แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ภาพชุดนี้มีชื่อว่า “กายนคร” เป็นการอธิบายปฏิจจสมุปบาทอย่างย่อ จะขอไล่เรียงลำดับแบบทวนเข็มนาฬิกา เริ่มจากภาพมุมบนซ้ายมือลงมาด้านล่าง แล้วย้อนขึ้นฝั่งขวามือจนจบที่ภาพบนสุด ขอเริ่มเลยนะคะ
ภาพยักษ์ตัวสีเขียวเปรียบได้กับความไม่รู้ ความหลง หรือ “อวิชชา” ยักษ์ตนนี้ มีเทวดาถือพระขรรค์และจักรเหยียบบ่าอยู่ อาวุธทั้งสองหมายถึง “ปัญญา” หรือ “วิชชา” สำหรับตัดคอยักษ์คือขจัดความไม่รู้ความหลง หรือ“อวิชชา” ให้หมดสิ้นไป
ตรงปลายเท้ายักษ์ ด้านหนึ่งมีคนสุ่มปลาได้งูมา แสดงความหลงแบบแรก คือคนนั้นไปสุ่มปลา ล้วงขึ้นมาเป็นงู ในมือคนนั้นจึงมีงู แต่เขาไม่รู้ว่าเป็นงู สำคัญผิดเป็นปลา ชี้ให้เห็นว่า ปุถุชนโดยมากมัก “หลงสำคัญผิด” ส่วนอีกด้านหนึ่งมีคนเลี้ยงไก่ชนสำหรับพนันเพื่อแพ้ชนะกัน แสดงถึงความหลงแบบที่สองคือ “หลงในการมีตน” ยึดมั่นถือมั่น เลี้ยงไก่ชนของตนเพื่อเอาชนะ นี่เป็นเรื่องตัวกู หลงเลี้ยงตัวกู หลงสมัครเป็นทาสของสิ่งที่ตนรัก ตนชอบ เพื่อตัวกู ของกู นั่นเอง
ความหลงเหล่านี้รวมกันเป็นยักษ์ใหญ่ ซึ่งจำเป็นต้องตัดให้ขาดไป คือฆ่าเสียให้ตายด้วยปัญญา สรุปแล้วต้องกำจัดอวิชชา ความโง่ ความหลง ความงมงายให้หมดไป จึงจะพ้นจากทุกข์ภัยในวัฏฏสงสารอันเกิดจากความโง่ ความหลงได้
ถัดลงมาท่านจะเห็นภาพคนเลี้ยงไก่ คนหลงเลี้ยงไก่อีกแบบหนึ่ง คือเลี้ยงลูกไก่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ๆ เขาหลงว่า “ไก่กู ของกู” จึงต้องตกเป็นทาส “ตัวกู ของกู” มากขึ้นไม่มีที่สิ้นสุด นี้คือหลงอยู่ในความรัก ส่วนอีกคนนั่งอยู่หน้ากองไฟลุกโพลง เรียกว่าหลงบูชาไฟคือราคะ โทสะ โมหะ หมายถึงเห็นของร้อนเป็นของเย็น เห็นสิ่งร้อนเป็นเครื่องอำนวยความสุขเย็น เช่น คนหลงกามคุณก็เห็นเป็นเรื่องสุขเย็น จึงยอมเป็นทาสกามคุณด้วยความสมัครใจ เป็นต้น
ภาพถัดมาแสดงให้เห็นถึงผลของความโง่ ความหลง ได้แก่ภาพคนถูกสุนัขกัด คนพลัดตกน้ำ จมน้ำและมีราชสีห์ท่าทางดุร้ายจ้องอยู่เฉพาะหน้า มุ่งหมายแสดงความทนทุกข์ทรมานในวัฏฏสงสาร มีความหมายเป็นภัยอันน่ากลัว ๓ อย่าง คือ ๑. ตกน้ำแล้วก็จมน้ำ หายใจไม่ออกอยู่เสมอ ๒. ถูกขบกัด และเจ็บปวดทรมานอยู่เสมอ ๓. เผชิญต่ออันตรายที่น่าหวาดเสียวอยู่เสมอ ภัยทั้งสามอย่างนี้รวมกันเป็นความหมายของวัฏฏสงสาร ถ้าคนยังโง่หลงอยู่เพียงไร ก็จะต้องรับผลทนทุกข์ทรมานเหล่านี้ โดยไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้
