แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
[01:03] พระพุทธองค์ท่านเคยตรัสสอนไว้ว่า การแสวงหาที่ประเสริฐที่สุดน่ะ คือแสวงหาความไม่เกิด ความไม่แก่ ความไม่เจ็บ และความไม่ตาย สิ่งเหล่านี้มันมีอยู่แล้วในตัวเรา แสวงหาที่ตัวเรา เราจะเข้าใจถึงชีวิต สิ่งทั้งหลายทั้งปวง เป็นการแสวงหาที่ประเสริฐ คือแสวงหาทางแห่งความพ้นทุกข์นั่นเอง ทุกวันนี้เราใช้ชีวิตแบบแสวงหาสิ่งภายนอกมามากแล้ว ทีนี้เราลองมาแสวงหาตัวเองบ้าง มองภายนอกอย่าลืมมองตัวเอง ทำสิ่งข้างนอกอย่าลืมทำสิ่งภายในที่มีอยู่แล้วในตัวเรา เราจะแสวงหาพระอริยเจ้า ไม่ใช่แสวงหาแต่สิ่งอื่นบุคคลอื่น รับรองอาจจะไม่เจอของจริงนะ พระอริยเจ้านั้นหาได้ที่ตัวเรานะ จะเป็นของจริง เรามีความมั่นอกมั่นใจวันนี้ละ พระอริยเจ้ามีจริง ถ้าไปดูภายนอกอาจจะถูกหลอกก็ได้ ต้องดูที่ตัวเรา ชีวิตของเรา ความรู้สึกของเรา กายจิตของเรา ที่เรายึดมั่นถือมั่นอยู่นี่ล่ะ เป็นของเราๆ นี่ มันมีจริงมั้ย เป็นของเราจริงๆ รึเปล่า เราบังคับบัญชามันได้บ้างมั้ย ตรงไหนบ้าง มีทุกข์หรือมีสุข มันเที่ยงแท้แน่นอนหรือเปลี่ยนแปลง ดูลงไปให้ชัดๆ ให้รู้ชัดในสิ่งเหล่านี้ ที่ตัวเรา เรื่องชีวิตนี่เรื่องที่ใกล้ตัวเรามาก เป็นเรื่องตัวเราก็ว่าได้
ชีวิตนี่มีไว้เพื่อการเรียนรู้ รู้จักชีวิต ให้เข้าใจชีวิต เราจะได้ใช้ชีวิตอย่างถูกต้อง หมดปัญหา ชีวิตไม่ใช่เรื่องของการต่อสู้ แต่เป็นเรื่องของการเรียนรู้ให้เข้าใจ เราจะเรียนรู้ชีวิตได้นั้น ต้องเรียนรู้จากความทุกข์ ทุกข์ของกายทุกข์ของจิตที่เกิดขึ้นที่ตัวเรานี่แหล่ะ เรียนรู้ทุกข์มันก็จะพ้นจากความทุกข์ได้ ความสุขทั้งหลายจะหาได้จากความทุกข์ที่มีอยู่ในตัวเรานี่ เนี่ย..ความสุขที่แท้จริงนั้นจะเกิดขึ้นต่อเมื่อเรารู้จักตัวเรา รู้ทันตัวเรา ก็จะมีความสุขไปเอง พระอริยเจ้าทุกรูปทุกองค์ท่านก็พ้นจากทุกข์ได้ก็เพราะว่ามารู้จักทุกข์ทั้งนั้นล่ะ ในเบื้องต้นของชีวิตของท่านล้วนแต่มีความทุกข์บีบคั้น ท่านจึงออกแสวงหาทางดับทุกข์ นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าเป็นต้น จนกระทั่งถึงอริยสาวกในรุ่นหลังๆ นะ ก็เดินทางสายนี้ทั้งนั้นแหล่ะ ทำให้เข้าใจเรื่องความทุกข์ เหตุของความทุกข์ และความพ้นทุกข์และวิธีการปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ ก็เรียนรู้ได้จากตัวเรา เป็นเรื่องของเราแท้ๆ อย่างเช่นความทุกข์ที่เกิดขึ้นในตัวเรา ความป่วยไข้ อันนี้สำคัญมาก ความป่วยไข้ซึ่งทุกๆ ท่านนี่ย่อมมีอยู่ เรื่องธรรมดา นี่ล่ะ..เป็นสิ่งที่เราเรียนรู้ได้ง่ายๆ เลย ความป่วยไข้นี่ที่จริงแล้วมันเป็นอยู่กับเรานานๆ ก็ดีนะ ลองมองในแง่ดี ความป่วยไข้มันทำให้เราฉลาด ยิ่งป่วยนานๆ นี่เรายิ่งเรียนรู้ได้นานๆ รู้อย่างลึกซึ้งอย่างละเอียดด้วย
บางคนบอกว่า เออ..เค้าเพิ่งรู้จักตัวเองเมื่อตอนเค้าป่วยไข้นี่เอง รู้จักตัวเองเมื่อตอนไปไหนไม่ได้นี่ เข้าใจชีวิต เห็นสัจธรรมของชีวิตเลย ยิ้มแย้มแจ่มใสเมื่อยามป่วยไข้ เพราะว่าเริ่มรู้จักและเข้าใจตัวเอง ลึกซึ้งยิ่งขึ้น อันนี้ดีนะ ทำให้เราฉลาด แล้วก็ทำให้เรารู้ว่าไอ้ความเจ็บป่วยนี่มาจากอะไร สาเหตุมาจากอะไร เราจะใช้ชีวิตไม่ถูกต้องมั้ย การกิน การนอน การออกกำลังกาย อาจจะไม่ถูกต้อง บางทีมีการเจ็บป่วยทางร่างกายเกิดขึ้น หรืออาจเกิดจากการควบคุมอารมณ์ เรื่องของจิตใจอาจจะเป็นสาเหตุ ตื่นนอนมาก็ทุกข์ก็เครียด ขณะทานอาหารก็ทุกข์ก็เครียด การทำงานมีเรื่องความทุกข์ความเครียด ไม่มีความเพลิดเพลิน แม้กระทั่งเวลาเราหลับก่อนจะหลับยังทุกข์ยังเครียด โอ..อย่างนี้ล่ะก็หนีไม่พ้นเรื่องความป่วยไข้แน่นอน เราเริ่มมองเห็นสาเหตุ อาจจะใช้ชีวิตไม่ถูกต้อง รู้สาเหตุของความป่วยไข้ เราควรจะฝึกนะ ฝึกใช้ชีวิตอยู่กับความป่วยไข้ของทางด้านร่างกาย โดยที่ใจไม่เป็นทุกข์ นี่มันน่าฝึกนะตรงนี้ เพราะแบบฝึกมีอยู่แล้ว ห้องฝึกห้องเรียนมีอยู่แล้ว คือกายของเรานี่ เราลองมีสติอยู่กับร่างกายที่มันป่วยไข้ โดยที่ใจไม่ต้องเป็นทุกข์น่ะ น่าลอง เราเจ็บป่วยเท่านี้เราทนได้มั้ย ถ้ามากกว่านี้จะทำอย่างไรนะ เราฝึกได้จากการป่วยไข้เล็กๆ น้อยๆ เจ็บเล็กๆ น้อยๆ ผมว่ามันเป็นโอกาสดีนะ โอกาสที่จะทำให้เราเกิดปัญญา อย่างน้อยเราจะได้รู้จักว่า นี่ล่ะโอกาสของเราแล้ว เป็นเวลาที่เราได้ดูแลรักษากายของเราอย่างเต็มที่ เป็นเรื่องดีๆ ทั้งนั้นเลย .. กายคตา ..
