แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
[00:03] เราได้เข้ามา ณ สถานที่นี้บ้านบุญแล้ว แล้วก็ด้วยเจตนาที่จะได้ปฏิบัติธรรมด้วยกันปฏิบัติร่วมกัน เริ่มวันนี้แล้วก็มีวันศุกร์วันเสาร์วันอาทิตย์แต่เช้า ตอนเช้าก็จบ ก็เป็นโอกาสที่ดี พลิกตัวออกจากภาระหน้าที่หรือการพัวพันอยู่กับโลก หรือภายในคือมีหน้าที่หรือภาระต่างๆ จะเป็นเรื่องการงานก็ดี เป็นเครื่องครอบครัวก็ดีก็วางไว้ก่อน แล้วก็ใช้เวลาในการตั้งสติน้อมระลึกถึงธรรมะของพระพุทธเจ้า ว่าเราจะทบทวนธรรมะที่รู้ ดีไม่ดีก็จะได้ฟัง ของใหม่ที่ยังไม่รู้ก็ไม่แน่ใจ แต่ก็เป็นโอกาสที่ดี เป็นโอกาสที่ฝึกการปฏิบัติ เรามีโอกาสทำวัตรเย็น นั่งสมาธิ เดินจงกรม ทำวัตรเย็น ทำวัตรเช้า นั่งสมาธิ เดินจงกรม ก็เป็นกิจวัตรของผู้ปฏิบัติ เป็นสิ่งที่สมควร สมควรทำสมควรฝึกสมควรหัด
ในวันนี้เราได้สมาทานศีล เป็นการระลึกถึงสิ่งที่เป็นขอบเขตของการกระทำและการพูดของเรา ซึ่งช่วยให้เราอยู่ในขอบเขตที่ปลอดภัย ปลอดภัยปลอดโปร่งไม่มีอะไรที่น่าเศร้าหมองให้เกิดขึ้น เพราะเราอยู่กับเพื่อนที่รักษาศีลด้วยกัน ที่จะเกิดความเศร้าหมองหรือความวุ่นวายภายในจิตใจเรื่องของเจ้าของล่ะ แต่ว่าเรื่องดีเพราะว่าอันนี้เป็นผลอย่างหนึ่ง เพราะบางทีเราคิดว่าจะเข้าไปปฏิบัติธรรม มุ่งในการปฏิบัติแล้วจิตใจจะสงบ มันไม่แน่นอนไม่ตายตัว แต่ถ้าหากว่าเกิดความรู้สึกเศร้าหมองในลักษณะไหน จะเป็นโดยความพอใจก็ดีไม่พอใจก็ดี โดยความฟุ้งซ่านวุ่นวายก็ดี หรือแม้แต่โดยความง่วงเหงาหาวนอนก็ดี มันก็เป็นเรื่องภายในที่เราสามารถที่จะศึกษาและเข้าใจ
อันนี้เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตใจที่เราต้องเอาเป็นข้อมูลในการฝึกตัวเอง ทำให้ตัวเองมีความเฉลียวฉลาดในการแก้ปัญหา ทำให้เรามีความเฉลียวฉลาดในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น แต่ว่าที่จะได้แก้ไขมันก็ต้องเห็นก่อนต้องเข้าใจก่อน คือมันตามลำดับของการปฏิบัติของพระพุทธเจ้า ต้องเข้าใจในความทุกข์ก่อนถึงจะเข้าใจในเหตุ แล้วเราจะได้แก้ไขที่เหตุ เพราะโดยปกติที่เราทำเกิดอุปสรรคอย่างใดอย่างหนึ่งก็มักจะโทษผู้อื่นก็ดีโลกภายนอกก็ดี หรือโทษเจ้าของก็มี ก็สุดแล้วแต่ แต่มันก็ เราพยายามที่จะผลักออก แต่ที่จริงถ้ายังไม่เข้าใจในรากลึกของมันจริงๆ มันก็ยากที่จะแก้ไขมันก็ยังอยู่เหมือนเดิม แต่เราพยายามอยู่อันนี้เป็นเหตุ
