แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ภาพนี้เป็นภาพแสดงเหตุการณ์เมื่อครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศธรรมครั้งแรก หรือที่นิยมเรียกกันว่า “แสดงปฐมเทศนา” ให้แก่ปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสีนะคะ ในวันนั้นเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า “วันอาสาฬหบูชา”
ขอให้เริ่มต้นดูที่ตรงกลางมีภาพแท่นว่าง เหนือแท่นมีวงธรรมจักร ๓๒ ซี่ เหนือธรรมจักรมีฉัตร ๓ คัน และเทวดาแบบกินนรขนาบสองข้าง “แท่นว่าง” นั้นหมายถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะคะ ส่วน “วงธรรมจักร” นั้นเป็นสัญลักษณ์แทนพระธรรมที่ทรงประกาศ ขอให้สังเกตว่าธรรมจักรนี้มีซี่ถี่มากถึง ๓๒ ซี่ และวงล้อธรรมจักรนั้นเกลี้ยงไม่มีลวดลายเลย แสดงว่าเป็นธรรมจักรที่กำลังหมุน จึงทำให้มองเห็นเป็นซี่ถี่ยิบและมองไม่เห็นลวดลายวงล้อธรรมจักรคะ
สำหรับฉัตร ๓ คันนั้นเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกสถานภาพของบุคคลที่ควรเคารพอย่างสูง พร้อมมีเทวดากินนรประกอบการเคารพ เช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระราชามหากษัตริย์ เป็นต้น
คราวนี้มาดูองค์ประกอบอื่น ๆ ต่อไปอีกนะคะ จะเห็นว่าเหล่าเทวดายืนรายล้อมอยู่มากมาย ไม่มีภาพปัญจวัคคีย์ซึ่งมีจำนวน ๕ คนโดยเฉพาะ เข้าใจว่าคงเป็นเพราะถือว่าการประกาศธรรมจักรนั้นเป็นการประกาศแก่โลก หรือแก่สากลจักรวาลและสูงสุดคือพวกเทวดา ถ้าเทวดาพวกเดียวยอมรับนับถือในหลักธรรมที่ทรงแสดง เป็นอันว่าชนทุกหมู่เหล่ายอมรับนับถือ ซึ่งรวมถึงปัญจวัคคีย์ด้วยเช่นกัน
ส่วนด้านล่างของภาพท่านจะเห็นว่ามีกวางอยู่ในอิริยาบถต่าง ๆ เป็นสิ่งแสดงว่าในอาณาบริเวณที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนานั้นเป็นป่าที่มีกวางอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่มาของชื่อสถานที่แห่งนี้ จึงขอเพิ่มเติมเนื้อหาที่มาและความหมายของชื่อ “ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน” สักเล็กน้อยนะคะ
ส่วนคำว่า “วัน” แปลว่า ป่า รวมเป็น “มฤคทายวัน” จึงมีความหมายว่า “ป่าที่ให้อภัยทานแก่กวาง”
เมื่อพอเข้าใจความหมายของภาพนี้พอสมควรแล้ว ก็ขอกลับมาที่เนื้อหาสาระของ “ธรรมจักรกัปปวัตนสูตร” ที่ทรงแสดงในครั้งนั้นนะคะ
พระพุทธองค์ทรงชี้ให้เห็นว่า การยึดถือปฏิบัติไปในทางสุดโต่งสองทาง อันได้แก่การมุ่งแสวงความสุขทางกามไปทางหนึ่ง กับการมุ่งบังคับกดข่มทรมานตนอีกทางหนึ่งนั้น ไม่ใช่ทางแห่งการพ้นทุกข์เลย และทรงแสดงให้เห็นถึงทางสายกลาง คือมัชฌิมาปฏิปทา เป็นทางอันประเสริฐ ซึ่งหมายถึงอริยมรรคมีองค์แปดอันประกอบด้วย สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมาอาชีโว สัมมากัมมัญโต สัมมาวายาโม สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ และตามมาด้วยอริยสัจสี่ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค จึงขอเชิญชวนให้ท่านที่สนใจไปศึกษาความหมายโดยละเอียดต่อไปนะคะ
เมื่อปัญจวัคคีย์ได้ฟังพระปฐมเทศนาแล้วเกิดดวงตาเห็นธรรม จึงขอบวชเป็นภิกษุสงฆ์ ทำให้วันดังกล่าวเกิดองค์พระรัตนตรัยครบ ๓ ทั้งสามประการ คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือ “วันอาสาฬหบูชา” นั่นเอง