แต่คนหลงอาจจะไม่รู้สึกตัวก็เลยไม่กลัว เพราะถ้ารู้ตัว รู้จักกลัวแล้วก็คงไม่มีใครในโลกนี้ยอมทนทรมานจมอยู่ในวัฏฏสงสารเลย ดังเช่น ถัดไปท่านจะเห็นภาพวงกลมล่างด้านซ้าย มีภาพคน ๔ คนอยู่ในวงกลมเล็ก แสดงผลของอาการที่ตกอยู่ในความเวียนว่าย คือความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ภายในวังวนแห่งรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ อันแทนด้วยภาพคน ๖ คน ในวงกลมรอบนอก
ส่วนภาพวงกลมทางขวามือ มีปลาอยู่ข้างใน หมายความว่า แม้คนจะว่ายเวียนอยู่ในความทุกข์ซ้ำซากก็ยังไม่รู้สึกตัว มีความหลงเหมือนเห็นงูเป็นปลา วนอยู่ในความทุกข์ เขาเลยเปรียบเทียบคนโง่ คนหลงเหล่านี้ว่า เป็นเหมือนปลาที่อยู่ในน้ำก็ไม่รู้จักน้ำ โดยดูให้ลึกซึ้งว่า ปลามันอยู่ในน้ำได้จริง แต่เพราะตามันติดน้ำเกินไป มันจึงมองไม่เห็นน้ำ ไม่รู้สึก ว่าอยู่ในน้ำ อาจจะพูดอุปมาต่อไปได้ว่า เหมือนนกไม่เห็นฟ้า ปลาไม่เห็นน้ำ หนอนไม่เห็นคูถ ไส้เดือนไม่เห็นดิน
อีกแง่หนึ่งในภาพนี้ต้องการจะแสดงว่า น้ำกับบกอยู่ติดกันแท้ ๆ ปลาก็ไม่รู้เรื่องบก ปลาอยู่ในน้ำตลอดเวลายังไม่รู้เรื่องน้ำ แล้วจะมารู้เรื่องบกได้อย่างไร ต้นหญ้าต้นนั้นอยู่บนบก แล้วบกก็ติดกับน้ำ ติดต่อกันด้วยเส้นริมน้ำริมบกนิดเดียวเท่านั้น ปลาก็ไม่อาจจะมารู้เรื่องบก “เปรียบเหมือนปุถุชนคนธรรมดา ไม่รู้จักเรื่องน้ำ คือกามคุณว่าเป็นความทุกข์ และไม่รู้จักเรื่องบก คือนิพพานว่าเป็นความดับทุกข์” เป็นการอยู่ด้วยความโง่ ความหลง ตลอดเวลา จึงมีผลต้องว่ายเวียน เกิด แก่ เจ็บ ตาย อย่างไม่ยอมถอนตัว
เมื่อมาถึงตอนนี้แล้วคิดว่าท่านคงพอจะเข้าใจ ถึงการตกจม วนเวียนอยู่ในในวัฏฏสงสารอันเต็มไปด้วยความทุกข์ของปุถุชนคนธรรมดาแล้วนะคะ ต่อไปขอเชิญท่านติดตามต่อในเชิงลึกขึ้นอีกสักหน่อยเพื่อให้พบต้นสายปลายเหตุที่แท้จริงของการเกิดทุกข์ ดังจะนำเสนอในภาพถัดไปคะ นั่นคือภาพช้าง และภาพสระน้ำใหญ่ ๓ สระซึ่งอยู่ด้านล่างสุดของภาพนี้
