แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ภาพนี้ต่อเนื่องมาจากภาพซ้ายมือนะคะ ภาพแบ่งเป็น ๒ ตอนเช่นเดียวกัน
ภาพในกรอบด้านบนคือภาพเดียวกับภาพในกรอบด้านล่างของภาพซ้ายมือนะคะ หลังจากพระนางสิริมหามายาทรงตั้งพระครรภ์ใกล้จะครบกำหนดมีพระประสูติการแล้ว ตามธรรมเนียมโบราณพระนางจะต้องเสด็จพระราชดำเนินไปยังเมืองแห่งตนคือนครเทวทหะ แต่เมื่อเสด็จไประหว่างทางจึงเกิดมีพระประสูติการเสียก่อน ณ สวนลุมพินี
ส่วนภาพในกรอบด้านล่างเป็นภาพขบวนของกษัตริย์พระบิดา ออกไปรับพระกุมารประสูติใหม่ จากสวนลุมพินีกลับนครกบิลพัสดุ์ ด้านล่างของภาพท่านจะเห็นขบวนกำลังออกประตูเมือง มีประชาชนดูขบวนอยู่ตามเฉลียงเรือนหรือบนเชิงเทินที่ประตูเมือง เป็นต้น ขบวนประกอบด้วยกำลังสี่เหล่าคือเหล่าช้าง เหล่าม้า เหล่ารถ และเหล่าราบหรือพลเดินเท้า เรียกว่า “จตุรงคินีเสนา” ที่หัวขบวนมีกองดุริยางค์นำหน้าเป็นเครื่องเป่าอย่างหนึ่ง ช้างเหล่านั้นน่าจะเป็นช้างรบ คงมิใช่ช้างทรงของกษัตริย์จึงไม่มีเครื่องคลุมหรือเครื่องประดับใด ๆ คนที่ขี่ช้างขี่ม้าอยู่ในชั้นที่เป็นนักรบหรือพวกกษัตริย์จึงมีเครื่องประดับศีรษะชั้นสูง ในภาพนี้รถมีม้าลากสองตัว มีกษัตริย์หรือผู้แทนกษัตริย์ประทับ สังเกตได้จากตรงที่มีฉัตรกั้นมีมาลาแขวน ฉัตรใช้เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกสถานภาพของบุคคลที่ควรเคารพอย่างสูง เช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ราชา มหากษัตริย์ เป็นต้น ลักษณะฉัตรของอินเดียจะมีลักษณะเหมือนร่มตามธรรมดาแบบที่เห็นในภาพนี้นะคะ ต่างจากฉัตรของไทยที่เป็นชั้น ๆ หลายชั้น ส่วนคำว่าฉัตรนี้ แปลว่าเห็ดก็ได้อีกด้วยนะคะ
คราวนี้ขอให้ท่านดูภาพธงที่ริมบนสุดตรงกลางภาพ ลักษณะของธงเป็นแผ่นผ้ายาว ทางหัวด้านหนึ่งติดไม้ยาวเท่าความกว้างของผ้า แล้วยึดไม้อันนั้นไว้ด้วยไม้อีกสองอันที่ยื่นออกมาจากคันธงโดยตรง เรียกว่า “ปฏาก” และให้สังเกตที่ยอดคันธงมีเครื่องหมาย “ตรีรัตนะ” อันเป็นสัญลักษณ์ของพุทธศาสนาติดอยู่ หากท่านพบสัญลักษณ์นี้ในที่ใดแล้ว ให้พึงนึกถึงว่าเป็นตัวแทนของพุทธศาสนาหรือพระพุทธองค์นะคะ