แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ภาพนี้เป็นภาพแสดงเหตุการณ์ตอนที่พระพุทธองค์ทรงโปรดช้างนาฬาคีรีจนหมดพยศ บริเวณขอบด้านขวาของภาพจะเห็นเสาที่ล้อมรอบด้วยเปลวไฟประดับยอดด้วยตรีรตนะตั้งอยู่บนรอยพระบาท สัญลักษณ์เหล่านี้ล้วนหมายถึงพระพุทธเจ้า
ที่มาของเรื่องมีอยู่ว่าเมื่อพระเทวทัตมีความแค้นเคืองต่อพระพุทธองค์ที่ไม่ทรงยินยอมให้ตนเป็นประมุขปกครองหมู่สงฆ์ จึงคิดจะปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า ครั้งหนึ่งจึงได้สมคบกับพระเจ้าอาชาตศัตรูให้ควาญช้างกรอกเหล้าแก่ช้างนาฬาคีรีอันเป็นช้างทรงของพระเจ้าอาชาตศัตรู เพื่อที่จะให้ช้างนั้นเมามายจนคุ้มคลั่ง มีความดุร้าย แล้วปล่อยให้วิ่งตรงไปยังพระพุทธองค์หมายจะให้ทำร้าย ในขณะที่ทรงออกบิณฑบาตพร้อมพระอานนท์และเหล่าภิกษุสงฆ์สาวกในเมืองราชคฤห์
ในภาพจะเห็นอากัปกริยาของพญาช้างนาฬาคีรีกำลังทำร้ายผู้คน โดยแสดงเป็นภาพต่อเนื่อง ในขณะนั้นเองมีทารกน้อยคนหนึ่งได้พลัดหลงกับมารดาส่งเสียงร้องไห้ด้วยความตกใจกลัว พญาช้างนาฬาคิรีได้ยินเสียงร้องนั้น จึงวิ่งหันตรงไปที่ทารกน้อยหมายเข้าทำร้าย พระพุทธองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นจึงได้ทรงเปล่งพระสุรเสียงอันไพเราะอันเปี่ยมไปด้วยพระมหากรุณาไปยังพญาช้าง ทำให้พญาช้างเบี่ยงความสนใจจากทารกแล้วตรงมาที่พระพุทธองค์ตามทิศของพระสุรเสียงนั้นแทน พระอานนท์เกรงว่าภัยจะมาถึงพระพุทธองค์ จึงรีบออกไปยืนเบื้องหน้าหมายจะสกัดพญาช้างนาฬาคิรีที่อยู่ในอาการตกมันไว้โดยไม่คำนึงถึงชีวิตของตน พระพุทธองค์ทรงตรัสห้ามพระอานนท์ให้ถอยหนี พระอานนท์ก็มิได้หลบหนีไปทางไหน ยังคงยืนประทับเบื้องหน้าพระพุทธองค์อยู่อย่างนั้น ดังเห็นในภาพมีสมณะรูปหนึ่งยืนชิดกับพระพุทธองค์ซึ่งแทนด้วยเสาที่ล้อมด้วยไฟตามที่กล่าวแล้ว สมณะรูปนั้นคือพระอานนท์
แต่ด้วยพุทธานุภาพและพระเมตตาของพระพุทธองค์ พญาช้างจึงให้คืนสติสงบลง อาการดุร้าย มึนเมาก็มลายหายไปสิ้น จากที่วิ่งหมายจะทำร้ายกลับกลายเป็นค่อยเยื้องย่างเข้ามาหมอบลงถวายความเคารพแทบพระยุคลบาทดังปรากฏในภาพ ในครั้งนั้นพระพุทธองค์ทรงโปรดประทานโอวาทแก่พญาช้าง ให้หยุดกระทำปาณาติบาตละเลิกความโกรธ มีเมตตา จิตสร้างบุญกุศลไม่คิดเบียดเบียน หลังจากนั้นพญาช้างนาฬาคิรีจึงเดินกลับไปในที่แห่งตน