[06:42] เมื่อเกิดการเจ็บไข้ได้ป่วยแล้ว เราต้องรู้จักอดทน เราอดทนนี่เท่ากับว่าเราได้ปฏิบัติธรรมแล้ว อดทนต่อทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นทางด้านร่างกาย ฝึกความอดทน ความอดทนความอดกลั้น เป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง เป็นตัวปฏิบัติธรรมแท้ๆ เลยความอดทน แล้วก็ต้องรู้จักทนได้ ผมได้เคยพูดไว้แล้วว่า เราจะอดทนต่อทุกขเวทนาอย่างไรบ้าง แนะนำวิธีไปแล้วหลายครั้ง เรื่องของการวางจิตวางใจอย่างไร เวลากายมีความทุกข์ เคยพูดไปแล้ว อาจจะใช้วิธีการบริกรรมก็ได้ หรือสวดมนต์ ร้องเพลง ทำจิตทำใจให้มันสดชื่น วิธีการสมถะหมายถึงทำสมาธิเพื่อกดข่มทุกขเวทนา ก็เคยแนะนำไปครั้งหนึ่ง..จำได้ จำได้มั้ย แต่ว่าวันนี้นี่ก็จะแนะนำวิธีการเจริญสติท่ามกลางทุกขเวทนาทางด้านร่างกายและก็จิตใจ อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดการเจ็บไข้ได้ป่วยแล้ว สิ่งที่เราต้องอดทนแล้ว เราต้องมีการรักษา การเจ็บป่วยทางกายนี่ก็ต้องเรื่องไปหาหมอ ไปหาหมอนี่ธรรมดานะ ไปหาหมอให้ท่านได้ช่วยเรา คุณหมอ ยา และเครื่องมือรักษานั้นก็ช่วยได้เฉพาะร่างกายเท่านั้นแหล่ะ ให้เค้าทำหน้าที่ช่วยกายไป อาศัยบุคคลอื่น อาศัยเครื่องมือ แต่ทางด้านจิตใจนั้น เราต้องทำจิตใจให้สบาย ในเรื่องของผลการรักษาด้วย ต้องวางจิตวางใจให้สบายๆ เรื่องผลการรักษาที่จะเกิดขึ้น
[08:41] หลวงพ่อชาท่านก็ได้บอกไว้ว่า เมื่อร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วยเราต้องวางใจว่า หายก็เอา ไม่หายก็เอา คือทำใจให้เป็นปกติน่ะ หายก็ไม่เป็นไร ไม่หายก็ไม่เป็นไร หายก็ได้ ไม่หายก็ได้ ใจจะเป็นปกติ เนี่ย..เป็นการวางจิตวางใจแบบง่ายๆ เป็นปัญญาด้วยซ้ำไป เราก็วางใจไว้ว่ายอมรับความจริงซะบ้าง รู้จักยอมรับความจริง แล้วก็รักษาไป เมื่อรักษาไม่หาย หรือโรคภัยไข้เจ็บมันหายช้าลงไป เราต้องยอมรับนะ ยอมรับในสิ่งที่มันเกิดขึ้น ยอมรับความจริง ยอมให้มันเป็นไปซะบ้าง แม้ว่าเราจะรักษาไม่หายแล้ว หมายถึงว่ารักษาทุกวิถีทางมันไม่หาย เราจะต้องตาย เราต้องยอมให้มันเป็นไป และต้องยอมตาย การรู้จักยอม ยอม ยอม ในด้านจิตใจ ใจมันจะสงบ จะเป็นปกติ ไม่หงุดหงิดไม่งุ่นง่าน ไม่เสียศูนย์เลยว่าอย่างนั้นเถอะ รู้จักยอม ยอมด้วยสติ อย่างรู้ตัว