แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ภาพปูนปั้นมหาภิเนษกรมณ์นี้ มุ่งหมายเล่าเหตุการณ์ในครั้งเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบวชเพื่อหาโมกขธรรมอันเป็นมหากุศลที่ยิ่งใหญ่ ตรงกลางภาพท่านจะเห็นม้ามีเทวดา ๔ องค์กำลังชูตีนม้าชื่อว่า “กัณฐกะ” ด้านบนหลังม้าสูงขึ้นไปมีฉัตรกั้นอันเป็นเครื่องหมายของบุคคลชั้นสูง ภายใต้ฉัตรแสดงเป็นความว่างหมายแทน “เจ้าชายสิทธัตถะ” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนคำสอนของพุทธศาสนาในเรื่อง “ความว่าง” จากการยึดมั่นแห่งตัวตน อันเป็นสาเหตุของความทุกข์ ส่วนชายผู้ที่ยืนอยู่หน้าม้าคือ “นายฉันนะ”
ภาพนี้ยังมีลักษณะพิเศษอีกอย่างคือมีพญานาค ๒ ตน ตนหนึ่งอยู่ทางด้านหน้าของ “นายฉันนะ” และอีกตนหนึ่งอยู่ทางด้านหลังม้าด้านบนขวาของภาพกำลังทำท่าร่ายรำอยู่ท่าหนึ่ง ซึ่งเป็นท่าที่แพร่หลายในศิลปกรรมแบบอมราวดีหรือราวพุทธศักราช ๔๐๐-๗๐๐ และต่อมาได้นำมาเป็นท่ารำกลองยาวท่าหนึ่งในเมืองไทยเช่นกัน