[05:44] เหตุอย่างหนึ่งในการปฏิบัติธรรมก็อยู่ด้วยความสำรวมด้วยวาจา ไม่น่าจะพูดเลย แต่ว่ายอมรับคนไทยปิดวาจายากเหลือเกิน ไม่รู้มันประจำนิสัยประจำสังคม แต่ว่าพูดมากแค่ไหนมันก็วุ่นวายเท่านั้น ถ้าเราปรารถนาอยากจะได้ผลของการปฏิบัติการภาวนาครั้งนี้ ขอให้ได้มีการสำรวมวาจาของเรา เรื่องคนอื่นเขาจะพูดมันเป็นเรื่องของเขา แต่เรา เรารักษาของเรา คือถ้าเขาจับกลุ่มกันคุยตรงนี้เราก็ไม่ต้องไปดูว่าเขาพูดเรื่องอะไรอยากรู้ เราก็หลีกเลี่ยงพยายามรักษาความสำรวมของเรา คือมันเปิดช่องของการเคลื่อนไหวของจิต เพราะจะพูดมันก็ต้องคิดเสียก่อน จิตต้องเคลื่อนไหวเสียก่อน เลยพยายามสนับสนุนให้มีการเคลื่อนไหวของจิตใจให้น้อยลง มันช่วยได้ยากนะ เลยเป็นแง่หนึ่งที่สำหรับการปฏิบัติการภาวนาให้ความสนใจในแง่ที่เป็นกติกา
เราอยู่กันกี่ปีๆ กี่สิบปี ก็พูดมาเยอะแล้ว ก็พักเสียหน่อยก็ดีไม่กี่วัน อาตมารับรองไม่มีใครตายสักคนหนึ่งถ้าไม่พูด ไม่เคยนะประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ในประวัติไม่เคยมี เราพยายามทดลองดู แต่ในการทดลอง คือมันมีกระแสของอยากพูดหรือมันอยากแสดงออกซึ่งความคิดความเห็นอย่างไรบ้าง มันขึ้นมาในจิตใจ ตัวอันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องให้ความสนใจ เพราะจะได้เข้าใจในกระแสหรือที่เราเรียกว่า กระแสของตัณหา จะเป็นกามตัณหาก็ดี ภวตัณหาก็ดี เป็นวิภวตัณหาก็ดี มันเป็นการเคลื่อนไหวของจิต คือมันอยาก อยากในการสนองอารมณ์อยากในการอยากมีอยากเป็นอยากรู้เรื่องในสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เป็นเกี่ยวกับโลกภายนอก หรือบุคคลภายนอก หรือกำลังอยากแสดงออกซึ่งความเห็นของตัวเองมันก็เป็นภวตัณหา อยากมีอยากเป็นอยากให้คนอื่นดูว่าเราเป็นในลักษณะไหน หรือเราไม่อยากมีไม่อยากเป็นไม่อยากให้เป็นอย่างนี้ไม่อยากให้เป็นอย่างโน้น ก็ต้องพูดบ่นอยู่เรื่อย แต่มันเกิดออกจากการเคลื่อนไหวของจิตใจที่ผลักถูกผลักดันด้วยตัณหาในรูปแบบต่างๆ พระพุทธเจ้าบอกชัดเจนว่านี่คือเหตุที่จะเกิดความทุกข์
[10:35] ที่เราได้มาปฏิบัติกัน เข้ามาปฏิบัติเพื่อเรียนรู้ในเรื่องของทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ เพื่อลิ้มรสของการดับทุกข์ ไม่ใช่เพื่อหมักหมมอยู่ในความทุกข์ เพื่อลิ้มรสของการดับทุกข์ แล้วก็ได้เกิดความชำนิชำนาญในหนทางที่ช่วยให้เกิดการดับทุกข์ให้ได้ ส่วนหนึ่งศีลที่เรารักษา ศีล 8 ก็เป็นส่วนหนึ่งของหนทางที่จะช่วยดับทุกข์ การที่ได้เข้ามาสมาทานศีลกันจึงเป็นเหตุ คือนอกจากการตั้งขอบเขตของเรา ยังเป็นอุปกรณ์เป็นเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนการภาวนาการปฏิบัติของเรา คือแทนที่จะคิด คือมันก็เป็นหน้าที่ๆ จะต้องยอมทำ แต่เราคิดในลักษณะที่เป็นสิ่งที่ช่วยเรา เป็นแง่หนึ่งในการที่มีเช่น การทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น มีการเดินจงกรม นั่งสมาธิ การฟังธรรมะ เป็นสิ่งที่สนับสนุนทำให้เราน้อมระลึกถึงธรรมะคำสั่งสอน แล้วก็ช่วยพิจารณาเรื่องความรู้สึกภายในจิตใจของเรา
