PAGODA

  • Create an account
  • Forgot your username?
  • Forgot your password?
or

Connection

Your e-mail is required to ensure the proper functioning of the Website and its services and we make a commitment not to reveal it to third parties

  • หน้าแรก
  • ฐานข้อมูล
  • เสียง
  • วีดิทัศน์
  • E-Books
  • กิจกรรม
  • บทความ
PAGODA
  • หน้าแรก
  • ฐานข้อมูล
  • เสียง
  • วีดิทัศน์
  • E-Books
  • กิจกรรม
  • บทความ

เข้าสู่ระบบ / สมัครสมาชิก

เข้าสู่ระบบ

  • สมัครสมาชิก
  • ลืมชื่อผู้ใช้?
  • ลืมรหัสผ่าน?

Search

  • หน้าแรก
  • เสียง
  • Dhamma Podcasts
  • กาลจักร
กาลจักร รูปภาพ 1
  • Title
    กาลจักร
  • เสียง
  • 10638 กาลจักร /dhamma-podcasts/2021-12-22-04-04-41.html
    Click to subscribe
    • Share
    • Tweet
    • Email
    • Share
    • Share

ผู้ให้ธรรม
ภาพปริศนาธรรม
วันที่นำเข้าข้อมูล
วันพุธ, 22 ธันวาคม 2564
ชุด
หมวดภาพวาด
  • แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]

  • ภาพเบื้องหน้าที่ท่านมองเห็นอยู่นี้นะคะ มีชื่อว่าภาพกาลจักร หรือมีอีกชื่อหนึ่งว่า “ปฎิจจสมุปบาท” คะ เป็นภาพที่แสดงให้รู้ว่าทุกข์เกิดขึ้นและดับลงได้อย่างไร  ซึ่งเป็นอาการของจิตคนเราที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันมีความรวดเร็วรุนแรงเหมือนสายฟ้าแลบ  เป็นไปตามกฎธรรมชาติที่ว่าด้วย “อิทัปปัจยตาปฏิจจสมุปบาท”  อันเป็นพระธรรมสำคัญที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ว่า  ทุกสิ่งล้วนเกิดขึ้นจากเหตุและปัจจัย  ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นอย่างลอยๆ ต่างล้วนอาศัยกันพร้อมแล้วเกิดขึ้น ในลักษณะ ๑๒ ห่วงโซ่ของอาการแห่งจิตคะ

    เราจะค่อยๆ ดูภาพนี้กันไปทีละส่วนๆ นะคะ เริ่มจากขอให้ท่านมองไปที่ภาพมุมบนด้านขวามือ  เป็นภาพที่พระบรมศาสดา ทรงชี้ให้เราเห็นภัยแห่งสังสารวัฏฏ์ ซึ่งกักขังปวงสัตว์รวมทั้งคนเรา ให้ตกอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์ทรมาน พร้อมทั้งทรงชี้วิธีที่จะออกมาเสียให้พ้นจากภัยทั้งปวงนั้น ซึ่งเป็นอย่างไรจะได้กล่าวในตอนท้ายนะคะ

    ถัดมาจะเห็นภาพยักษ์ที่กัดกินวงกลม แทนความหมาย กาลเวลาคะ   และบนหัวยักษ์ มีกะโหลกผีห้า กะโหลก หมายแทนขันธ์ทั้งห้าที่ประกอบด้วยอุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่น หมายความว่า เมื่อใดก็ตามที่จิตมีความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้งห้า ว่าเป็น “ตัวเรา” เป็น “ของเรา”  ขณะนั้นจะถูกกาลเวลากัดกินให้เป็นทุกข์ทรมานอยู่  อันเป็นที่มาของการเรียกชื่อภาพนี้ว่า “กาลจักร” ทั้ง ๆ ที่จิตแต่เดิมของเรานั้นมีลักษณะว่างจาก “ตัวเรา” หรือเกลี้ยง เราจึงเรียกจิตเดิมแท้นี้ว่า “จิตประภัสสร” คะ

