แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ภาพชุดทั้ง ๔ ภาพที่ท่านเห็นอยู่นี้ เป็นเรื่องราวจากนิทานโบราญที่เล่าสืบ ๆ กันมานะคะ ภาพได้สะท้อนมุมมองการใช้ชีวิตของคนอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ได้เป็นอย่างดีในทุกยุคทุกสมัย แม้กระทั่งปัจจุบัน เรามาติดตามกันเลยนะคะ
ขอเริ่มจากภาพซ้ายมือ ภาพที่หนึ่ง ด้านบนของภาพจะเห็นพระพรหมองค์สีดำมีสี่หน้า เป็นผู้ที่บันดาลสร้างโลกนี้ขึ้นมา หลังจากที่ได้สร้างโลกนี้ขึ้นมาแล้ว พระพรหมเห็นว่าโลกนี้ขาดความสวยงามน่าดู จึงได้เริ่มสร้างคนขึ้นมาโดยปั้นมาจากดิน และระบายลมปราณเข้าทางจมูก คนจึงได้ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกใบนี้ ท่านจะเห็นภาพคนนั่งถัดลงมาด้านล่างจากองค์พระพรหม นะคะ
คนที่ถูกปั้นขึ้นมานี้ ไม่รู้ว่าตัวเป็นอะไร? เกิดมาทำไม? มีหน้าที่ทำอะไร? จึงได้ถามพระพรหมว่า เขาเป็นใคร? พระพรหมตอบว่า ให้เรียกตัวเองว่า “คน” คนก็ถามต่อว่า ให้เขามีหน้าที่อะไร? และให้มีอายุเท่าใด? พระพรหมจึงตอบว่า ให้มีหน้าที่สร้างโลกให้สดสวยงดงามน่าอยู่ มีความสันติสงบร่มเย็น และเมื่อมีอายุครบ ๓๐ ปีแล้ว จึงตายจากโลกนี้ไป
วันต่อมา พระพรหมเห็นว่าสร้างคนขึ้นมาแล้ว ยังไม่มีผู้รับใช้มาทำงานหนักให้คน จึงได้สร้างวัวขึ้น เรื่องราวได้ดำเนินไปเช่นเดียวกับคน คือให้เรียกตัวเองว่า “วัว” มีหน้าที่ทำงานหนักรับใช้คน ไปจนมีอายุครบ ๓๐ ปีเท่ากับคน เมื่อหมดหน้าที่แล้วจึงตายตามคนไป แต่วัวเห็นว่าการที่ต้องทำงานหนักให้คนถึง ๓๐ ปีนั้น มันมีแต่ความยากลำบากไม่น่าสนุกที่ตรงไหน จึงขอลดอายุให้เหลือเพียง ๑๐ ปีก็เพียงพอแล้ว ฝ่ายคนพอทราบเรื่องจึงทูลพระพรหมขออายุวัวที่เหลือ ๒๐ ปีนั้น มาเพิ่มให้ตน จาก ๓๐ ปี เป็น ๕๐ ปี พระพรหมก็ประทานตามคำที่คนขอ ดังที่เห็นภาพพระพรหม คน และวัว ด้านล่างของภาพซ้ายสุด นะคะ
ต่อมา พระพรหมมีความเห็นว่าการสร้างวัวเพื่อช่วยคนทำงานหนักแล้ว ยังไม่มีใครช่วยรับผิดชอบต่อทรัพย์สินเงินทองที่เกิดขึ้นจากการทำงาน จึงได้สร้างหมาขึ้นมา และในทำนองเดียวกันกับการสร้างวัว ให้เรียกตัวเองว่า “หมา” มีหน้าที่เฝ้าทรัพย์สมบัติให้คน โดยไม่ต้องหลับต้องนอนกันตลอดอายุ ๓๐ ปี หมาเองก็สู้ไม่ไหว จึงขอลดอายุให้เหลือเพียง ๑๐ ปี ฝ่ายคนเมื่อเห็นว่าพระพรหมตามใจตนจึงเกิดความโลภใหญ่ คลานเข้าไปหาเพื่อขออายุ ๒๐ ปี ที่ลดให้หมามาเพิ่มให้ตัวเป็น ๗๐ ปี พระพรหมก็ยอม ดังที่เห็นภาพพระพรหม คน และหมา ในส่วนบนของภาพที่สองนั่นเองค่ะ