ภาพสระน้ำใหญ่ ๓ สระเปรียบเป็น “อารมณ์ของจิต” ในบรรดาอารมณ์ทั้งหมดที่จิตของคนต้องการนั้น แบ่งเป็น ๓ พวก ได้แก่
๑. อารมณ์ที่ “กามตัณหาต้องการ” คือ อารมณ์ที่เกิดจากความหลงใหลในสิ่งที่ตนชอบ และในรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสระหว่างเพศตรงข้าม ได้แก่ หลงใหลความสุขในเรื่องกามคุณ หรืออยากเอา อยากได้ สิ่งที่ตนชอบ
๒. อารมณ์ที่ “ภวตัณหาต้องการ” คือ อารมณ์ที่เกิดจากความหลงใหลในสิ่งที่ตนชอบที่ไม่เกี่ยวกับกาม ได้แก่ การหลงใหลอยากในความเป็น มีชีวิตอยู่ด้วยความอยากเป็นนั่น เป็นนี่ หรืออยากเป็นตามที่ตนชอบ
๓. อารมณ์ที่ “วิภวตัณหาต้องการ” คืออารมณ์ที่เกิดจากความหลงใหลในสิ่งที่ตนไม่ชอบ ที่ไม่เกี่ยวกับกาม ได้แก่ การหลงใหลอยากไม่เป็นนั่น ไม่เป็นนี่ หรืออยากไม่ให้เป็นตามที่ตนชอบ
ส่วนภาพช้างสีดำตัวใหญ่นั้นหมายถึงปุถุชนคนธรรมดาเปี่ยมไปด้วยความไม่รู้ ความหลง หรือ “อวิชชา” ที่แสวงหาอยู่ที่จะไปดื่มกินน้ำทั้ง ๓ สระนี้ วันหนึ่งคืนหนึ่งคนเราก็หลงใหลอยู่ใน ๓ อยากนี้เหมือนช้างที่กินจุ กินมาก
เมื่อช้างกินน้ำ ๓ สระเปรียบเสมือนจิตปุถุชนกระทบและรับรู้กับอารมณ์ทั้งสาม เรียกว่า “ผัสสะ” และมีอาการที่ปรุงแต่งต่อเนื่องกันไป แสดงไว้ในภาพลำดับถัดไปจะเห็นว่าน้ำสามสระเข้าไปอยู่ในท้องช้างแล้วจะเกิดความรู้สึก ๓ ประเภท เรียกว่า “เวทนา” ได้แก่
ทีนี้เรามาดูความหมายของภาพถัดไปคือเขียดกลืนช้าง แสดงให้เห็นช้างพร้อมด้วยน้ำทั้ง ๓ สระ เข้า
ไปอยู่ในท้องเขียดแล้ว หมายความว่า “เวทนา” ทำให้เกิด “ตัณหา” คือความอยากหรือความต้องการด้วยอวิชชา มี ๓ ชนิด
เป็นที่น่าสังเกตว่าเขียดเป็นสัตว์ ครึ่งบกครึ่งน้ำ ปากกว้าง ลิ้นยาว กินแมลงตัวโต ๆ ได้ ด้วยการแลบลิ้นตวัดจับแมลงได้ในระยะไกล เปรียบกับตัณหาหรือความอยากนั้นไปได้กว้างไกล ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีประมาณ
