แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อนิจจา แจกดวงตา เขาไม่รับ
แล้ววิ่งกลับ ไปหัวขาด อนาถหนา
ที่ยอมรับ ไม่กี่คน คนได้ตา
นึกระอา จะใคร่เลิก เบิกตาคน
แต่มีผู้ ร้องขอ ให้รอก่อน
ค่อยผันผ่อน กันไป ให้หลายหน
คงจะมี ผู้อยาก เพิ่มมากคน
ความมืดมนท์ ในโลกา จะซาไป
จึงยับยั้ง ชั่งใจ ได้อดกลั้น
ชักชวนกัน ฟันฝ่า อย่าเหลวไหล
ในการแจก ลูกตา อย่าท้อใจ
ไม่เท่าไร โลกรู้จัก รักลูกตา ฯ
บทกลอนประกอบภาพ “แจกลูกตา” ที่ท่านได้ฟังจบลงไปนั้นท่านพุทธทาสได้แต่งขึ้น สะท้อนความคิดบางส่วนบางตอนของท่านที่มีต่องานการเผยแผ่พุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี จึงขอเชิญชวนท่านมาทำความเข้าใจความหมายของภาพนี้กันสักหน่อยนะคะ
ภาพต้นฉบับดั้งเดิมเป็นภาพที่ท่านพุทธทาสได้ออกแบบขึ้น เป็นลวดลายของภาพประดิษฐ์จากกระเบื้องโมเสกมาเรียงต่อกัน ติดตั้งอยู่บนผนังกำแพงด้านหน้าของอาคารที่ท่านให้ชื่อว่า “โรงมหรสพทางวิญญาณ” ภายในบริเวณสวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ในภาพท่านจะเห็นมีคนนั่งรูปร่างการแต่งกายคล้ายกับฟาโรห์แห่งอียิปต์ แต่ที่แปลกคือมีศีรษะเป็นรูป “ลูกตา” ในมือทั้งสองกำลังยื่นแจก “ลูกตา” ให้แก่ผู้คน ด้านข้างที่นั่งมีภาชนะใบใหญ่บรรจุลูกตาไว้จนเต็มเปี่ยม “ลูกตา” นั้นเปรียบเสมือน “ธรรมะ” คือ “ปัญญา” อันเป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องนั่นเองค่ะ
ต่อไปขอให้ท่านสังเกตหมู่คนสองกลุ่มฝั่งขวาของภาพด้านบนและล่างนะคะ
ขอเริ่มจากด้านบนจะเห็นภาพคนจำนวนมาก สีดำบ้างแดงบ้างราวสิบคน ไม่มีศีรษะ ไม่มีเสื้อผ้าอาภรณ์สวมใส่ กำลังวิ่งหนีคนที่แจก “ลูกตา” ลักษณะสับสนวุ่นวาย คนกลุ่มนี้แทนผู้ที่ไม่สนใจรับ “ธรรมะ” ไปใช้เป็นเครื่องนำทางชีวิต
คราวนี้มาดูภาพด้านล่างบ้าง ท่านจะเห็นภาพคนจำนวนสามคนมีท่าทางต่างกัน คนแรกกำลังนั่งรับ “ลูกตา” จากผู้แจก คนที่สองรับ “ลูกตา” มาแล้วกำลังสวมตาบนศีรษะ ส่วนคนที่สามมีศีรษะเป็น“ลูกตา” เรียบร้อยแล้ว ทั้งสามคนมีเสื้อผ้าอาภรณ์สวมใส่ อากัปกริยาดูสงบงดงาม คนกลุ่มนี้แทนผู้ที่สนใจรับ “ธรรมะ” ไปใช้เป็นเครื่องนำทางชีวิต
ท่านจะเห็นความแตกต่างของคนทั้งสองกลุ่มได้อย่างชัดเจนนะคะว่า กลุ่มคนที่ไม่รับ “ลูกตา” มีจำนวนมากกว่ากลุ่มคนที่รับ “ลูกตา” ในขณะที่คนที่รับ “ลูกตา” ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่านั้นกลับมีเสื้อผ้าอาภรณ์สวมใส่พร้อมทั้งอากัปกริยาที่งดงามกว่า จึงขอเชิญชวนทุกท่านได้ใคร่ครวญจากภาพนี้กันนะคะ
สำหรับห้องที่อยู่ด้านหลังภาพ “แจกลูกตา” นี้คือห้อง “นิพพานชิมลอง” มีความมุ่งหมายให้ท่านได้สัมผัสประสบการณ์ทางธรรมอันก่อให้เกิดความปราโมทย์ ความปิติ ด้วยความสงบเย็นของจิตใจ หรือ “นิพพาน” ซึ่งท่านพุทธทาสเป็นผู้ “ปฏิวัติ” วิธีคิดเกี่ยวกับ “นิพพาน” ว่าไม่ได้ยากหรือไกลตัวอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ แท้ที่จริงแล้วนิพพานอยู่ใกล้แค่ปลายจมูก ยามที่เราไม่เห็นแก่ตัว มีสติสงบเย็น ก็เท่ากับว่าเราได้ลองชิมนิพพานแล้ว เป็นนิพพานน้อยๆ ชั่วขณะ นิพพานที่นี่เดี๋ยวนี้
จึงขอเชิญชวนท่านได้เข้าไปในห้องนี้เพื่อลองชิม “นิพพานชั่วขณะ” จากภาวะของจิตใจที่สงบเย็น ว่างจากความโลภ โกรธ หลง ด้วยการมีสติรู้ตัวทั่วพร้อมทุกลมหายใจเข้า – ออก ของอิริยาบทของร่างกาย ยืน เดิน นั่ง หรือที่เรียกว่า “อานาปานสติ” นั่นเองคะ