    ภาพวงกลมใหญ่ทั้งหมด  หมายแทน อาการของจิตในขณะที่ถูกยักษ์กัดกิน โดยแสดงเป็นวงกลมซ้อนกันอยู่  ๔ ชั้น ดังนี้ครับ

    (๑.) วงกลมเล็กสีฟ้า ชั้นในสุด  อยู่ตรงกลาง  คือ“จิตประภัสสร” มีงูกำลังกัดหางไก่  ไก่กำลังกัดหางหมู  หมูกำลังกัดหางงู  หมุนเวียนกันเรื่อยไปต่อเนื่องกันไม่สิ้นสุด แสดงให้เห็นถึงอำนาจอกุศลคือ โลภ โกรธ หลง  เป็นมูลเหตุทำให้จิตเดิมที่ประภัสสรนั้นหมองไป  ซึ่งกระทำการหมุนวนเวียนเป็นวงกลมซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นวงจรแห่งกิเลส-กรรม-วิบาก  อันเป็นวัฏฏสงสารที่กักขังสัตว์รวมทั้งคนเรา ให้เวียนตายเวียนเกิดอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์ทรมาน

    (๒.) วงกลมเล็กที่ถัดออกมา   แสดงถึงการกระทำที่ประกอบด้วยกิเลส เรียกว่า “กรรม” โดยวงกลมนี้แบ่งออกเป็น ๒ ซีก คือ ซีกดำหมายแทน บาป นรก  ความชั่ว  ความทุกข์ อันเป็นสภาพแห่งกรรมข้างฝ่ายต่ำ หรือกรรมดำ ท่านจะเห็นภาพคนเปลือยร่างหมายถึงไม่มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป ถูกลากจูงลงต่ำด้วยนางยักษ์ ส่วนซีกขาวหมายแทน บุญ สวรรค์  ความดี  ความสุข  แสดงไว้ด้วยภาพมนุษย์ที่มีเสื้อผ้าอาภรณ์ปกปิดมิดชิด หมายถึงมีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป อันเป็นสภาพแห่งกรรมข้างฝ่ายสูง หรือกรรมขาว แต่ก็ยังยึดถือบุญ สวรรค์ ความดี ความสุข ว่าเป็น “ตัวเรา” “ของเรา” จึงไม่สามารถหลุดพ้นไปสู่ความเป็นอิสระได้ ทั้งกรรมดำและกรรมขาวนั้นจัดเป็น “ของคู่” ดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงวัฏฏสงสาร ให้หมุนเวียนต่อเนื่องกันไปอย่างไม่มีสิ้นสุดครับ

    (๓.) วงกลมที่ถัดออกมานะคะ  แบ่งเป็น ๕ ส่วน  แสดงให้เห็นว่าในวันหนึ่งๆ เมื่อใดที่จิตของเรามีการกระทบอารมณ์  แล้วตอนนั้นจิตขาดสติปัญญา จิตจะสำคัญขึ้นว่า “ตัวเรา” ก็พร้อมจะมีสภาพผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนว่ายวนเกิดในสภาวะแห่งภูมิธรรมต่างๆ  ประกอบด้วย ๕ ภูมิคะ ซึ่งแทนด้วยภาพในช่องต่าง ๆ จำนวน ๕ ช่อง ไล่เรียงจากภาพขวาตอนบนเป็นลำดับต่อเนื่องตามเข็มนาฬิกานะคะ ได้แก่ ภูมิมนุษย์ ภูมิเปรต ภูมิสัตว์นรก ภูมิเดรัจฉาน และภูมิเทวดา ตามมาดูรายละเอียดแต่ละภูมิด้วยกันนะคะ