ต่อไปขอเชิญท่านติดตามการปรุงแต่งต่อเนื่องกันต่อนะคะ ภาพต่อไปท่านจะเห็น งูกลืนเขียดหมายถึง “เขียดตัณหา” ส่งให้เกิด “อุปาทานคืองู” อาการของงูคือขดรัดแน่นหมายแทนการยึดมั่น ถือมั่น มันเป็นอันตรายเหมือนพิษงู ยากที่จะปล่อย เรียกว่าอุปาทาน และหากเป็นอุปาทานที่มีความสมบูรณ์จะกลายเป็น “ภพ” หมายถึง “ความมีความเป็น” ในที่นี้แทนด้วยภาพนกคุ่ม ซึ่งนกคุ่มเป็นนกที่ชอบอาศัยอยู่ใต้พุ่มไม้ในป่าละเมาะ “ป่า” เป็นสัญลักษณ์ของกิเลสที่ยุ่งเหยิงสับสนไปด้วยความคิดปรุงแต่ง ในขณะที่นกคุ่มก็เดินเร็วบินเร็ว ไล่จับได้ยาก หมายถึงเมื่อเกิดภพขึ้นมาแล้ว การที่จะยับยั้งไม่ให้เกิดทุกข์นั้นเป็นของยาก
คราวนี้ก็เลยปรุงต่อไปแบบหยุดไม่อยู่ดังภาพ “นกคุ่มบินไปเกาะอยู่บนต้นอ้อ”และที่รากอ้อถูกหนู ๔ ตัวกัดแทะอยู่ หมายความว่า นกไปเกาะที่ต้นอ้อ แปลว่าภพเป็นปัจจัยให้เกิด “ชาติ” อย่างสมบูรณ์ ด้วยเหตุปัจจัยซับซ้อนต่อเนื่องเรื่อยมา การอาศัยอยู่ที่ร่างกายซึ่งเปรียบกับต้นอ้อซึ่งไม่มีแก่น เหมือนร่างกายไม่มีสาระแก่นสารอะไร ร่างกายอันเป็นที่ตั้งที่อาศัยของจิตที่ประกอบด้วยกิเลส ตัณหา อุปาทาน ซ้อนกัน เปรียบด้วยนกที่กำลังอาศัยเกาะต้นอ้อ และรากอ้อถูกหนู ๔ ตัวแทะกัดอยู่ เปรียบเหมือน ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ที่เบียดเบียนกัดแทะร่างกายนี้อยู่เป็นนิจ ซึ่งไม่นานก็จะล้มลง โค่นลง ด้วยกันทั้งหมด
เรามาสรุปทบทวนกันอีกสักครั้งนะคะ
ภาพนี้เป็นภาพเปรียบของกิเลสที่ปรุงเป็นปัจจัยต่อ ๆ กันไปตามลำดับ จนเกิดความทุกข์ สรุปได้ดังนี้
น้ำ ๓ สระถูกช้างกิน เท่ากับ ผัสสะ ให้เกิด เวทนา
ช้างถูกเขียดกิน เท่ากับ เวทนา ให้เกิด ตัณหา
เขียดถูกงูกิน เท่ากับ ตัณหา ให้เกิด อุปาทาน
งูถูกนกกิน เท่ากับ อุปาทาน ให้เกิด ภพ
นกเกาะต้นอ้อ เท่ากับ ภพ ให้เกิด ชาติ ความเกิดคือร่างกายเป็นต้นอ้อ
สุดท้าย ท่านพุทธทาสได้มีข้อสังเกตภาพในอีกความหมายหนึ่งคือ นกหมายถึงภพ “ภพคือภาวะความเป็น” ความเป็นอะไรก็ตาม เมื่อมีกิเลส ตัณหา อุปาทาน หล่อเลี้ยงแล้วย่อมมี “ตัวกู ของกู” เต็มที่ แม้นกจะจับอยู่บนยอดอ้อที่อ่อนไหวไม่คงทน ซึ่งหมายถึงภพให้เกิดชาติ “ชาติ” ที่อาศัยร่างกายอันไม่แข็งแรงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไม่มีสาระแก่นสารอย่างนี้แล้ว แต่ความเป็นภพ คือเป็นตัวกูที่ยิ่งใหญ่ ย่อมไม่สำนึกในข้อนี้เลย