แล้วมันจะเบาจะผ่อนคลาย ถ้ามีการปล่อยวางนะ เชื่อว่าที่สุดของทุกข์มันก็จะหายไป แต่อย่างไรก็ตามเราต้องมีการเจริญสติ การเจริญสติท่ามกลางความเจ็บไข้ทางกายและก็ทางจิตด้วยนะ จะได้มีความรู้สึกตัว อาจจะใช้รูปแบบ ใช้รูปแบบของการเคลื่อนไหวของกาย ผู้ที่เคลื่อนไหวได้นะ มีการฝึก อาจจะพลิกมือเล่น เรารู้กายไปก่อน พลิกมือหงายให้รู้สึกตัว พลิกมือคว่ำให้รู้สึกตัว หรือหายใจเข้าให้รู้สึก หายใจออกให้รู้สึก กระพริบตา กระดิกนิ้ว เรามามีสติเจตนารู้ลงไปที่กาย รู้กายเคลื่อนไหวเบาๆ รู้แบบสบายๆ แบบผ่อนคลาย
จิตแทนที่จะไปจับอยู่กับเวทนา แทนที่จะไปฟุ้งซ่านปรุงแต่งไปกับความคิดต่างๆ แต่กลับมาตั้งรู้อยู่ที่การเคลื่อนไหวของกายอย่างรู้เนื้อรู้ตัว..ใช่มั้ย จิตมันจะเริ่มวางจากทุกขเวทนาได้บ้างแล้ว มารู้กาย รู้เท่าทันกาย แต่บางทีเรามาเจตนารู้กายเกินไป หรือมามุ่งที่กายนี่ บางทีอาจจะไม่พ้นจากทุกขเวทนาก็ว่าได้นะ เพราะมันใกล้มาก ทุกขเวทนากับกายมันติดกันมาก เราอาจจะปล่อยจิตปล่อยใจไปจมแช่กับความทุกข์ทางกายก็ได้ ต้องระวังให้ดีนะส่วนนี้ อย่าไปเพ่ง อย่าเข้าไปอยู่ ให้รู้เฉยๆ เราอาจจะเห็นทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นชัดเจน จะรู้ว่า อ๋อ..นี่กายก็ส่วนหนึ่ง ทุกข์ทางกายก็ส่วนหนึ่งนะ เราจะเริ่มเข้าใจทุกข์ทางกายมากขึ้น ทุกข์กายไม่ใช่เรื่องของกาย เราเริ่มรู้ทันในทุกขเวทนาทางกายแล้ว ที่มันแทรกเข้ามาในกาย อ๋อ..นี่คนละส่วนกันนะ ความเจ็บความปวดนี่ก็เริ่มรู้เท่าทันความเจ็บความปวด จะเริ่มแยกได้นะ อันนี้คือกาย อันนี้คือเวทนา บางทีมันเกิดความคิด คนเรานี่เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยนี่ไม่ป่วยเฉพาะร่างกายนะ จิตใจก็พลอยป่วยไปด้วย ป่วยเพราะคิดปรุงแต่ง
หลวงพ่อเทียนบอกว่า ทุกข์กายทุกข์จิตทุกข์ของรูปทุกข์ของนามนี่ ทุกข์ของจิตนี่คือความคิดปรุงแต่ง เป็นทุกข์ของนาม เราต้องมีสติรู้ให้ทันในการปรุงแต่ง โอ๊ย..มันปรุงคิดมาแล้วนี่ มันช่วยเติมให้ทุกขเวทนานี่รุนแรงมากยิ่งขึ้น เพราะความคิดนี่เอง โอ..เจ้าความคิดวิตกกังวล กลัว กลัวมันจะเจ็บมากกว่านี่ กลัวมันจะไม่หาย จนกระทั่งกลัวตายเลย ผลสุดท้ายไปกลัวตาย..