แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ภาพนี้เป็นภาพการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ มีกษัตริย์นครหนึ่งได้รับส่วนแบ่งมาและมาถึงนครของตนแล้ว เป็นภาพแสดงแบบต่อเนื่อง ๔ ตอน ดังนี้นะคะ
ตอนแรกตรงกลาง จะเห็นภาพบุคคลซึ่งมีนาค ๗ เศียรบนศีรษะคือกษัตริย์ผู้ชาย เป็นผู้นำผอบพระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับแบ่งมา ดังที่ปรากฏอยู่บนบัลลังก์ตรงหน้านะคะ
ตอนที่สอง ให้ท่านมองดูทางขวามือริมสุดเคียงข้างบัลลังก์ จะเห็นภาพพระราชินีแห่งนครนั้น แสดงอาการกำลังยินดีปรีดามากจนถึงขนาดจะเป็นลมต้องเกาะผู้อื่นไว้ซึ่งเป็นกษัตริย์ด้วยกัน โดยสังเกตจากที่มีเศียรนาคปรากฏอยู่บนศีรษะคนละเศียรทุกคนเหมือนกันนะคะ
ตอนที่สาม ให้ท่านมองดูมาทางซ้ายมือริมสุดทางด้านตรงข้ามอีกฝั่งหนึ่งนะคะ จะเห็นพระราชินีคนเดิมอีกนั่นเอง ซึ่งเมื่อหลังจากหายเป็นลมด้วยความปีติแล้ว ก็รับพวงมาลาจากผู้รับใช้มาทำการบูชาพระบรมสารีริกธาตุนั้น
และตอนสุดท้าย ให้ท่านมองดูทางด้านล่างตรงหน้าบัลลังก์ ก็จะเห็นพระราชินีคนเดียวกันอีกนั่นเอง กำลังทำการเคารพอภิวาทด้วยท่าทางต่อเนื่องกัน ตามแบบฉบับของชาวอินเดียสมัยนั้นนะคะ
ท่านพุทธทาสให้ข้อสังเกตไว้ว่า ภาพนี้เป็นศิลปกรรมอมราวดี ซึ่งอยู่ทางอินเดียตอนใต้ เป็นศิลปกรรมของพวกที่บูชานาคเป็นของสูง จึงเอาสัญลักษณ์นาคนั้นมาใช้แก่กษัตริย์ทั่วไปเพื่อความยิ่งใหญ่หรือสง่าราศี
นอกจากนี้ท่านพุทธทาสยังแนะนำว่า อาจจะศึกษาสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมของอินเดียใต้จากภาพนี้ได้ไม่น้อยเลย เช่น ท่าทางของการบูชาในอิริยาบถต่าง ๆ เครื่องแต่งกายและภาชนะเครื่องใช้สอย ฉัตรและบัลลังก์รูปร่างประหลาด ตลอดจนถึงลวดลายต่างๆ ของแบบนั้นๆ กระทั่งลายกลีบบัวที่อยู่วงขอบ เป็นต้น ล้วนแต่น่าสนใจ จึงขอเชิญชวนศึกษาต่อกันดูนะคะ