    - เริ่มจากช่องแรกคะ ด้านขวามือตอนบนคือภูมิมนุษย์ ท่านจะเห็นภาพบุคคล ชาย หญิง เด็ก ผู้ใหญ่ มีความเป็นอยู่สมกับความเป็นมนุษย์คือทำหน้าที่ถูกต้องต่อสังคม ช่วยเหลือเกื้อกูล ทำดีต่อกัน แต่ยังยึดติดในความดีหรือบุญอยู่ ทำให้มีความรู้สึกเหนื่อยหน่าย ระทดท้อต่อหน้าที่การงาน รู้สึกหนักต่อความรับผิดชอบ นี่คือลักษณะของจิตที่ตกอยู่ “ภูมิมนุษย์” ในส่วนบนของช่องนี้ท่านจะเห็นภาพพระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดปัญจวัคคีย์ในปาง “มัชฌิมาปฏิปทา” ซึ่งคำสอนหลักเริ่มต้นจากการเดินทางสายกลาง แล้วนำไปสู่การปล่อยวางไม่ยึดติดความดีหรือบุญในที่สุด

    - ช่องที่สองอยู่ถัดลงมาคะ เป็นภาพตัวประหลาดสีดำมีปากเท่ารูเข็ม แต่มีท้องโตเท่าภูเขา แสดงให้เห็นถึงความหิวกระหาย ทะยานอยากไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ เต็มเปี่ยมไปด้วยความโลภ นี่คือลักษณะของจิตที่ตกอยู่ใน “ภูมิเปรต” ในท่ามกลางตัวประหลาดจะเห็นภาพพระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดในปาง “บริจาคทาน” เพื่อให้คิดอ่านในการบริจาค เสียสละบ้าง แทนที่จะมุ่งแสวงหาแต่อย่างเดียวค่ะ

    - ช่องถัดมานะครับด้านล่างสุด ท่านจะเห็นภาพสัตว์ที่ถูกต้ม ถูกเคี่ยว อยู่ในน้ำเดือดบ้าง ในวังน้ำอันเชี่ยววนบ้าง มียมบาลหน้าตาดุร้ายน่าเกลียดน่ากลัวเฝ้าอยู่ ทั้งหลายเหล่านี้ใช้แทนจิตที่มีโทสะหรือความโกรธจึงเร่าร้อนเหมือนไฟเผา เป็นจิตที่ตกอยู่ใน “ภูมินรก” ในด้านซ้ายจะเห็นภาพพระพุทธเจ้าเสด็จลงมาโปรดในปาง “เจริญเมตตา” กล่าวคือเมื่อใดเกิดความเมตตา มีความรักต่อเพื่อนมนุษย์ ตลอดจนสรรพสัตว์ทั้งหลายแล้ว “ภูมินรก” ก็จะไม่เกิดขึ้นมา

    - ช่องถัดไปด้านซ้ายมือ ท่านจะเห็นภาพเหล่าสัตว์ ได้แก่ ช้าง ม้า วัว ควาย เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่ลำตัวราบไปกับพื้นดิน ไม่ตั้งตรงขึ้นข้างบนเหมือนคน อันมีความหมายถึงการขวางต่อความรู้ที่ถูกต้อง คือความโง่ ความหลง หรือโมหะนั่นเอง ดำรงชีวิตด้วยความไม่รู้ว่าจะไปทิศทางใด อยู่ไปวัน ๆ หมกมุ่นอยู่กับเรื่องกิน ขับถ่าย สืบพันธุ์ และนอน อันเป็นเดรัจฉานวิสัยจิตจึงตกอยู่ใน “ภูมิเดรัจฉาน” ในมุมบนซ้ายจะเห็นภาพพระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดในปาง “เจริญปัญญา” หากเมื่อใดจิตเกิดปัญญามีความรู้ตามความเป็นจริงก็จะสามารถทำลายความโง่ความหลงออกไปได้