แต่ก็ในเวลาที่เราเดินจงกรมนั่งสมาธิ เราต้องให้ความสนใจกับการฝึกให้มีสติให้ได้ ศีลก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เรามีสติ เพราะว่าทำให้การพูดการกระทำเรียบง่าย หรือกฎกติกาที่เรามีที่จะอยู่ด้วยกันช่วยให้มีความเรียบง่ายในการเป็นอยู่ของเรา เป็นสิ่งที่สนับสนุนการภาวนา เพราะปูพื้นฐานของความเรียบง่ายในระยะเวลานี้ แล้วก็อาศัยหลายๆ คนช่วยกัน อาศัยหลายๆ คนสนับสนุนกัน ก็เป็นกำลังของหมู่คณะมันก็ดี เป็นแง่หนึ่งของการร่วมภาวนาร่วมปฏิบัติที่มีประโยชน์มาก ก็ได้อาศัยกัลยาณมิตรกัน ในการรักษาศีลเรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งคือรักษากายกับวาจา
แต่ในที่สุดที่เรารักษากายกับวาจาเพื่อเข้าใจในการเคลื่อนไหวของจิตใจเรา จะได้เป็นผู้มีสติกำกับอยู่ แต่ว่าที่เรียกว่าสติกำกับ ไม่ใช่สติบังคับ มันก็เป็นคนละประเด็น เพราะบางครั้งเราก็อยากบังคับจิต พอมันพยายามที่จะบังคับจิต เช่น หลายคนเหลือเกินไม่ว่าจะเป็นคนไทยไม่ว่าจะเป็นฝรั่ง นั่งสมาธิลำบาก มันหยุดคิดไม่ได้เลย พยายามเท่าไหร่ที่จะไม่คิดมันก็ยังฟุ้งซ่านอยู่ แต่ปกติที่จะฟุ้งซ่านก็เพราะว่าอยากจะบังคับจิต อยากบังคับให้มัน ให้จิตไม่คิด บังคับจิตให้นิ่ง ไม่มีทางจะสำเร็จได้ เราต้องอาศัยสติรู้ รู้เท่าทันอารมณ์ รู้รอบคอบในอารมณ์นั้น อย่างนั้นจิตมันจะค่อยสงบเอง แต่ถ้าเรายิ่งบังคับก็ยิ่งไม่นิ่ง
เหมือนกับเช่นเราดูแก้วน้ำที่ตั้งอยู่ตรงนี้ตั้งต่อหน้า คือน้ำในแก้วมันก็นิ่งดี นิ่งดีเพราะอะไร เพราะเราไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับมัน มันก็นิ่ง แต่พอเรายกขึ้นมาอาจจะต้องพยายามให้นิ่งจะต้องบังคับให้แก้วนั้นมันนิ่ง เราต้องจับให้แน่นเพื่อให้มันนิ่งไม่ให้มันกระดุกกระดิกยังไงก็ทำไม่ได้ แต่เวลาเราวางเอาไว้แล้วค่อยกำหนดรู้ แป๊บเดียวไม่นานมันก็นิ่ง แต่นี่การดูจิตใจของเราเช่นเดียวกัน คือจะบังคับ บังคับจิตเหมือนกับจะบังคับแมว มีใครสำเร็จไหมบังคับแมวให้ทำตามใจเรา ให้แมวอยู่ในขอบเขตที่เราตั้งเอาไว้ มันไม่มีทาง เขาไม่ชอบอยู่ในกรอบของผู้อื่น จิตก็อยู่ในลักษณะใกล้เคียงกัน แต่ว่าสามารถที่จะฝึกให้นิ่งให้ปลอดโปร่งมีสติมีปัญญาพร้อมที่จะสร้างภาวะของความสงบและปลอดโปร่งไหม แน่นอน อันนี้เป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ว่ามันไม่ได้อาศัยการบังคับมันอาศัยการเป็นผู้รู้ ตัวนี้ตัวสำคัญมาก