ใช่มั้ย นี่มันเกิดจากความคิดทั้งนั้นแหล่ะ เป็นนามทุกข์ ไม่ใช่รูปทุกข์ มันคือนามทุกข์ คือทุกข์ทางจิต ทุกข์เพราะอาการของจิตใจ มีสติรู้ทันในความกลัว ในความคิด ความวิตกกังวล ความสับสนวุ่นวายในจิตใจ ความท้อแท้เบื่อหน่าย อันนี้เป็นเรื่องของจิตใจทั้งนั้นแหล่ะ เป็นอาการของจิตทั้งนั้น สตินี่เราก็วางจากกาย วางจากทุกขเวทนา มารู้ที่ความคิด รู้ที่จิตที่ใจ ถ้าจิตใจเรานี่เรามีสติคอยระวังรักษา ไม่ปรุงแต่ง ไม่ต่อเติมความคิดให้มากมายนะ ทุกขเวทนาทางกายจะอยู่ในระดับที่เราทนได้นะ ที่เราทนไม่ได้เพราะว่า..โอ..ไอ้ความคิดมันมาปรุงแต่ง ทุกข์ทั้งกายทุกข์ทั้งจิตเลย มันจึงอยู่ในภาวะที่ทนไม่ได้ แต่ถ้าเรารู้ทันการปรุงแต่งซะบ้าง ทุกข์ทางกายจะอยู่ในระดับที่เราทนได้ แล้วก็ใช้สติ เจริญสติรู้กายรู้จิตไปเรื่อยๆ จะเกิดความทุกข์ทรมานอย่างไรก็ตามนี่ ให้เรารู้ทัน ให้เรารู้ทันไปเรื่อยๆ รู้แบบเป็นผู้ดูนะ รู้แบบแยกๆ แบบดูๆ ทุกข์ส่วนหนึ่ง รู้ส่วนหนึ่งนี่ ให้แยกๆ อย่างนี้แหล่ะ
เหมือนอย่างเราดูผู้อื่น ดูผู้เค้าป่วยเค้าไข้ ดูผู้อื่นเค้าทุกข์ แต่ไม่ใช่เราเป็นผู้ทุกข์ซะเองนะ เป็นเพียงแค่ผู้ดูผู้รู้เท่านั้น อาการเหล่านี้เราจะเริ่มเข้าใจเมื่อเราอยู่ในภาวะผู้ดู ภาวะผู้ดูจะเกิดขึ้นได้นั้นต่อเมื่อเราเจริญสติในรูปแบบมากๆ ขยันเจริญสติในรูปแบบมากๆ เราอาจจะเห็นชัดเจน เห็นกายจิต เห็นจิตชัดเจนกว่านี้ อาจจะเห็นว่ากายนี่มันก็คือผู้ป่วยนี่เอง กายคือผู้ป่วย..ใช่มั้ย จิตคือผู้ดูแลผู้ป่วย เป็นญาติคอยดูแลผู้ป่วย ให้เค้าดื่มน้ำ ให้เค้าทานยา เช็ดเนื้อเช็ดตัวให้เค้า จิตทำหน้าที่ผู้ดูแล สติปัญญานี่จะทำหน้าที่นายแพทย์ใหญ่ คอยให้คำแนะนำ คอยตัดสินใจ คอยให้กำลังใจ คอยชี้ขาดว่างั้น คอยสอนจิตสอนใจให้ดูแลกายให้ดีนะ สอนผู้ดูแลให้ดูแลผู้ป่วยให้ดีนะ กายเป็นเสมือนผู้ป่วย จิตใจเป็นเสมือนผู้ดูแล สติปัญญาเป็นเสมือนนายแพทย์ใหญ่ อาการเหล่านี้จะเป็นสภาวธรรม มันจะไม่ใช่ตัวเรานะ จะไม่มีใครป่วย จะไม่มีใครดูแล หรือไม่มีใครเป็นนายแพทย์ เป็นเพียงกระบวนการของธรรมชาติที่เค้าทำหน้าที่ของเค้าอย่างนั้น..ใช่มั้ย เนี่ย..เมื่อเราเจริญสติมากๆ จะเกิดปัญญานะ จะรู้จักธรรมชาติของความเป็นจริง รู้เท่ารู้ทัน นี่แหล่ะคือการศึกษาชีวิต ศึกษาตัวเอง ศึกษาความทุกข์ เรียนรู้ชีวิตได้จากความทุกข์ ก็จะรู้เท่าทันและก็จะหลุดพ้นจากความทุกข์ไปในที่สุด