    - ช่องถัดขึ้นไปด้านบนอันเป็นช่องสุดท้ายครับ ท่านจะเห็นภาพผู้หญิงนั่งอยู่ และมีผู้ชายแย่งชิงกันอยู่บนสวรรค์แสดงสัญลักษณ์ด้วยก้อนเมฆ ซึ่งมีความหมายถึงสัตว์ที่มีความมัวเมาหลงใหลในเรื่องกามคุณหรือวัตถุกาม เรียกว่า “ราคะ” ซึ่งเป็นความสุข สนุกสนานที่ต้องอาศัยเหยื่อ จิตขณะนั้นตกอยู่ใน “ภูมิเทวดา” ในภาพจะเห็นภาพพระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดถึงสองปาง ปางแรกอยู่ด้านล่างพระพุทธองค์ทรงถือพระขรรค์เป็นปาง “ชี้โทษ” เพื่อให้เห็นโทษของกาม อีกปางหนึ่งด้านบนเป็นปาง “ดีดพิณ” เสียงพิณแสดงลักษณะไม่เที่ยง เมื่อดีดเสียงก็ดัง เมื่อหยุดดีดเสียงก็เงียบ เปรียบได้กับความสุขชนิดนี้พอมีเหยื่อก็สุข หมดเหยื่อก็หมดสุข เมื่อใดจิตเห็นความไม่เที่ยงแล้วก็จะพบเจอกับความสุขที่แท้ซึ่งไม่ต้องอาศัยเหยื่อแต่อย่างใด

    ภาพวงกลมทั้งห้านี้  แสดงให้เห็นว่าในวันหนึ่ง ๆ เรามีโอกาสที่จะเผลอสติ เกิดเป็นสัตว์ต่าง ๆ ได้หลายครั้งหลายภูมิตามที่กล่าวมา เร็วบ้าง นานบ้าง แล้วแต่จิตจะโง่เขลา หรือมีสติปัญญามาทันได้เท่าไร แต่อย่างไรก็ดี ดังที่ได้กล่าวว่าเรามิได้เกิดอยู่ตลอดเวลา แต่จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการกระทบอารมณ์ แล้วตอนนั้นจิตขาดสติปัญญา เวทนาปรุงแต่งตัณหาเป็นกิเลส กรรม วิบาก ขึ้นมา ได้รับผลเป็นความทุกข์ พร้อมกับความเกิดในภูมิต่าง ๆ ครับ

    ต่อไปภาพในวงกลมใหญ่นอกสุดเราจะมาดูความหมายกันนะคะ

    (๔. ภาพวงกลมใหญ่นอกสุดนี้)  แสดงถึงมูลเหตุที่ทำให้ปวงสัตว์รวมทั้งคนเรา ยอมจมอยู่ในห้วงแห่งวัฏฏสงสาร ด้วยห่วงโซ่อาการของจิตต่อเนื่องกัน รวม ๑๒ ห่วงโซ่ค่ะ ซึ่งเป็นปัจจัยอาศัยกันทำให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วปานสายฟ้าแลบภายในจิตใจของคนเรา โดยมองไล่เรียงกันเป็นวงกลมหมุนตามเข็มนาฬิกา ดังนี้นะคะ

    เริ่มจากภาพบนสุด คือภาพเด็กที่ไม่รู้เดียงสาจูงมือคนแก่ตาบอดที่มองไม่เห็นหมายแทน “ความไม่รู้ตามความเป็นจริง” ของจิตเรียกว่า “อวิชชา” ด้วยความไม่รู้ หรือความโง่ของจิตนี่เอง จึงทำให้จิตมีอำนาจที่จะคิดไปเองหรือปรุงแต่งไปต่าง ๆ นา ๆ ซึ่งแสดงด้วยภาพคนกำลังปั้นหม้อ เขาจะปั้นหม้อในรูปร่าง ต่าง ๆ กันไปเรื่อย ๆ เรียกอาการนี้ว่า “สังขาร” ขอให้ดูภาพต่อไปนะคะ คือภาพลิงถือลูกแก้วกำลังกระโจนเข้าบ้าน หมายถึงความรู้แจ้งของจิตต่ออารมณ์ที่มากระทบทางหูตา ทางหู เป็นต้น เรียกว่า “วิญญาณ” แต่เพราะจิตมี “อวิชชา” วิญญาณจึงสำคัญผิด มีความงุนงง สงสัย ต่อสิ่งที่มากระทบ เหมือนลิงได้แก้วไม่รู้จะจัดการอย่างไร