[18:01] หน้าที่ของชาวพุทธเราขอให้ได้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ในเวลานี้ในปัจจุบันนี้ และก็คอยต่อเนื่องเรื่อยๆ จะได้มีพื้นฐาน หรือมีกำลังของคุณธรรมที่เอนเอียงเข้าสู่ความสงบโดยธรรมชาติ เพราะจิตอยากนิ่งอยู่แล้ว หรือที่มันอยากวุ่นวายมันดูแล้วมันไม่ได้เกิดจากจิตใจที่ปลอดโปร่งหรือจิตใจที่มีความหวังดีต่อตัวเอง มันก็ได้ แต่เราพยายามที่จะได้เริ่มต้นก่อน ที่สมาทานศีลก็ได้น้อมระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งเป็นสรณะของเรา คือในแง่หนึ่ง อันนี้เป็นแกนของการภาวนาหรือการปฏิบัติของเรา ที่เราปฏิบัติไม่ใช่เพื่อได้ฌาน ได้วิชาการรู้ หรือได้การหลุดพ้นอย่างนี้อย่างนั้น เพื่อเอาไปบอกให้ผู้อื่นนำไปอวด เพื่อให้มีที่พึ่งจริงๆ ให้เป็นผู้ที่มีความเคารพนับถือต่อพระพุทธเจ้าเป็นสรณะจริงๆ
พระพุทธเจ้าคือในแง่เรื่องภายนอก ก็เป็นพระพุทธเจ้าในประวัติศาสตร์ซึ่งก็เป็นบุคคลที่ได้พอจะเหมือนในพระสูตรและในพระวินัย พอจะมีความรู้สึกว่าท่านเป็นบุคคลอย่างไร เป็นพิเศษแค่ไหน ก็เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์จริงๆ ว่ามี จะว่าเป็นสัตบุรุษที่สามารถฝึกตนให้ได้หลุดพ้นจริงๆ ได้เป็นผู้นำของคนได้สอนได้แจงได้ธรรมะที่ถูกต้องได้ก็เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ หน้าปิติอิ่มเอิบว่าเราได้โอกาสเกิดมาเป็นชาวพุทธ เกิดมาสัมผัสธรรมะคำสั่งสอนของท่าน ก็เป็นเรื่องที่คิดแล้วมันก็น่าอิ่มเอิบ เราคิดในลักษณะหนึ่งพระพุทธเจ้าภายนอกก็เป็นส่วนหนึ่งที่น่าน้อมระลึกถึง แต่ว่าที่ยิ่งสำคัญกว่าก็พระพุทธเจ้าภายใน ภาวะของพระพุทธเจ้า ก็อย่างที่เราสวดกัน ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน นี้เป็นภาวะ หรือเป็นลักษณะเอกลักษณ์ของพระพุทธเจ้า คืออาศัยการรู้ รู้เท่าทันสิ่งที่เกิดขึ้น รู้รอบคอบในสิ่งที่เกิดขึ้น จะเป็นเรื่องภายนอกก็ดีเรื่องภายในก็ดี เรื่องกายก็ดี เรื่องใจก็ดี เรื่องสิ่งที่ละเอียดก็ดี สิ่งหยาบก็ดี มันก็รู้อยู่ รู้ว่าเป็นอย่างนั้นมีลักษณะอย่างนั้น ก็เรียนรู้อยู่
เรารู้แล้วมันก็ เราสามารถที่จะ คือถ้ารู้จริงๆ อย่างที่หลวงพ่อชาชอบพูดว่า คือ รู้แล้ว มันก็แค่นั้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่น่าเศร้าสมอง ไม่ได้เป็นสิ่งที่น่าหวั่นไหวอะไร มันเป็นอย่างนั้นมันแค่นั้น รู้อยู่ไม่ใช่ว่าเราไม่รู้ ไม่ใช่ว่าเราไม่เอาใจใส่ ไม่ใช่ว่าเราไม่สนใจ แต่ในที่สุดมันก็แค่นั้น มันสามารถที่จะไม่หลง แล้วก็ไม่ถือสาในสิ่งที่มาในลักษณะที่น่าดีใจเราก็รู้อยู่ มาในลักษณะสิ่งที่ไม่น่าดีใจมันก็รู้อยู่
