้ที่นับถือพุทธศาสนา ต้องรู้ว่าหัวใจสำคัญของพุทธศาสนาคืออะไร สำหรับผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ ก็ต้องรู้ว่าหัวใจของศาสนาคริสต์คืออะไร เป็นต้น
๒. การทำความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา หมายถึงการให้ศาสนิกชนของแต่ละศาสนา ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน เพื่อการอยู่ร่วมอย่างสันติสุข เพราะทุกศาสนามุ่งสอนให้ละการเห็นแก่ตัว และ
๓.การออกจากอำนาจแห่งวัตถุนิยม หมายถึง การไม่หลงเป็นทาสของวัตถุ กำหนดให้การใช้วัตถุสิ่งของ เครื่องใช้ไม้สอย เพื่ออำนวยความสะดวกตามความจำเป็นในการดำรงชีวิตด้วยกำลังสติปัญญา ไม่ใช่ด้วยกำลังอำนาจของกิเลส
ท่านพุทธทาสมุ่งเน้นให้ทุกคนได้เรียนรู้ และปฏิบัติตน เพื่อให้เข้าถึงความว่างจากกิเลส ว่างจากตัวตน กำจัดให้ "ตัวกู ของกู" หมดสิ้นไปจนหลุดพ้นจากความทุกข์ในที่สุด เราทุกคนเป็นพุทธทาสได้ โดยทำหน้าที่ศึกษาหลักธรรมคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้บัญญัติไว้ และปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่น โดยทำให้ดู อยู่ให้เห็น เย็นให้สัมผัส จนผู้อื่นศรัทธาและปฏิบัติตาม เพื่อเข้าถึงวิถีของสวนโมกข์ คือ “สงบเย็น เป็นประโยชน์” ทั้งต่อตนเอง และผู้อื่น ทุก ๆ คนจึงเสมือนมีสวนโมกข์อยู่ในตัวเองได้ในทุก ๆ สถานที่ ดังคำกล่าวที่ว่า “สวนโมกข์ทุกที่ พุทธทาสทุกคน”