แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ภาพนี้ท่านจะเห็นม้า “กัณฐกะ” กำลังควบออกจากซุ้มประตูชั้นนอกของเมือง “กบิลพัสดุ์” มีคนถือฉัตรกั้นอยู่บนหลังม้า ตรงที่ว่างบนหลังม้านั่นเองคะ เป็นสัญลักษณ์แทนเจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งเป็นคตินิยมของศิลปกรรมในสมัยนั้น โดยสัญลักษณ์ “ความว่าง” ดังกล่าวนั้นมุ่งแฝงคำสอนเรื่อง “สุญญตา” อันเป็นหัวใจแห่งพุทธศาสนานะคะ
ในภาพมีสิ่งที่น่าสนใจตรงที่ไม่มีเทวดาชูท้าวม้าหรือแบกม้า รวมทั้งไม่มี “นายฉันนะ” กุมหางม้าตามหลัง เหมือนเรื่องราวในพุทธประวัติที่รู้กันโดยทั่วไปนะคะ
ขอเริ่มจากมุมบนขวาของภาพมีส่วนที่หักหายไปเสียส่วนหนึ่ง ท่านจะเห็นว่ามีภาพคน ๒ คน ในท่าที่เหาะลอยอยู่ในอากาศ เมื่อรวมกับอีก ๓ คนข้างล่าง ในภาพนี้ก็มีคนรวม ๕ คน ขอให้สังเกตจากเครื่องแต่งตัวเห็นได้ว่าเป็นเทวดาสี่ เป็นมนุษย์หนึ่งก็คือคนที่กั้นฉัตรให้ม้านั่นเองคะ
การที่มีเทวดา ๔ องค์พาม้าออกไปนั้น สอดคล้องกันกับคำกล่าวที่กล่าวถึงท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ เป็นผู้รับผิดชอบในการนำเจ้าชายสิทธัตถะออกบวช ส่วนคนที่กั้นฉัตรนั้นน่าจะเป็นนายฉันนะ ในขณะที่เมืองไทยเรารู้กันว่านายฉันนะวิ่งกุมหางม้าตามหลัง ไม่ใช่กั้นฉัตร
ในประเด็นนี้ ท่านพุทธทาสชี้ให้เห็นว่าในภาพหินสลักทุกภาพที่ท่านศึกษานั้น ไม่มีภาพว่าใครกุมหางม้าวิ่งตามหลังม้าเลย และสำหรับภาพนี้ศิลปินน่าจะอุปโลกน์ให้นายฉันนะเป็นคนถือฉัตร แสดงว่าความคิดเรื่องนายฉันนะกุมหางม้าวิ่งตามนี้ น่าจะกล่าวถึงในคัมภีร์พุทธศาสนาชั้นหลังมากกว่าคะ
นอกจากภาพมหาภิเนษกรมณ์นี้แล้ว ยังมีภาพมหาภิเนษกรมณ์อีก ๒ ภาพ ตรงบริเวณทางเดินด้านข้างสโมสรธรรมทานภาพหนึ่ง และอีกภาพหนึ่งแสดงเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องตั้งแต่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกจากประตูเมือง “กบิลพัสดุ” ไปจนถึงริมฝั่งแม่น้ำ “อโนมา” อันเป็นบริเวณที่เจ้าชายสิทธัตถะปลงพระเกศาออกบวช ซึ่งภาพดังกล่าวตั้งอยู่บริเวณด้านซ้ายของลานหินโค้ง ด้านในของสวนโมกข์กรุงเทพแห่งนี้ จึงขอเชิญชวนท่านเข้าไปติดตามดูนะคะ