อย่างวันนี้เปลี่ยนนำการปฏิบัติธรรมที่บ้านบุญไม่รู้กี่ปีน่าจะ 20 กว่าแล้ว ตั้งแต่สร้างบ้านบุญใหม่ๆ ได้เริ่มรับนิมนต์จากโยมแต๋วให้สอนธรรมะนำการปฏิบัติธรรมทำมานาน แต่วันคืนล่วงไปๆ สังขารของอาจารย์ก็แก่ไปๆ เราจำเป็นต้องนั่งเก้าอี้ร่างกายมันไม่ให้จริงๆ แต่ว่าเราก็ต้องรู้อยู่แล้วก็วาง คือบางครั้งเราก็ฝืนก็จริงอยู่ แต่ว่ามันรับโทษทันที มันบ่งบอกอยู่ต้องยอมรับ แต่รู้อยู่ มันก็เป็นอย่างนั้นในที่สุดมันก็แค่นั้น ร่างกายมันมีขอบเขต มันมีน้อยคนที่จะมีสุขภาพดีแข็งแรงแล้วก็อยู่ถึง 100 ปี
คุณแม่ของอาตมาเองแกนี่คนผิดปกติจริงๆ ร่างกายก็แข็งแรงดีสำหรับคน 100 ปี ปีนี้น้องๆ ก็ได้ฉลอง 100 ปี จะพาแม่ไปออกตีกอล์ฟ แม่ก็ยังสบายจิตใจก็เบิกบานความจำก็ดี ก็ต้องระมัดระวังแม่เพราะว่าพรวดพราดเดี๋ยวแม่ก็เอาเรื่อง แต่อย่างนี้เรียกว่าผิดปกติทั่วๆ ไป แล้วอย่างไรก็ตาม 100 ปี ก็อีกไม่นาน ประคับประคองเอาไว้ไม่ได้ สังขารมีขอบเขต เราก็ดูก็แค่นั้น ที่ได้อย่างนั้นก็น่าดีใจ แต่ว่าจะหวังให้เป็นดีกว่านั้นหรือออกจากกฎแห่งธรรมชาติมันก็เป็นไปไม่ได้ เราต้องยอมรับ ยอมรับก็สบาย ยอมรับโดยผู้รู้ เราไม่สร้างความเป็นตัวเป็นตนในสิ่งเหล่านั้น
เหมือนกับ คือสมัยพุทธกาลก็มีพระสูตรชุดหนึ่งที่พระพุทธเจ้ากำลังนั่งในป่า นั่งสมาธิปลีกวิเวกอยู่ ก็มีพราหมณ์คนหนึ่งเดินมาเห็นรอยเท้าของพระพุทธเจ้า แล้วเห็นว่าอย่างนี้เป็นคนที่มีลักษณะของผู้มีบุญพิเศษ ต้องไปตามดูว่าคือใคร ตามไปดูเห็นพระพุทธองค์กำลังนั่งสมาธิใต้ต้นไม้ ก็ได้ขึ้นไปเข้าใกล้พระพุทธองค์ กราบลงแล้วก็ได้ถามดูว่า คือถามว่าเป็นใครเป็นอะไร ท่านเป็นเทวดาไหมเพราะเห็นว่าเป็นผู้มีบุญ พระพุทธเจ้าบอกว่าเปล่า ไม่ใช่ ท่านเป็นนาคไหม เพราะท่านเหมือนกับเป็นอะไรเป็นพรหมไหมปรากฏในโลก พระพุทธเจ้าบอกไม่ใช่ ไม่ แล้วท่านเป็นมนุษย์ไหม ไม่ แล้วท่านเป็นอะไร พระพุทธเจ้าบอกเราเป็น พุทธะ เป็นผู้รู้ ภาษาบาลี พุทธัสมิง เราเป็นพุทธะ เป็นผู้รู้ เป็นผู้ตื่น เป็นผู้เบิกบาน หรือเป็นผู้ตื่น ยิ่งโดยเฉพาะในความหมายนั้น เราเป็นผู้ตื่นแล้วในโลกที่ชอบหลับอยู่เพลินอยู่กับโลก เราเป็นผู้ที่ตื่นไว้เต็มที่แล้ว แต่ทั้งหมดคือเราเป็นพุทธะ อันนี้เป็นภาวะที่เรา หรือลักษณะของพระพุทธองค์ที่เป็นที่พึ่งเป็นสรณะ