คราวนี้ลงมาดูภาพด้านล่างกันบ้างนะคะ ท่านจะเห็นภาพพระพรหม คน และลิง ภาพนี้เล่าเรื่องราวของวันต่อมา คือพระพรหมก็เจ้ากี้เจ้าการต่อไปด้วยเป็นห่วงว่า คนยังไม่มีสิ่งที่ทำความขบขันให้บันเทิงเริงใจ จึงสร้างลิงขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่นี้ และเช่นเคยลิงก็สู้ไม่ไหวที่จะเป็นตัวตลกให้คนหัวเราะอยู่ตั้ง ๓๐ ปี จึงขอลดอายุของตนให้เหลือ ๑๐ ปี คนก็อดไม่ได้ที่จะเข้าไปขออายุที่ลิงขอคืนพระพรหมไป ๒๐ ปี มาเพิ่มให้ตัวเอง มาถึงตอนนี้คนจึงมีอายุรวมเป็น ๙๐ ปี ครั้นแล้วพระพรหมก็หยุดสร้างเพราะเริ่มทนกับการขอแล้ว ขออีก ของคนไม่ไหว
เริ่มจากภาพที่สาม ในที่สุดทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นไปตามที่คนได้ขอพระพรหมไว้ ภาพด้านบนแสดงให้เห็นถึงชีวิตของคนเรานั้น ตั้งแต่แรกเกิดจนอายุ ๓๐ ปี ดูว่าช่างเป็นชีวิตที่สนุกสนาน ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรทั้งสิ้น วันหนึ่งๆ มีแต่เรื่องกิน เรื่องเล่น เพลิดเพลินเจริญใจ แวดล้อมไปด้วยกามารมณ์ ไม่รู้เลยว่าตัวเองเกิดมาทำไม
ความประพฤติเหล่านี้จึงผิดต่อหลักการดำเนินชีวิตของชาวอินเดียโบราญ ในคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ ซึ่งแบ่งช่วงระยะของชีวิตของคนเป็น ๔ ระยะที่เรียกว่า “อาศรม ๔” นะคะ
สำหรับคนในช่วงอายุไม่เกิน ๓๐ ปีนี้จัดว่าอยู่ในอาศรมแรกเรียกว่า “พรหมจารี” คัมภีร์กำหนดให้ต้องมุ่งศึกษาเล่าเรียน ถือพรหมจรรย์ โดยในวัยนี้ความทุกข์อย่างผู้ใหญ่ยังไม่มีมาก ดังจึงพอจะเรียกได้ว่าเป็นอายุของคนที่แท้จริงตามที่พระพรหมได้สร้างมาแต่ต้น นั่นเองคะ
ต่อไปเป็นภาพถัดลงมาด้านล่าง ท่านจะเห็นเป็นภาพคนมีศีรษะเป็นวัวกำลังลากเกวียน แสดงให้เห็นถึงช่วงอายุของคนตั้งแต่ ๓๐ ถึง ๕๐ ปีที่ไปขออายุของวัวมา จึงต้องแบกแอก ลากไถ ต้องทำงานหนัก อาบเหงื่อต่างน้ำ เพราะต้องรับผิดชอบเรื่องลูก เรื่องสามี เรื่องภรรยา และภาระทั้งหลายที่ผู้ครองเรือนจะต้องทำ ดำเนินชีวิตไม่เป็น มัวสาละวนแต่จะทำงานหนักเพื่อหาเงิน ชนิดไม่รู้ว่าแค่ไหนจึงจะพออยู่นั่นเอง
สำหรับวัยอายุตั้งแต่ ๓๐ ถึง ๕๐ ปีนั้น ในคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ระบุให้เป็นอาศรมที่สองเรียกว่า “คฤหัสถ์” โดยความประพฤติที่ถูกต้องสำหรับช่วงอายุนี้คือการบริโภคกามอันประณีต รู้จักสิ่งที่เรียกว่ากามารมณ์มากพอจนจิตใจเลื่อนขึ้นพ้นจากการเป็นทาสของมัน และควรได้รับรสของสิ่งที่เหนือกว่า จนเห็นกามารมณ์เป็นของจืดชืด
