แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ภาพที่ท่านเห็นอยู่นี้ที่แสดงถึงช่วงพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพาน ที่เมืองกุสินาราแคว้นมัลละ เรามาดูความหมายของภาพนี้กันเลยนะคะ
ในเบื้องต้นท่านจะเห็นครึ่งบนของภาพเป็นสถูปรูปบาตรคว่ำ หรือมะนาวตัดครึ่งคือสัญลักษณ์แทนพระพุทธองค์ สถูปนี้ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณ ๓ ชั้น ข้างบนยอดมีแท่นสี่เหลี่ยม มีฉัตรปักอยู่ ๓ คัน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประกอบสำหรับบุคคลชั้นสูงเป็นที่เคารพบูชา ฉัตรแต่ละคันมีมาลัยแขวน ห้อยแผ่นผ้าหรือแผ่นธง ๒ ข้าง และมีเทวดาแบบกินนรขนาบ ๒ ข้าง ถือพวงมาลัยนำมาถวายความเคารพพระพุทธองค์ค่ะ
คราวนี้เรามาดูครึ่งล่างของภาพกันบ้างนะคะ ในภาพท่านจะเห็นหมู่คนซ้อนกัน ๒ แถว จะเห็นได้ว่าที่ตรงกึ่งกลางของคนแถวบน มีคนอยู่คนหนึ่งกำลังไหว้อยู่อย่างแหงนหน้า คาดว่าจะเป็นมัลลกษัตริย์แห่งนครกุสินาราอันเป็นเมืองที่พระพุทธองค์เสด็จปรินิพพาน นอกนั้นเป็นญาติหรือบริวาร ถือเครื่องสักการะบ้าง พนมมือบ้าง ส่วนคนริมขวาสุดนั้นถือธงแผ่นผืนผ้ายาว ซึ่งจัดเป็นเครื่องสักการะด้วยเหมือนกัน
ส่วนแถวล่างนั้นนะคะ เป็นชาวประโคมล้วน มีเครื่องดนตรีต่าง ๆ กัน สองคนริมซ้ายสุด เป่าปี่หรือแตรซึ่งทางปากเป็นรูปงู คนที่สามเป่าเครื่องเป่าชนิดหนึ่งซึ่งประกอบด้วยเลาสองเลา คนที่สี่และที่ห้าตีเครื่องตีประเภทกลอง ส่วนคนที่หกและที่เจ็ดตีเครื่องตีรูปร่างแบน ๆ และที่ต้องสังเกตอีกอย่างหนึ่ง คือที่เท้าของนักดนตรีเหล่านั้น มีผ้าพันแข้ง มีเชือกพันทับอย่างหยาบ ๆ ด้วย คงจะเป็นการแต่งตัวเต็มยศ หรือสุภาพหรือเป็นการแสดงความเคารพนั่นเองค่ะ
พระสถูปแบบนี้เองที่ค่อยวัฒนาการมาเป็นสถูปแบบลังกา จนกระทั่งมาสู่ประเทศไทย มีตัวอย่างที่เรารู้จักกันทั่วไปอย่างเช่น พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม หรือพระบรมธาตุเจดีย์ จังหวัดนครศรีธรรมราชค่ะ
หลังจากชมภาพนี้แล้ว ขอเชิญชวนท่านดูภาพถัดไปด้านขวามือเลยนะคะ ถือเป็นภาพแสดงถึงช่วงพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพาน เช่นเดียวกันค่ะ