[29:57] ทุกคนสามารถที่จะสัมผัสได้ คือภายในจิตใจของมนุษย์เราเกิดมา เรามีผู้รู้อยู่ เรามีผู้ตื่น มีผู้เบิกบาน จะใช้อยู่หรือจะสนับสนุนอยู่ หรือจะไม่เอาใจใส่กับมัน แล้วก็เอาใจใส่กับอารมณ์หงุดหงิดวุ่นวาย หรือเศร้าหมองในลักษณะต่างๆ ซึ่งมนุษย์ส่วนมากก็เอาอย่างนั้น แต่ขึ้นอยู่กับการเลือกของเรา ในฐานะที่เป็นผู้ปฏิบัติกันก็เป็นโอกาสที่เลิศประเสริฐจริงๆ สามารถที่จะเลือกเอามีที่พึ่งเอาสรณะในภาวะผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน หรือทำให้มีความหมาย พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ มีความหมายที่ลึกซึ้งมาก คือมีกำลังใจ เราสามารถที่จะพลิกออกจาก ความไม่สงบของเรา หรือความทุกข์ของเรา หรือความวุ่นวายในชีวิตของเรา สามารถที่จะพลิกออกได้ เข้าสู่การเป็นผู้มีที่พึ่งจริงๆ เราสามารถที่จะทำได้เพราะมันอยู่กับเราอยู่ตลอด
เช่นเดียวกันธรรมะมันแค่การมีที่พึ่งในพระพุทธเจ้าหรือภาวะของพระพุทธเจ้า เป็นผู้รู้ เป็นผู้ตื่น เป็นผู้เบิกบาน เวลาที่เราเอาธรรมะเป็นที่พึ่งก็อยู่ที่เราเอาที่พึ่งในหลักของความเป็นจริง หรือเรียกว่าสิ่งที่เป็นลักษณะของความจริงในโลกนี้ เช่นที่พระพุทธเจ้าสอนทุกอย่างอยู่ในภาวะอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีความไม่เที่ยงครอบงำ มีความทุกข์ครอบงำ มีอนัตตาความไม่เป็นตัวเป็นตนไม่เป็นเราเป็นเขาครอบงำ ลักษณะของธรรมชาติก็อยู่อย่างนั้น เมื่อเรายอมรับเป็นอย่างนั้นง่ายๆ ที่จะกลับมามีความรู้สึกว่า มันก็แค่นั้น เห็นอะไรละเอียดแค่ไหนหยาบแค่ไหน มันก็เป็นของไม่เที่ยงเป็นของทุกข์ของอนัตตา ไม่ก็ตกใจไม่ตื่นเต้น แต่อยู่กับผู้รู้
หรืออย่างหลวงพ่อชาเวลาถูกถามธรรมะ ธรรมะคืออะไร หลวงพ่อชาว่า ธรรมะคือความถูกต้อง ก็เป็นสิ่งที่น่าคิดอยู่ อย่างไรมันก็ อะไรที่มันถูกต้องก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะเมื่อเราเข้าใกล้ความถูกต้อง ผลที่ปรากฏคืออะไร อาตมาว่าก็มีความสงบ มีความสว่าง มีความเบิกบานอยู่ มันก็เป็นผลธรรมชาติของเวลาเราตั้งอยู่ในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ขัดแย้งกับสิ่งที่ถูกต้อง เมื่อเราขัดแย้งกับสิ่งที่มันถูกต้องอยู่แล้วมันก็จะรู้สึกอึดอัด หรือจะเกิดความวุ่นวายเกิดความเศร้าหมองอย่างใดอย่างหนึ่ง เราก็กลับมาหาหลัก อันนี้ถูกต้องแล้วมันก็สบาย
หรืออย่างหลวงพ่อชาตีความเรื่องธรรมะอีกแบบหนึ่ง แบบง่ายๆ ธรรมะคือความพอดี มันก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ มันเป็นเพราะว่ามันไม่ได้อยู่กับ อืม เช่นเราเพื่อจะได้เห็นธรรมะเราต้องเป็นผู้เร่งภาวนาต้องเป็นผู้สู้เอาๆ เอาเป็นเอาตายจริงๆ มันอาจจะเกินไป แต่ว่าจะได้โดย มีแต่การปล่อยวางอย่างเดียวไม่งอมืองอตีนปล่อยวางอย่างนั้น มันก็ไม่สำเร็จมันพอดี ถึงเวลาที่จะฝึกก็ต้องฝึก ถึงเวลาที่จะยอมรับก็ต้องยอมรับ มันไม่อยู่กับกาลอยู่กับเวลา