ต่อไปเป็นภาพด้านขวาสุด ภาพที่สี่ด้านบนของภาพจะเห็นหมานั่งเฝ้าถุงเงิน หีบสมบัติ แสดงให้เห็นช่วงวัยระหว่าง ๕๐ ถึง ๗๐ ปี อันเป็นช่วงที่ตนไปขออายุของหมามาจากพระพรหม จึงมีอาการเหมือนหมา คือ เป็นห่วงทรัพย์ ห่วงลูก ห่วงหลาน จนนอนตาไม่หลับ เพราะเป็นโรคขาดธรรมะ จึงไม่รู้จักปล่อยวาง เมื่อมีทรัพย์ที่เกิดจากการแสวงหามาด้วยความเหนื่อยยากอย่างเอาชีวิตเข้าแลกเหมือนวัวงาน ทรัพย์สมบัติเหล่านั้นก็ทับถมสุมกันอยู่บนหัวของคนโง่ จนนอนตาไม่หลับในที่สุด ดึกดื่นคนวัยนี้ก็ยังคงคิดโน่นคิดนี่ นั่งวาดโครงการ นั่งนับเงินนับทอง หรือคิดกำไรขาดทุน อยู่อีกไม่จบไม่สิ้น
ซึ่งในช่วงอายุ ๕๐ ถึง ๗๐ ปีนี้ จัดอยู่ในอาศรมที่สามเรียกว่า “วนปรัสถ์” ความประพฤติที่ถูก ที่ควร คือการนึกคิด หันมองด้านภายในของจิตใจ การปรีกวิเวกอยู่ในความสงบ ปล่อยวางสิ่งร้อยรัดพันผูกต่าง ๆ ให้จางคลายออกไป
คราวนี้ก็มาถึงช่วงท้ายปลายชีวิตกันแล้วนะคะ คือช่วงอายุระหว่าง ๗๐ ถึง ๙๐ ปี ที่คนขออายุมาจากลิง ขอให้ท่านดูภาพถัดลงมาด้านล่าง จะเห็นภาพลิงหลังค่อมถือไม้เถ้า เปรียบได้กับคนแก่ที่เดินจึงงกๆ เงิ่นๆ มีอาการหลงๆ ลืมๆ กินแล้วก็ว่าไม่ได้กิน ให้เป็นที่ขบขันแก่ลูกหลาน เหมือนกับว่าเด็ก ๆ เหล่านั้นได้เห็นลิง แล้วก็ตายจากโลกนี้ไปแบบไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม ปิดฉากชีวิตลงด้วยความระทมทุกข์ แทนที่จะได้รับ “สิ่งที่ดีที่สุด” ที่สมควรพึงได้รับ
ในช่วงอายุสุดท้ายนี้คืออาศรมที่สี่เรียกว่า “สันยาสี” สิ่งที่ถูกต้องคือการเป็นมัคคุเทศก์ทางวิญญาณ ปราดเปรื่องไปด้วยความรู้ ความจัดเจนในชีวิต ทุกแง่ทุกมุม เป็นที่ปรึกษาให้แก่ลูกหลาน เป็นผู้แจกจ่ายธรรมะที่ตนเองกำลังดื่มกินอยู่ ไม่ทำตัวเองให้เป็นภาระที่น่ารำคาญ และเป็นที่ขบขันต่อลูกหลานเป็นที่สุด
สุดท้ายมาลองทบทวนกันอีกสักครั้งนะคะว่า ผู้ที่อยู่ในอาศรม “พรหมจารี” จงปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในระเบียบแบบแผน ศึกษาเล่าเรียน และถือพรหมจรรย์ ส่วนผู้ที่อยู่ในอาศรม “คฤหัสถ์” ก็เป็นอยู่ให้พอดี เมื่อมีหลักฐาน ทรัพย์สมบัติ ก็รู้ว่าสิ่งเหล่านี้ต้องเป็นทาสรับใช้เรา ไม่ใช่มาเป็นนายเหนือหัวเรา จึงจะสามารถเอาเวลามาแสวงหาความสุขทางจิตเพ่งมองแต่ด้านในอันอยู่ในอาศรม “วนปรัสถ์” ได้
แล้วชีวิตก็จะจบลงด้วยอาศรมสุดท้ายคือ อาศรม “สันยาสี” ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณธรรมแห่งผู้สูงอายุ เป็นที่เลื่อมใสและควรแก่การบูชา จนเด็กๆ ไม่สามารถที่จะหัวเราะเยาะได้ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทั้งยังจะทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นอย่างมากมายกว้างขวางไม่มีที่สิ้นสุด
แล้วตัวท่านละ มีวัยอยู่ในอาศรมใด และดำเนินชีวิตกันอย่างไรบ้างคะ