แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ภาพนี้มีชื่อว่า “แดนเกิดแห่งปัญญา” เรื่องมีอยู่ว่า มีชายคนหนึ่งถูกโจร ๕ คนไล่ฆ่ามา ในภาพอุปมาคือนกห้าตัวในวงกลมแทนโจรห้าคนนั้น เขาหนีมาถึงริมตลิ่งซึ่งคือภาพชายถือดอกบัวยืนอยู่ริมตลิ่งด้านล่างของภาพ บังเอิญมีศพเน่าพองอืดลอยมา ชายผู้นั้นจึงกระโจนขึ้นขี่ศพ ใช้มือ ใช้เท้า พุ้ยน้ำ ดันศพลอยข้ามฟาก พ้นจากโจร หรือ พ้นจากวัฏฏสงสารไปสู่นิพพาน
ในภาพตรงมุมล่างด้านซ้ายมือ จะเห็นชายคนนั้นนั่งอยู่บนศพที่เน่าพองอืดลอยอยู่ในน้ำพร้อมกับชี้มือไปทางซ้ายด้านบน เมื่อมองส่วนครึ่งบนตรงกลางภาพ จะเห็นนก ๕ ตัว บินไล่หลังตามกันอยู่ในวงกลม แสดงแทนตัวทุกข์ คือ อุปาทานขันธ์ทั้งห้า เพราะหลงยึดใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ รวมเป็นกลุ่มขันธ์ห้าที่ประกอบด้วยอุปาทานยึดครอง บินไล่ตามกันอยู่ไม่ออกจากวงกลมจึงเป็นความทุกข์เสมอ ความทุกข์ที่แท้ต้องแสดงด้วยปัญจุปาทานขันธ์ จึงเป็นการลึกซึ้งและถูกต้อง หรือกล่าวให้ชัดลงไปว่า “สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา” แท้จริงแล้วเบญจขันธ์ที่ประกอบด้วยอุปาทานเป็นตัวทุกข์
เรื่องนี้มุ่งแสดงว่าร่างกายของเราถูกเปรียบด้วยศพเน่า ใช้เป็นพาหนะข้ามฟากจากวัฏฏสงสารไปสู่นิพพาน ตามหลักธรรมถือว่าร่างกายนี้เป็นปฏิกูลอยู่โดยธรรมชาติจนต้องอาบ ต้องล้าง บำรุงดูแลลูบไล้ เพราะฉะนั้นจึงถูกเปรียบด้วยซากศพ ในที่นี้ต้องการให้ทราบว่าซากศพนั้นมิใช่ไม่มีค่า ถ้าอาศัยซากศพเน่าเหม็นนี้ให้ถูกต้อง แล้วก็เอาตัวรอดหนีพ้นโจรคืออุปาทานไปสู่นิพพานได้
ความสำคัญที่ภาพนี้มุ่งจะสอนก็คือ อย่าไปหลงรักร่างกายนัก เช่น ไปบำรุงบำเรอมันมาก จนเป็นกามสุขัลลิกานุโยค นิยมวัตถุ เป็นทาสร่างกายมากเกินไปก็ผิด หรืออีกทางหนึ่งก็เป็นอัตตกิลมถานุโยค หากทรมานร่างกายมากเกินไป ใช้มากเกินไป จนเสื่อมสมรรถภาพก็ใช้ไม่ได้เหมือนกัน ต้องปฏิบัติให้พอดีพอเหมาะกับที่มันเป็นปฏิกูล รีบใช้อาศัยเป็นเครื่องมือข้ามฟาก หนีพ้นความทุกข์บรรลุนิพพานให้ได้