อยู่กับความถูกต้องอีกก็ต้องดูที่ผล ถ้าผลส่งความสงบ มั่นคง ปลอดโปร่งอยู่ น่าจะเข้าสู่ความถูกต้องอยู่ มันเข้าร่องรอยของธรรมะ แล้วเราเอาธรรมะเป็นที่พึ่งเป็นสรณะของเรา หรืออย่าง สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ ก็อย่างที่เราสวด เริ่มต้น สุปฏิปันโน สาวะกะสังโฆ สงฆ์สาวกของพระพุทธองค์คือผู้ปฏิบัติดี
[37:19] ในแง่หนึ่งเราก็พยายามหาผู้ปฏิบัติดีภายนอก เข้าใกล้ผู้ปฏิบัติดี จะเป็นครูบาอาจารย์ก็ดี จะเป็นกัลยาณมิตรฆราวาสเราด้วยกันก็ดี เราก็เข้าใกล้ผู้ปฏิบัติดีมันก็ดีอยู่ แต่ว่าถ้าตัวเองยังปฏิบัติไม่ดีมันก็ลำบากเหมือนกัน เราต้องเป็นผู้ปฏิบัติดี เราต้องเป็นผู้ที่พยายามที่จะรักษา การเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติให้มันตรง อุชุปฏิปันโน ปฏิบัติตรง ญายปฏิปันโน ปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์ ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อพอกพูนความทุกข์แล้วก็ สามีจิปฏิปันโน ปฏิบัติสมควร มันเหมาะสมมันถูกมันต้อง มันกลับมาที่เรา หน้าที่หรือโอกาสของเรา เรามีโอกาสที่จะเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องที่ดีงาม ก็ขอให้เราเป็นผู้พยายามทบทวนดูว่าเราเอาพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง หรือเอาการกระทำที่ดีงามถูกต้องสำหรับเราเอามาใช้ในชีวิตไหม พูดก็พูดแบบนักปราชญ์ หรืออย่างสำนวนจากพระสูตรหอกในปากได้พูดนินทา หรือพูดดูถูกใครมันก็ไม่ได้ช่วยใคร แล้วก็ยิ่งโดยเฉพาะไม่ได้ช่วยตัวเอง เป็นแง่ที่เราพยายามที่จะปรับปรุงตัวเองให้เป็นผู้มีที่พึ่งในสงฆ์จริงๆ ภายในตัวเราได้ทำในสิ่งที่ดีงาม
ในการปฏิบัติ 3-4 วันนี้ ก็ปฏิบัติเพื่อให้มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือจะปฏิบัติต่อไป ถ้าปฏิบัติถูกต้องก็ปฏิบัติเพื่อให้มี พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในจิตใจของเรา หรือแม้แต่อย่างอาตมาเองก็ปฏิบัติบวชมานานในปีนี้เพิ่งครบ 50 พรรษา ก็นับว่านาน แต่ว่าปฏิบัติเพื่ออะไรก็ปฏิบัติเพื่อให้มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งเป็นสรณะจริงๆ ที่เราอ่านหนังสือ เรียนพระสูตร หรือได้เรียนธรรม ศึกษาธรรมะของพระพุทธองค์ที่ได้ปฏิบัติในรูปแบบต่างๆ ก็เพื่อให้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งเป็นสรณะในจิตใจของเราจริงๆ ก็หวังว่าพวกเราทุกคนจะได้เข้ามาร่วมปฏิบัติครั้งนี้แล้วก็ได้เข้าใกล้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สักนิดหนึ่งก็ยังดี ก็ขออนุโมทนาทุกท่าน