แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ภาพนี้แสดงถึงปฐมบทแห่งการประสูติ ภาพแบ่งเป็น ๒ ตอนนะคะ
เริ่มจากภาพในกรอบด้านบนจะเห็นภาพเทวดาประชุมกัน แล้วเข้าไปทูลเชิญพระโพธิสัตว์ให้จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต ลงมาบังเกิดเป็นพระพุทธเจ้าในมนุษย์โลก ท่านจะเห็นแท่นว่างรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า นั่นแหละคะคือสัญลักษณ์แทนพระพุทธองค์ ตรงที่มีต้นโพธิ์อยู่ข้างบน มีพวงมาลาแขวนตามกิ่ง มีฉัตรกั้นอยู่ข้างบน มีเทวดาแบบมาตรฐานโดยเฉพาะขนาบสองข้าง ลักษณะเช่นนี้จะพบเหมือน ๆ กันในอีกหลายภาพนะคะ ให้สังเกตไว้เลยว่าต้นโพธิ์นั้น จะทำเหมือนกันในทุก ๆ ภาพ คือถ้าทำเต็มที่ดังในภาพนี้ก็มีข้างละ ๒ ตัว คู่บนเป็นเทวดาชนิดที่มีปีกหางของตนเอง คู่ล่างต้องขี่สัตว์ประหลาดชนิดหนึ่ง ถ้าไม่ทำเต็มที่ ก็มีเทวดาชนิดคู่บนเท่านั้นที่ให้สังเกตก็เพื่อความง่ายในการศึกษาภาพต่อ ๆ ไปนะคะ
เทวดาที่ยืนล้อมพระแท่นอยู่นั้น คือเทวดาที่เข้ามาอัญเชิญ องค์ที่อยู่ตรงกลางตรงหน้าพระแท่น มีลักษณะเป็นหัวหน้าหมู่หรือผู้อัญเชิญ ซึ่งเมื่อพระโพธิสัตว์ได้ทรงใคร่ครวญเหตุผลและความเหมาะสมทุกอย่างแล้ว ก็รับเชิญตามความประสงค์ของเทวดาเหล่านั้น
คราวนี้ลงมาดูกรอบด้านล่างกันบ้าง ท่านจะเห็นภาพสตรีนอน หมายถึงพระนางสิริมหามายา กำลังบรรทมหลับและทรงสุบินว่ามีช้างเผือกมาวนรอบ ๆ พระนาง แล้วเข้าไปในอุทรของพระนาง มีภาพคนเห็นเฉพาะใบหน้า ๕ คน หมายถึงเทวดาที่ปรนนิบัติ
ตามท้องเรื่องที่ว่า เทวดาได้ยกพระนางไปทั้งเตียงไปยังสุวรรณบรรพต ซึ่งงดงามพรั่งพร้อมไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด ระงมไปด้วยเสียงแห่งนกยูง ให้พระนางสรงสนาน ให้ประดับตกแต่ง แล้วให้บรรทม ภาพเทวดาที่อยู่ชิดพระบาทมีแส้ปัดแมลงอยู่ในมือ ซึ่งหมายถึงการปรนนิบัติ ทั้งหมดนี้เป็นไปภายใต้มณฑปหรือปราสาท บนยอดสุวรรณบรรพตนั้น
สิ่งที่น่าสังเกตอยู่อย่างหนึ่งนะคะ ขอให้ท่านดูท่าบรรทมของพระมารดา เป็นท่าสีหไสยาสน์ เช่นเดียวกับท่านอนของผู้ปฏิบัติกรรมฐานหรือผู้ปฏิบัติชาคริยานุโยค ซึ่งกำหนดไว้ในหลักปฏิบัติธรรมอย่างตายตัว เป็นท่านอนของผู้มีสติสมบูรณ์ กระทั่งเป็นท่าปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รวมทั้งพระอรหันต์ ด้วย จนถือกันว่าเป็นท่าแห่งอิริยาบถที่ศักดิ์สิทธิ์ท่าหนึ่ง การที่ศิลปินทำภาพพระมารดาด้วยท่านอนท่านี้ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เป็นการแสดงถึงวัฒนธรรมอินเดียที่แนบสนิทอยู่กับปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา