แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ภาพนี้แสดงเหตุการณ์หลังจากที่ถวายเพลิงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ที่เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ เหล่ากองทัพของกษัตริย์ต่างนครยกทัพมา บังคับให้มัลละกษัตริย์แบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้นครแห่งตน
ตรงกลางภาพจะเป็นประตูเมือง หอรบเชิงเทินของเมืองกุสินารา จะเห็นว่ามีคนประจำอยู่ตามช่อง คนข้างนอกยิงเข้าไป คนข้างในยิงออกมาด้วยลูกศร ภาพถัดจากหอรบเชิงเทินออกไปทางซ้ายมือและขวามือของภาพนั้นก็มีลักษณะทำนองเดียวกัน ขอให้ท่านดูแบบแบ่งตัดออกเป็นสองครึ่ง คือครึ่งบนและครึ่งล่างนะคะ
ครึ่งล่างเป็นภาพของกองทัพที่กำลังยกเข้ามารบ มีพลช้าง พลม้า พลรถ และพลเดินเท้า ซึ่งถือศร หอก และโล่ ที่ท้ายขบวนมีธงซึ่งยอดธงมีเครื่องหมายตรีรตนะ
ส่วนทางครึ่งบนนั้นเป็นภาพกองทัพของนครต่าง ๆ ตอนที่ได้รับแบ่งพระบรมสารีริกธาตุแล้ว ใส่ผอบวางเหนือศีรษะช้างพาไป เหนือผอบนั้นมีฉัตรกั้นอยู่และมีธงซึ่งยอดธงมีเครื่องหมายตรีรตนะ อยู่ท้ายขบวนเช่นเดียวกัน
ตรงกลางนั้นมีภาพคน ๆ หนึ่งปรากฏอยู่ในซุ้มจั่วหน้ามุข นั่นคือ “โทณพราหมณ์” เป็นการแสดงภาพตอนที่แสดงบทบาทการปรองดอง อย่าศึกแย่งพระธาตุจากนครต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ต้องรบกัน โดยยอมแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้แก่ทุกเมือง ซึ่ง “โทณพราหมณ์” ได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุเป็น ๘ ส่วน เมืองต่าง ๆ ได้รับแบ่ง ได้แก่ มคธ เวสาลี อัลลกัปปะ เวฏฐทีปะ กบิลพัสดุ์ รามคาม และปาวา อีกหนึ่งส่วนเก็บไว้ที่กุสินารา
ขอเพิ่มเติมเกร็ดเล็ก ๆ เกี่ยวกับพระบรมสารีริกธาตุสักหน่อยนะคะ เริ่มจากปีพุทธศักราช ๒๔๔๑ มีนักโบราณคดีชาวอังกฤษสองท่านคือ W.C. Peppe และ V.A. Smith ได้ขุดแต่งสถูป ปิปราหวะ ซึ่งเป็นชื่อหมู่บ้านในเขตชายแดนอินเดียติดกับเนปาล คาดว่าแต่เดิมสมัยพุทธกาลพื้นที่บริเวณนี้อยู่ในการปกครองของราชวงศ์ศากยะมาก่อน
การขุดแต่งสถูปดังกล่าวได้พบหีบศิลาใบหนึ่งบริเวณกลางสถูป ภายในหีบดังกล่าวมีผอบหินสบู่ และเครื่องอุทิศเป็นของมีค่าจำนวนมาก บนฝาผอบนั้นมีจารึกอักษรพราหมี แปลเป็นความหมายได้ว่า “นี่เป็นส่วนพระสรีระของพระพุทธเจ้า พระผู้มีพระภาคแห่งราชวงศ์ศากยะ โดยสุกิติ พี่น้อง พร้อมด้วยภคินีและบุตร” จึงมีการตั้งข้อสันนิษฐานว่าสถูปปิปราหวะนี้อาจเป็นสถูปที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่ราชวงศ์ศากยะแห่งเมืองกบิลพัสดุ์ได้รับแบ่งมาจากเมืองกุสินาราตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนะคะ
ข่าวการขุดค้นพบพระบรมสารีริกธาตุในครั้งนั้น ได้รับความสนใจจากพุทธศาสนิกชนทั่วโลก กระทั่ง พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ขณะที่ทรงบวชอยู่ในประเทศลังกาได้เสด็จไปชมสถูปดังกล่าว หลังจากนั้นจึงได้มีการดำเนินการทางการทูตกับอินเดีย ซึ่งขณะนั้นอยู่ใต้อำนาจการปกครองของอังกฤษ จนในที่สุดรัฐบาลอังกฤษก็ได้ถวายพระบรมสารีริกธาตุบางส่วนให้กับประเทศไทย ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุขุมนัยวินิจ (ปั้น สุขุม) เดินทางไปเพื่ออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมายังกรุงเทพฯ เมื่อได้รับมาแล้วพระองค์ทรงให้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนหนึ่งไว้บนพระบรมบรรพต หรือที่เราเรียกกันว่าภูเขาทองวัดสระเกศนั่นเองค่ะ
อีกส่วนหนึ่งได้ทรงแบ่งพระราชทานให้แก่ประเทศที่นับถือพุทธศาสนา ได้แก่ ลังกา พม่า และญี่ปุ่น จึงขอเชิญชวนชาวพุทธไปกราบนมัสการกันนะคะ