แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ภาพนี้แสดงเหตุการณ์ตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะออกบวชแบบต่อเนื่องจากซ้ายไปขวานะคะ ภาพตอนแรกจะเห็นว่ามีม้าที่ชื่อว่า “กัณฐกะ” กำลังออกจากประตูชั้นนอกของเมืองกบิลพัสดุ์ มีเทวดากำลังยกม้าขึ้นแบกบนบ่า ตรงหัวม้ามีคนถือฉัตรเตรียมพร้อมสำหรับคอยกั้นคนที่นั่งบนหลังม้า ทางในเมืองหรือประตูเมืองชั้นในนั้นมีคนเฝ้ามองอยู่เป็นอันมากจากเฉลียงเรือนหรือเชิงเทิน มีคนจำนวนหนึ่งตามขบวนออกมา และมีคนอีกส่วนหนึ่งกำลังใช้หม้อขนน้ำมารดที่ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ต้นหนึ่ง มีใบคล้ายต้นโพธิ์ และอยู่ในคอกสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ดูคล้ายกับเป็นการทำพิธีอะไรสักอย่างหนึ่ง เนื่องในการออกบวชนั้นเอง
ต่อมาให้สังเกตไปที่ภาพม้าตัวที่สองนะคะ มีเทวดาแบกกันเต็มที่และอยู่ในลักษณะที่เจ้าชายสิทธัตถะขึ้นประทับนั่งบนหลังม้าเรียบร้อยแล้ว เพราะมีฉัตรกั้นอยู่เป็นเครื่องหมาย “ความว่างใต้ฉัตรนั่นแหละค่ะเป็นสัญลักษณ์แทนเจ้าชายสิทธัตถะ”
แล้วม้าที่มีเทวดาแบกก็พาเจ้าชายสิทธัตถะออกไปเรื่อย ๆ เป็นภาพต่อเนื่องนะคะ จนไปถึงมุมขวามือ อันเป็นจุดหมายปลายทางเทวดาก็วางม้าลง จะสังเกตเห็นว่ามีฉัตรไปกั้นที่รอยพระบาทสองรอย
อันเป็นเครื่องหมายแทนเจ้าชายสิทธัตถะที่ไปถึงจุดที่หมายแล้ว ที่ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา บริเวณป่ามะม่วงอนุปิยอัมพวัน ใกล้กรุงราชคฤห์
ส่วนม้าตัวล่างที่หันหน้ากลับนั้น เป็นม้ากลับเมืองกับ “นายฉันนะ” คือคนที่ยืนอยู่หน้าม้า ม้าไม่มีใครแบกและไม่มีฉัตรกั้นอีกต่อไป และม้า “กัณฐกะ” โศกเศร้าอย่างที่สุดถึงสิ้นใจตายดังที่กล่าวไว้ในเรื่องอันเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วนะคะ
ท่านพุทธทาสได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่า สิ่งต่าง ๆ ทั้งหมดในภาพนี้ แสดงให้เห็นไปในทำนองว่าการออกบวชนั้น ออกไปในเวลาที่มีผู้คนเห็น ๆ กันอยู่ และเป็นการฝืนความประสงค์ของพระมารดาพระบิดา ซึ่งตรงกับคำกล่าวไว้ในบาลีพุทธภาษิต แต่แตกต่างจากที่เรารู้กันโดยทั่วไปว่าการออกบวชครั้งนั้นว่าออกไปอย่างลอบหนีในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นกล่าวไว้ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาและหนังสือชั้นหลังนะคะ