ภาพคนถือดอกบัวในท่าต่าง ๆ หมายความว่า คนเหล่านี้มีปัญญา ดอกบัวเป็นเครื่องหมายของปัญญา หรือที่เรียกว่า พระโยคาวจรผู้มีปัญญา เป็นฤๅษีก็มี เป็นคนชาวบ้านก็มี หรือพระภิกษุอยู่ในท่านั่งมีดอกบัวอยู่ข้างๆ แม้แต่เด็กตัวเล็กๆ ก็ยังถือดอกบัว ผู้ถือดอกบัวแสดงว่า เขาเป็นผู้มีปัญญา ถ้าทำให้ถูกวิธีแล้วก็บรรลุมรรคผลได้
สรุปเป็นธรรมะชั้นสูง คืออาศัยร่างกายเป็นที่ดำรงชีวิตอยู่ แล้วรีบศึกษาปฏิบัติธรรมเพิ่มเติม เกิดปัญญาจนบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ตรงภาพดอกบัวใหญ่ที่ด้านขวามือ มีบุรุษผู้เข้มแข็งถือพระขรรค์ และจักรข้างละมือนั่งอยู่กลางดอกบัว ตรงนี้แสดงคุณค่าของร่างกายไม่เกี่ยวกับใจ แสดงว่าปัญญาเกิดจากกายอันเป็นของปฏิกูล เปรียบเหมือนโคลนที่เน่าเหม็นเป็นที่เกิดของดอกบัว
ส่วนครึ่งล่างของภาพได้แก่ ปลา เต่า แสดงว่าเป็นน้ำที่ดอกบัวได้เกิดขึ้นจากโคลนสกปรกใต้น้ำ แม้โคลนจะเน่าเหม็น แต่เป็นที่เกิดของดอกบัวอันหอมหวนงดงามได้ เหมือนร่างกายอันเน่าเหม็นนี้ เป็นที่เกิดของปัญญาอันเปรียบกับจักรและพระขรรค์ซึ่งใช้ตัดกิเลสตัณหา ดังนั้นต้องรู้จักทำให้ปัญญาเกิดขึ้น เบิกบานขึ้นเต็มที่ จึงมีกำลังพร้อมที่จะตัดกิเลสได้
เด็กตัวเล็กๆ ทางมุมบนขวาของภาพที่ลอยเข้ามาหาบุรุษผู้ถืออาวุธนั้น หมายถึงความโง่ ความหลง ความมืดบอด ซึ่งเรียกว่า “อันธการ” อันธการนี้จะต้องตัดเสียด้วยปัญญา ในที่นี้แสดงให้เห็นว่า การจะทำลายกิเลส ความโง่หลง จำเป็นต้องมองเห็น กิเลสอันเป็นต้นเหตุของความทุกข์เสียก่อน มิฉะนั้นก็ไม่ทราบว่าจะตัดตรงไหน จึงจะเกิดผลตามความประสงค์ ดังนั้นจำเป็นต้องสอดส่องมองให้เห็นตัว “อันธการ” คือความโง่หลง ความผิดพลาดของตนเอง ซึ่งมาจากเล่ห์เหลี่ยมของ ตัวกู ของกู ที่มีการเกิดขึ้นแล้วก็จะมีความทุกข์ตามมา มองเห็นให้ถูกต้องจึงมีปัญญา สามารถทำลายอันธการนั้นได้ ทุกข์จึงจะดับไป
หากถามว่า ภาพนี้คืออะไร ? ตอบว่า ภาพอุปมากายเน่าเป็นแดนเกิดของปัญญา ดอกบัวที่หอมเกิดขึ้นจากโคลนที่เหม็นฉันใด ปัญญาที่จะตัดกิเลสก็เกิดได้จากกายเน่าฉันนั้น ดังนั้นทุกคนต้องทำให้ดี บริหารให้ถูกทาง ให้ปัญญาเกิดขึ้น เบิกบาน เจริญขึ้นเต็มที่ จนมีกำลังตัดกิเลสได้ อย่าเป็นทาสของร่างกาย อย่าประพฤติผิดต่อร่างกายอันเป็นที่เกิดของปัญญา ปัญญาจึงมีความแหลมคมถึงที่สุด รู้คุณภาพของกายเน่า ใช้กายเน่าให้เกิดประโยชน์ถึงนิพพาน