    ภาพถัดไปค่ะ ท่านจะเห็นภาพคนสองคนอยู่ในเรือกลม ๆ ลอยอยู่กลางทะเล หมายถึงอาการที่จิตปรุงเป็นความรู้สึกว่ามีกายและใจ เป็นกายและใจใหม่ ด้วยอำนาจวิญญาณ เป็นกายและใจที่พร้อมจะมีความทุกข์ เรียกว่า “นามรูป” และถัดไปนั้นจะเห็นภาพเรือน ๖ หลัง หมายถึงความรู้สึกว่ามีตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ สำหรับทำหน้าที่คราวหนึ่ง ๆ พอรู้สึกว่ามีนามรูป อายตนะเหล่านี้จึงทำหน้าที่คู่กับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และนึกคิด ตามลำดับ จึงเรียกรวมกันว่า “สฬายตนะ” ค่ะ

    เราตามมาดูภาพชายหญิงกอดสัมผัสกันต่อไปเลยนะคะ ภาพนี้ใช้เป็นตัวแทนการกระทบทางอายตนะภายในและภายนอกและประกอบด้วยวิญญาณทางใดทางหนึ่ง เช่น ตากระทบกับรูปประกอบด้วยวิญญาณทางตา หูกระทบกับเสียงประกอบด้วยวิญญาณทางหู เป็นต้น เรียกว่า “ผัสสะ” ตอนนี้เรามาถึงห่วงโซ่ที่ ๗ แล้วนะคะ แสดงด้วยภาพคนถูกลูกศรเสียบเข้าที่ตาทั้งสองข้าง หมายถึงอาการเกิดทางจิตที่รู้สึกว่าสิ่งที่มากระทบนั้น น่าดูหรือไม่น่าดู น่าฟังหรือไม่น่าฟัง พอใจหรือไม่น่าพอใจ หรือแม้กระทั่งยังระบุไม่ได้ว่าพอใจหรือไม่พอใจ เรียกว่า “เวทนา”  ที่รู้สึกอย่างนี้ก็เพราะเนื่องจากผัสสะเป็นปัจจัย ทำให้เกิดสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาค่ะ

    หลังจากนั้นนะครับ จิตก็มีความรู้สึกคือ “เวทนา” ต่อสิ่งใดอย่างไรแล้ว จะเกิดเป็นความอยากอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามความรู้สึกนั้น ๆ เช่น รู้สึกพอใจสิ่งใดก็อยากได้สิ่งนั้น รู้สึกไม่พอใจสิ่งใดก็ไม่อยากได้สิ่งนั้น เรียกว่า “ตัณหา” แทนด้วยภาพคนดื่มเหล้าซึ่งโง่เขลาเพลินติดไปกับความอยากในสิ่งนั้น ๆ หลังจากนั้นความอยากหรือตัณหาจึงเป็นปัจจัยทำให้จิตกลายสภาพจากความอยากเป็นความสำคัญมั่นหมายปักใจแน่แน่วที่จะยึดถือเอาสิ่งนั้น ดังแสดงด้วยภาพลิงเกาะอยู่บนต้นไม้และมือยึดถือผลไม้แบบไม่ยอมปล่อย เรียกว่า “อุปาทาน” คือจิตมีความยึดถือ หรือสำคัญมั่นหมาย

    ภาพต่อไปท่านจะเห็นภาพหญิงท้องแก่ใกล้จะคลอด หมายถึงอาการที่จิตเข้าไปสำคัญมั่นหมายด้วย “ความมี ความเป็น” เรียกว่า “ภพ” หมายถึงเมื่อจิตเข้าไปมั่นหมายสิ่งใดก็จะเกิดเป็นอะไร ๆ ขึ้นจริง ๆ จัง ๆ เช่น ยืนยันว่าตนเองกำลังเป็นแม่อย่างหมดจิตหมดใจ ทั้งนี้เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย หลังจากนั้นจิตรู้สึกมีฉันเข้าไปเสวยภาวะความมีความเป็น อันกลายสภาพสำเร็จรูปมาเป็นจิตที่มีความรู้สึกว่ามีตัวตน คือมีตัวฉัน “ตัวฉัน” หรือ  “ตัวกู” เต็มที่ คลอดออกมาด้วยความรู้สึกที่ว่า มีนั่น มีนี่ มีลูกของฉัน ดังแสดงด้วยภาพหญิงกำลังคลอดบุตรออกมาเป็นตัวเป็นตน เรียกว่า “ชาติ”

    และแล้วก็มาถึงห่วงสุดท้ายครับ เรียกว่า “ชรา มรณะ ฯลฯ” แสดงด้วยภาพคนแก่เดินทาง หมายถึงการเข้าแบกเอาความทุกข์ทั้งหมด คือเมื่อมีความรู้สึกว่ามีตัวตนก็จะต้องรู้สึกต่อไปว่า มีฉันเป็นผู้แก่ ฉันเจ็บ ฉันตาย ตามลำดับ จะมีความคับแค้นใจ เศร้าโศกเสียใจ หนักอกหนักใจ ตามมาเป็นลำดับ กล่าวได้ว่าความทุกข์ทั้งสิ้นมีได้ด้วยอาการอย่างนี้

    ขอได้โปรดสังเกตนะคะ จะเห็นได้ว่าการที่มีความรู้สึกทางจิตขึ้นนานาประการดังกล่าวเพราะความรู้สึกว่ามี “ตัวเรา” มี “ของเรา” นี่เอง จะเห็นได้ว่าเพราะ “อวิชชา” ตัวเดียวเท่านั้นที่หนุนเนื่องให้ปรากฏขั้นตอนต่าง ๆ เกิดขึ้นเป็นลำดับ อย่างฉับพลันพร้อมกัน ๆ จนถึงทุกข์ในที่สุด

    ขอเชิญท่านมองไปที่มุมบนสุดด้านซ้ายมือนะคะ  จะเห็นภาพล้อธรรมจักร ๑๒ ซี่  หมายถึงวิธีการที่จะปฏิบัติ เพื่อหลุดพ้นออกมาจากสังสารวัฏฏ์ ซึ่งกักขังปวงสัตว์รวมถึงคนเราไว้ให้จมอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์  ภาพล้อธรรมจักรนี้หมายแทนอริยสัจจ์ ๔ หรือความจริงอันประเสริฐ  ๔ ประการ พร้อมด้วยกิจที่จะต้องปฏิบัติอย่างละ ๓  รวมเป็น ๑๒  ซึ่งหมายถึงการรู้ในทุกข์ ละเหตุแห่งทุกข์หรือสมุทัย  ด้วยการปฏิบัติตามหนทางอันประเสริฐ  ๘ ประการคือริยมรรคจนการหมดสิ้นทุกข์เสียได้ หรือแจ้งในนิโรธ   ด้วยปัญญารู้เท่าทันสภาพ และกระบวนแห่งจิตในทุกขณะ  มีอินทรียสังวรและกำลังพร้อมต่อทุกขณะแห่งผัสสะ มิให้ไหลวนไปตามอำนาจแห่งอวิชชาจนเป็นทุกข์ ค่ะ

logo

  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อเรา
  • จดหมายข่าว
  • Privacy Policy
  • Terms of Service